สศช.แถลงภาวะสังคมปี 2560 การจ้างงานลดลง เป็นผลจากส่งออกขยายตัวช้าในครึ่งปีแรก และการพลิกผันของเทคโนโลยีใหม่ เตือนให้เฝ้าระวังปี 2561 ตลาดแรงงานบางอาชีพเสี่ยงถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง “สมคิด” เผยเมืองไทยไม่ต้องห่วงเพราะแรงงานส่วนใหญ่ อยู่ในภาคท่องเที่ยว และเกษตร
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และภาพรวมปี 2560 ว่า ช่วงเวลาดังกล่าวภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น ส่งผลให้ภาวะสังคมดีขึ้น แต่ในไตรมาส 4/ 2560 และตลอดปีที่ผ่านมา การจ้างงานลดลงจากปี 2559 ที่ 0.6% เป็นการลดลงของการจ้างงานนอกภาคเกษตร 1% เนื่องจากภาพรวมการส่งออกที่ขยายตัวช้าในครึ่งแรกของปี และแม้ว่าช่วงครึ่งหลังของปี การส่งออกปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ส่งผลต่อการขยายการจ้างงาน ในสาขาการผลิตมากนัก ประกอบกับการปรับเปลี่ยนใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ใช้กำลังแรงงานลดลง และมีคนที่ปรับจากงานเก่ามางานใหม่ รวมทั้งหันไปทำงานอิสระมากขึ้น เช่น การรับจ้างส่งของแบบชั่วคราว ทำให้คนเหล่านี้ไม่อยู่ในระบบ ส่งผลตัวเลขจ้างงานลดลงเล็กน้อย ส่วนจำนวนผู้ว่างงานมี 450,000 คน เท่ากับ 1.2% ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1% ในปี 2559 แต่เชื่อว่าปีนี้การว่างงานจะลดลง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น
“ปีนี้จะมีการเก็บและสำรวจข้อมูลของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีมากขึ้น คนเริ่มไม่ทำงานประจำ และอยู่นอกระบบมากขึ้น ตามแนวคิดสังคมแบบ Sharing economy และ Gig economy เช่นในสหรัฐฯ มีการสำรวจพบว่า คนไปทำงานนอกระบบมากขึ้นถึง 40% ส่วนไทยยังไม่มีการจัดเก็บตัวเลข”
ขณะที่เรื่องหนี้สินครัวเรือนก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อ เพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3/2560 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่าเท่ากับ 11.76 ล้านล้านบาท คิดเป็น 78.3 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) และไตรมาส 4/2560 หนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ความสามารถในการชำระหนี้ดีขึ้น พิจารณาจากสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมที่ลดลง และการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับและสินเชื่อบัตรเครดิตที่ลดลง
“ประเด็นเฝ้าระวังและดำเนินการในปีนี้ คือต้องติดตามและเฝ้าระวังผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการจ้างงานที่แนวโน้มตลาดแรงงาน ที่มีการปรับตัวใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ทดแทนในกระบวนการผลิตมากขึ้น หรืองานบริการที่มีกระบวนการทำงานซ้ำ เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงต่อการถูกทดแทน ขณะที่มีรูปแบบการทำงานใหม่และหลากหลายอาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะการทำอาชีพอิสระ การรับจ้างผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น อูเบอร์ ไลน์แมน จำเป็นต้องส่งเสริมให้มีการอบรมพัฒนาฝีมือทักษะแรงงาน และส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ฯลฯ”
ขณะเดียวกัน กลุ่มแรงงานทักษะสูงจะเป็นที่ต้องการและมีบทบาทในโลกแห่งเทคโนโลยีในอนาคตมากขึ้น รวมทั้งควรมีการพัฒนาและจัดเก็บข้อมูลอาชีพที่หลากหลายมากขึ้น ตลอดจนมีกฎระเบียบที่รองรับงานลักษณะใหม่เพื่อให้ผู้ประกอบการ และลูกจ้างได้รับการคุ้มครอง
นอกจากนี้ จะต้องหาทางคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกัน การหลอกลวงหรือข้อพิพาทจากการซื้อสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ เช่น การซื้อขายออนไลน์ การซื้อขายผ่าน QR code และการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนสร้างสกุลเงินดิจิทัล รวมทั้งการเฝ้าระวังการทำผิดกฎหมายผ่านทางเทคโนโลยี ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขวาง เช่น การพนันออนไลน์ สื่อลามก ยาเสพติด รวมทั้งต้องติดตามผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 308-330 บาท หรือเฉลี่ย 315 บาททั่วประเทศ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.นี้
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่เป็นห่วงปัญหาแรงงานของไทยมากนัก เพราะประเทศไทยไม่ใช่ประเทศอุตสาหกรรม มีแรงงานอยู่ในภาคท่องเที่ยวและบริการ 60% ขณะที่ภาคการเกษตรของไทยก็มีขนาดใหญ่มาก.