คุณเคยถามตัวเองหรือไม่ว่า  อวัยวะส่วนไหนที่คุณให้ความสำคัญและดูแลเป็นพิเศษ หลายคนตอบว่า ใบหน้า ดวงตา รูปร่าง เรียวขา ฯลฯ ที่ล้วนสรรหาสารพัดวิธีมาดูแล เพื่อเสริมสร้างความดูดี เพิ่มความมั่นใจเวลาอยู่ต่อหน้าสาธารณชนคนรอบข้าง  แต่ “เท้า” อวัยวะส่วนล่างสุดของร่างกาย ที่พาเราเดินวิ่งไปไหนต่อไหน กลับเป็นอวัยวะที่ถูกให้ความสำคัญเป็นอันดับท้ายๆ จนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับเท้าตามมา หนึ่งในนั้นคือ “ส้นเท้าแตก”

พญ.ดวงกมล ทัศนพงศากุล อายุรแพทย์โรคผิวหนัง โรงพยาบาลเวชธานี  กล่าวว่า “ส้นเท้าแตก เป็นอาการที่มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย จึงกลายเป็นเรื่องน่าอายสำหรับคุณสาวๆ เพราะนอกจากจะไม่มั่นใจในการสวมรองเท้าแบบเปิดส้น บางคนอาการรุนแรงมากจนกลายเป็นร่องลึก รู้สึกเจ็บปวดจนเดินลำบาก นอกจากนี้ร่องลึกของส้นเท้าแตกก็จะกลายเป็นที่สะสมของคราบสกปรก  เชื้อโรคต่างๆ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยที่เราไม่รู้ตัวอีกด้วย

หลายปัจจัยที่ทำให้ส้นเท้าแตก

การสวมรองเท้าเปิดส้น ปัญหาส้นเท้าแตกส่วนใหญ่มักเกิดจากการเสียดสีระหว่างส้นเท้ากับวัสดุที่เราเดินเหยียบย่ำไป เช่น พื้นดิน พื้นปูน หรือพื้นบ้าน ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นจะค่อยๆ แข็งและหนาขึ้น จนทำให้เกิดการแห้งแตกในที่สุด และคนที่ใส่รองเท้าที่ไม่หุ้มส้น มีโอกาสจะเกิดส้นเท้าแตกได้มากกว่าคนที่ใส่รองเท้าหุ้มส้นหรือใส่ถุงเท้า

ปัญหาผิวแห้งจากพันธุกรรม ต้องแยกโรคส้นเท้าแตกออกจากโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมบางชนิด เช่นโรคฝ่ามือฝ่าเท้าหนา ซึ่งต้องเข้ามาพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังเพื่อวินิจฉัยแยกโรค

ปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดปัญหาผิวแห้ง เช่น การทำงานในห้องปรับอากาศจะยิ่งทำให้ผิวแห้งเพราะความชื้นในห้องปรับอากาศจะต่ำกว่าภายนอก หรือการทำความสะอาดผิวด้วยน้ำอุ่นและสบู่เป็นเวลานานจะล้างน้ำมันหล่อเลี้ยงผิวออกเกินความจำเป็น คนที่มีผิวแห้งจะมีโอกาสเกิดส้นเท้าแตกได้มากกว่า เพราะมีโอกาสที่จะเกิดการระคายเคืองระหว่างส้นเท้ากับสารที่มาสัมผัสมากกว่า

...

เริ่มต้นดูแลส้นเท้ากันเถอะ

ไม่ควรปล่อยให้ผิวแห้งเพราะมีแนวโน้มที่จะทำให้ส้นเท้าแตกได้ง่าย  หลีกเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าส้นเปิด  หลีกเลี่ยงการเดินด้วยเท้าเปล่าโดยไม่สวมรองเท้าเป็นเวลานานๆ  หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีอากาศเย็นมาก ทำให้ผิวแห้งง่าย  ควรทาครีมที่เท้าและส้นเท้าด้วย

ในกรณีที่เกิดส้นเท้าแตกแล้ว ควรทาครีมชุ่มชื้น เช่น urea cream , Vaseline เพื่อให้ความชุ่มชื้น   และทำให้ผิวอ่อนนุ่มขึ้น หากส้นเท้าหนามากอาจใช้ยาทาเพื่อที่ไปละลายผิวหนังชั้นนอกออก แช่น้ำอุ่น  แล้วเอาแปรงนุ่มๆ ขัดเบาๆ บริเวณที่ส้นเท้าแตกเป็นประจำก็จะช่วยได้  ไม่ควรเดินเท้าเปล่า ควรหารองเท้าใส่อยู่ในบ้าน  หรือถ้าเป็นไปได้ควรใส่ถุงเท้า  หากพบอาการอักเสบมากแนะนำให้พบแพทย์ผิวหนัง” พญ.ดวงกมล กล่าวทิ้งท้าย

ศูนย์ผิวหนัง เลเซอร์ และความงาม โรงพยาบาลเวชธานี
www.vejthani.com
37c@vejthani.com