ด้วยแนวคิด “ละมุดสีดา” หรือ “ละมุดไทย” ที่ไม่ค่อยมีผู้พบเห็นในป่าดิบชื้นมากเหมือนเมื่อก่อน...!

จึงกำลังมีผู้สนใจศึกษาและอนุรักษ์พืชพันธุ์ไม้หายากชนิดนี้ให้คงอยู่ 1 ในนั้น คือ นายมานพ อมรอรช อายุ 45 ปี เจ้าของสวนผลไม้ ต.วันยาว อ.ขลุง จ.จันทบุรี อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้

ปัจจุบันนอกจากปลูกผลไม้หลายสายพันธุ์ไว้ภายในสวน ยังนำ ละมุดสีดา มาปลูกไว้หลายต้น ตั้งใจสืบทอดเจตนารมณ์ของบิดาที่ชื่นชอบการปลูกไม้ป่าเมืองไทยพันธุ์หายาก

นายมานพ บอกว่า ลักษณะทั่วไปของละมุดพันธุ์นี้เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ พบเห็นมากทางภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ.จันทบุรี ส่วนภาคอื่นๆพบประปราย

จากสถานะโดดเด่นเป็นพันธุ์ไม้ไทยแท้ ผลมีสีสันแดงอมส้ม สดใสงดงาม เมื่อนำไปปอกรับประทานกลิ่นเนื้อของผลไม่ได้ต่างไปจากละมุดฝรั่งที่นิยมกัน เช่น ละมุดไข่ ละมุดหนัง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เหมือนเป็นรสชาติที่ไม่หวานจัด

ที่สำคัญยังมีสรรพคุณทางสมุนไพร เช่น เปลือก แก้ท้องเสีย แก้โรคผิวหนัง ในขณะที่ตามตำรับยาโบราณรับประทานผลสุกเพียงหนึ่งหรือสองผล สามารถช่วยให้คนที่หายป่วยหรือเพิ่งฟื้นไข้ รู้สึกมีจิตใจชุ่มชื่นหายอ่อนเพลีย

จึงเป็นไม้ผลที่ควรปลูกอนุรักษ์ไว้ตามสวนสมุนไพร หรือหน่วยงานราชการสำหรับใช้ในการศึกษาวิจัย

สอดคล้องกับข้อมูลกรมวิชาการเกษตรที่ได้ศึกษาวิจัยพืชที่มีคุณค่าทางอาหารพบในผลสุกละมุดพันธุ์นี้ น้ำหนักรวมกัน 100 กรัม ให้ทั้งพลังงานน้ำ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต กากใยอาหาร และสารอื่นๆอีกมากมาย

ด้านวัฏจักรชีวิต ละมุดสีดา จะออกดอกช่วงเดือนตุลาคม แล้วให้ผลสุกช่วงต้นฤดูหนาวหรือเดือนธันวาคม

ทุกวันนี้การปลูกไม้ผลหลากสายพันธุ์ภายในสวนแห่งนี้ จึงไม่เพียงขายหวังผลกำไร แต่หวังสร้างความสนใจด้านการอนุรักษ์ และเป็นเรื่องน่ายินดีเมื่อชาวจันทบุรีเริ่มหันมาปลูกแซมในสวนกันบ้างแล้ว

...

ถือเป็นการรวมพลังอนุรักษ์ไว้ให้ผู้คนได้รู้จักพืชพันธุ์ไม้ไทยหายากที่อาจสูญหายไปในไม่ช้านี้...

ศุภชัย จุลละนันทน์