จากปัญหาการลักลอบนำสารฟอร์มาลิน ที่ใช้ฆ่าเชื้อโรค ทำความสะอาดห้องผู้ป่วยในโรงพยาบาล ใช้ดองศพไม่ให้เน่าเปื่อย และใช้เป็นน้ำยาอาบผ้าไม่ให้ย่น มาแช่อาหารทะเลและผสมน้ำสเปรย์ผักให้คงความสด เพื่อจะได้วางขายได้นาน ประกอบวิธีการตรวจสอบการปนเปื้อนของสารฟอร์มาลินในอาหารเหล่านี้ ใช้เวลานาน มีขั้นตอนยุ่งยาก สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จึงสนับสนุนทุนวิจัยกับ ผศ.ดร.ชัชวาล วงศ์ชูสุข ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาค้นหาวิธีการตรวจแบบใหม่ที่ได้ผลเร็วกว่าเดิม
ในที่สุดได้ผลงานมาเป็นปืนตรวจวัดฟอร์มาลิน เพียงใช้อุปกรณ์ลักษณะคล้ายปืนยิงแสงไปที่อาหารที่ต้อง การตรวจ จะรู้ผลทันทีภายใน 12 วินาทีว่า อาหารนั้นปนเปื้อนฟอร์มาลินแค่ไหน
ผศ.ดร.ชัชวาล เผยว่า การตรวจหาสารฟอร์มาลินรูปแบบใหม่จะแตกต่างจากวิธีการตรวจแบบเดิม ที่ต้องเก็บตัวอย่างไปทำละลาย และรอนาน 3-5 นาที กว่าจะรู้ผล
...
ส่วนอุปกรณ์ตรวจวัดฟอร์มาลินแบบใหม่นี้ การออกแบบเน้นใช้งานง่าย สะดวกต่อการพกพา ใช้หลักการดมกลิ่นจากไอระเหยของโมเลกุล ซึ่งมีก๊าซเซ็นเซอร์ดมกลิ่นสารฟอร์มาลิน การทำงานตรวจวัดจะต้องห่างจากตัวอย่างอาหารไม่เกิน 15 ซม. เมื่อกดปุ่มยิงจะมีลำแสงเลเซอร์สีแดงปรากฏขึ้นบนวัตถุที่ต้องการตรวจสอบ เพื่อบอกให้รู้ว่ารัศมีการทำงานของอุปกรณ์อยู่ ณ จุดใด หากค่าที่วัดออกมาเป็น 0 แสดงว่าปลอดสารฟอร์มาลิน แต่ถ้าค่าตัวเลขแสดงผล 0.5-1 แสดงว่าอาหารดังกล่าวมีสารฟอร์มาลินปนเปื้อน ซึ่งจะใช้เวลาแค่เพียง 12 วินาที จะรู้ผลทันที
อุปกรณ์ตรวจฟอร์มาลินใช้เงินลงทุนสร้างประมาณ 5,000-8,000 บาท ใช้แหล่งพลังงานถ่านขนาด AA จำนวน 6 ก้อน สามารถตรวจตัวอย่างไม่ต่ำกว่า 1,000 ชิ้น มีอายุการใช้งานนาน 10 ปี...โดยอุปกรณ์ตรวจวัดฟอร์มาลินแบบใหม่ จะถูกนำมาแสดงในงานวันนักประดิษฐ์ 2018 ระหว่าง 2-6 ก.พ.นี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา หรือติดต่อได้ที่โทร.0-2562-5555 ต่อ 3008.