หัวหน้าคณะพูดคุยฯ เน้นย้ำรัฐบาลแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธี ผ่านทางกระบวนการพูดคุย โดยใช้ยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เป็นกรอบในการปฏิบัติ

เมื่อวันที่ 19 ก.พ.61 พล.อ.อักษรา เกิดผล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาภายในของประเทศไทย เพราะเราไม่ต้องการให้มีการแทรกแซงจากภายนอกประเทศ เพื่อตัดการสนับสนุนทั้งปวงต่อผู้ก่อเหตุรุนแรง และป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างออกไปเป็นสงครามตัวแทน แบบที่ตะวันออกกลางต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน

"รัฐบาลไทยจึงมียุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน คือ ยุทธศาสตร์พระราชทาน "เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" ที่เป็นแนวทางสันติวิธีผ่านกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ ทำให้การแก้ปัญหาของไทยได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น UN, OIC และองค์การสิทธิมนุษยชนสากลมาอย่างต่อเนื่อง ปัญหา จชต.มีความซับซ้อนเชื่อมโยงหลายมิติ" พล.อ.อักษรากล่าว

หัวหน้าคณะพูดคุยฯ กล่าวด้วยว่า ดังนั้นจึงได้แบ่งกลุ่มงานในการแก้ปัญหาออกเป็น 7 กลุ่มงาน และกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบระดับกระทรวง โดยให้ความสำคัญอันดับแรก ต่อกลุ่มงานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ที่มีกระทรวงกลาโหมเป็นเจ้าภาพ และมี กอ.รมน.เป็นหน่วยปฏิบัติหลัก จากสถานการณ์ความรุนแรงที่ยังเกิดขึ้นในพื้นที่แสดงว่า กลุ่มงานรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งมีทั้งกำลังพล ยุทโธปกรณ์ อำนาจตามกฎหมาย และมีงบประมาณยังทำได้ไม่สมบูรณ์ดีพอ ทั้งการควบคุมพื้นที่ การควบคุมทรัพยากร และการควบคุมประชาชนจึงสมควรปรับปรุงทั้งมาตรการเชิงรับ และมาตรการเชิงรุก เพื่อจำกัดเสรีและลดขีดความสามารถของกลุ่มผู้ก่อเหตุ ด้วยการปฏิบัติการทางทหาร และการบังคับใช้กฎหมาย ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานด้านมวลชนเเพื่อตัดการสนับสนุนทั้งปวงของผู้ก่อเหตุทั้งในและนอกพื้นที่

...

ในส่วนของกระบวนการพูดคุยฯ เป็นเพียงกลุ่มงานที่แสวงหาทางจากความขัดแย้งในแนวทางสันติวิธีด้วยการพูดคุยกับขบวนการผู้เห็นต่างฯ ทุกกลุ่ม ทุกพวก ทุกฝ่าย ให้ลดทอนความตั้งใจในการใช้ความรุนแรง และหันกลับมาร่วมมือสร้างพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้เกิดความสงบสุขปลอดภัยต่อประชาชนเป็นสำคัญ การพูดคุยฯ แม้ต้องใช้เวลาหลายปี แต่ก็จะเป็นหนทางให้ประเทศชาติสามารถออกจากความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืนในที่สุด อย่างไรก็ดียังมีผู้ที่ติดยึดทฤษฎี และมีแนวคิดแบบเดิมๆ พยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่โดยกล่าวอ้างว่ามาจากผลการพูดคุยฯ จนตกเป็นแนวร่วมมุมกลับ เผลอไปสร้างความชอบธรรมและเป็นกระบอกเสียงให้กับกลุ่มผู้ก่อเหตุที่ใช้ความรุนแรง อ้างว่าเป็นตัวจริงยืนเงื่อนไขต่อรองรัฐบาล

ในปี 2561 คณะพูดคุยฯ สามารถบรรลุหลักการสำคัญร่วมกับผู้เห็นต่างฯ ในการจัดตั้งศูนย์ประสานงาน Safe House และคณะกรรมการบริหารพื้นที่ปลอดภัยที่มีทุกภาคส่วนเข้ามาร่วม กำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อกันไม่ให้เกิดเหตุความรุนแรง และเกิดความปลอดภัยต่อประชาชนทุกศาสนาและทุกกลุ่มอาชีพในพื้นที่ดังกล่าวอย่างแท้จริง เพราะคำตอบทั้งหมดของการแก้ปัญหา จชต.อยู่ที่ประชาชนในพื้นที่เป็นสำคัญ.