"อภิสิทธิ์" ชี้ "สุเทพ" ตั้งพรรคเป็นทางเลือก ปชช. ย้ำเป็นสิทธิทางการเมือง เผยเป็นเรื่องปกติ ปชป.ถูกแบ่งฐานเสียง อุบร่วมงาน "เทือก" หลังเลือกตั้ง ลั่นยึดอุดมการณ์-นโยบาย ปชป.เป็นหลัก
เมื่อวันที่ 1 มี.ค.61 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการตั้งพรรคใหม่ของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) ว่า พรรคประชาธิปัตย์ถือว่าการมีพรรคการเมืองใหม่ขึ้นมา เป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน เป็นปกติธรรมดา และตนไม่คิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.จะมาสมัครเป็นสมาชิก หรือจะมาเป็นผู้บริหารของพรรค
ฉะนั้นเมื่อนายสุเทพมองว่าไม่มีพรรคการเมืองที่จะมารองรับแนวทางการสนับสนุนนี้ นายสุเทพ ก็สามารถที่จะไปตั้งพรรค เพื่อที่จะผลักดันเป้าหมายตรงนี้ได้ อย่างไรก็ตามจุดร่วมของพรรคและนายสุเทพยังเหมือนเดิม ในการต่อต้านการคอร์รัปชัน ต่อต้านระบอบเผด็จการที่แฝงตัวเข้ามาในประชาธิปไตย และต้องการเห็นการปฏิรูป แต่พรรคฯ เห็นว่าที่ผ่านมาแนวคิดแนวทางของรัฐบาลปัจจุบันในการปฏิรูป ไม่ค่อยสอดคล้องกับการปฏิรูป ดังนั้นแม้จะพูดว่ามีการสนับสนุนการปฏิรูปเหมือนกัน แต่แนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปอาจจะมีความแตกต่างกัน แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดา ทุกพรรคก็มีจุดที่เหมือนกันและต่างกัน
"เป็นสิทธิทางการเมืองของ นายสุเทพ ที่จะทำเช่นนี้ ท่านก็ต้องไปหาผู้คนที่จะมาเดินทำพรรคการเมืองตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งก็คงจะมีความชัดเจนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ก็สามารถที่จะเตรียมการระดมคนเพื่อที่จะเป็นผู้ก่อตั้งพรรค ส่วนกลัวหรือไม่ว่าฐานเสียงจะต้องถูกแบ่งออกไปนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดา พรรคการเมืองใหม่เขาก็ต้องมาแสวงหาการสนับสนุนสมาชิกพรรค หรือว่าผู้สนับสนุนพรรค และผู้ที่เคยลงคะแนนให้พรรค เขาก็ต้องมีการทบทวนการตัดสินใจอยู่เป็นระยะๆ อยู่แล้ว ก็เป็นเรื่องปกติประชาธิปัตย์ก็เผชิญกับภาวะอย่างนี้มาหลายครั้ง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
...
เมื่อถามว่า หลังเลือกตั้งแล้วจะกลับมาร่วมงานกันได้อีกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คำตอบยังเหมือนเดิม คือ ประชาธิปัตย์ต้องยึดอุดมการณ์ และนโยบายของพรรค ที่ไปเสนอต่อประชาชนเป็นตัวตั้ง ถ้าเราได้รับการสนับสนุนมาจากประชาชน เราก็ต้องเอาแนวทางของเราเป็นตัวตั้ง ใครจะมาทำงานกับเราก็ต้องสนับสนุนแนวทางเรา ถ้าไม่มาสนับสนุนเราตั้งรัฐบาลไม่ได้ แต่ถ้าหากเราไม่ได้รับการสนับสนุนมาก คนอื่นเขาได้รับการสนับสนุนมากกว่า อย่างนี้เราก็ต้องเจียมตัว พรรคก็ต้องเจียมตัว ส่วนหากนายสุเทพชนะแล้วหนุนคนนอกเป็นนายกฯ นั้น พรรคฯ ก็ต้องมาประชุมกันว่าตกลงเราคิดว่าจะทำอย่างไร จะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี จะไปร่วมรัฐบาลหรือไม่ จะเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ ก็ต้องมาว่ากัน.