"อภิสิทธิ์" ชี้ "นิพิฏฐ์" นัด ส.ส.ใต้เช็กชื่อ เป็นกระบวนการทำงาน ยันจุดยืน ปชป.ตรงข้ามระบบทักษิณ ถามจี้ใจ พท.ก้าวข้าม "แม้ว" ได้หรือไม่ รับ กปปส.แบ่งฐานเสียงพรรคเรื่องปกติ เชื่อไร้ปัญหากฎหมายเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 9 มี.ค.61 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคดูพื้นที่ภาคใต้ นัดอดีต ส.ส.สายใต้ ให้ยืนยันการเป็นสมาชิกพรรคในเบื้องต้นว่า เป็นกระบวนการทำงานของรองหัวหน้าพรรค ซึ่งเป็นการประสานงานเพื่อให้เกิดความพร้อม เพราะที่ผ่านมายังไม่มีใครแสดงความจำนงที่จะออกจากพรรค นอกจาก นายธานี เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี ที่แสดงความจำนงจะไปจดแจ้งทะเบียนพรรคใหม่ ทั้งนี้ยืนยันจุดยืนของพรรคว่า อยู่ตรงข้ามกับระบอบทักษิณ ดังนั้นการจะไปร่วมงานกับพรรคการเมืองใดจะต้องเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์ตรงกัน และเพื่อประโยชน์ของประเทศเท่านั้น ซึ่งจุดยืนนี้ตรงกันกับแนวทางของ กปปส.แต่ที่แตกต่างคือ การสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เป็นนายกฯ เพราะพรรคมีระบบจุดยืนและอุดมการณ์ในการสนับสนุนบุคลากรและนโยบายของพรรค
"เป็นสิทธิของแต่ละพรรคการเมืองที่จะสนับสนุนใคร แต่ก็ต้องดูท่าทีว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอชื่อตนเองหรือไม่ และถ้ายินยอม จะยินยอมกับพรรคไหน แต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์เป็นไปตามระบบของพรรคเรา พรรคลงสมัครรับเลือกตั้งก็สนับสนุนนโยบายและคนของพรรค โดยพรรคประชาธิปัตย์ยืนยันเป็นพรรคแรกว่าหลังการเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คน ควรเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง อันนี้สำคัญที่สุด โดยต้องดูในระหว่างการเลือกตั้งด้วยว่า ใครหาเสียงไว้อย่างไร และได้รับคะแนนเสียงมาอย่างไร และต้องเลือกตามรัฐธรรมนูญ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
...
เมื่อถามว่า หลังเลือกตั้งจะมีโอกาสในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนพูดมาตลอดว่าพรรคเพื่อไทยสามารถก้าวพ้นจากระบอบทักษิณได้หรือไม่ แต่ยืนยันว่าไม่มีทางที่พวกตนจะไปร่วมมือ และทำให้เกิดปัญหาแบบระบอบทักษิณขึ้นมาอีก เพราะต่อสู้กันมา 20 ปี และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาในประเทศ ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่พรรคจะทำในสิ่งที่สวนทางกับสิ่งที่ต่อสู้กันมาตลอด และกล้าพูดได้ว่าพวกตนต่อสู้กับระบอบนี้มายาวนานที่สุดด้วย
ส่วนกรณีที่ นายธานี จะไปตั้งพรรค กปปส.ซึ่งอาจกระทบฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อมีพรรคการเมืองเกิดขึ้นใหม่ ย่อมกระทบกับฐานเสียงของพรรคการเมืองเดิม ซึ่งพรรคจะต้องทำงานหนักขึ้น โดยขณะนี้พรรคเน้นแข่งขันกับตัวเองว่าจะทำอย่างไรให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้ เพราะต้องยอมรับว่า ประชาชนที่อยากเห็นประเทศกลับไปสู่การเลือกตั้งและเป็นประชาธิปไตย ยังกังวลว่าประเทศจะกลับไปสู่ความขัดแย้งและวังวนเดิมหรือไม่ ดังนั้นพรรคจะต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
สำหรับกรณีที่นักกฎหมายเป็นห่วงว่า กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และกฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.อาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า องค์กรที่เกี่ยวข้องรวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญต้องดูอยู่แล้ว ซึ่งโดยระบบไม่น่าจะมีปัญหา และหากมีประเด็นที่ต้องตีความ ก็คงใช้เวลาไม่นาน และไม่น่าจะกระทบกับกำหนดการเลือกตั้ง ส.ส.