บุกแดนมังกร...ชมรถไฟความเร็วสูง ก่อนวิ่งโลดแล่นในไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

บุกแดนมังกร...ชมรถไฟความเร็วสูง ก่อนวิ่งโลดแล่นในไทย

Date Time: 6 ม.ค. 2561 05:30 น.

Summary

  • โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน เส้นทางกรุงเทพฯ–นครราชสีมา เริ่มต้นชัดเจนแล้วเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.60 โดยเริ่มต้นการก่อสร้าง หลังจากประชุมร่วมกันมาหลายครั้ง ช่วงแรกเริ่มก่อสร้างจากสถานีกลางดง–ปางอโศก

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย–จีน เส้นทางกรุงเทพฯ–นครราชสีมา เริ่มต้นชัดเจนแล้วเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.60 โดยเริ่มต้นการก่อสร้าง หลังจากประชุมร่วมกันมาหลายครั้ง ช่วงแรกเริ่มก่อสร้างจากสถานีกลางดง–ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร หลังจากนั้นจะทยอยสร้างให้เสร็จและเปิดใช้งานในปี 2564

แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้น บางคนอาจไม่เชื่อใจว่า หากรถไฟสัญชาติจีน จะมาวิ่งบริการให้กับชาวไทยใช้งานได้มีประสิทธิภาพจริงหรือไม่

นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน นำสื่อมวลชนไทย นั่งรถไฟความเร็วสูงจากกรุงปักกิ่ง ไปชมโรงงานผลิตรถไฟที่เมืองชิงเต่า.
นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน นำสื่อมวลชนไทย นั่งรถไฟความเร็วสูงจากกรุงปักกิ่ง ไปชมโรงงานผลิตรถไฟที่เมืองชิงเต่า.

สมาคมผู้สื่อข่าวไทย–จีน จึงร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศ ไทย ได้นำ คณะสื่อมวลชนไทย บินลัดฟ้าสู่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ไปศึกษาดูงานเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของแดนมังกร เพื่อเป็นข้อมูลหนึ่งที่จะสร้างความเข้าใจใหม่ให้เกิดขึ้น และทริปนี้ นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน นำทีมไปเอง

ตลอดการดูงานครั้งนี้ คณะสื่อมวลชนไทย ได้รับการอำนวยความสะดวกจาก สำนักข่าวซินหัว เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานที่จะไปเยี่ยมชม โดยเริ่มต้นกันที่ บริษัทซีอาร์อาร์ซี บริษัทรัฐวิสาหกิจยักษ์ใหญ่ที่รับงานผลิตขบวนรถไฟของจีนส่งขายในประเทศและต่างประเทศเป็นจำนวนมาก รวมถึงประเทศไทยด้วย

เตรียมทดสอบนั่งรถไฟ.
เตรียมทดสอบนั่งรถไฟ.
ภายในโรงงาน.
ภายในโรงงาน.

นางหลี่ หมิ่น รองผู้อำนวยการประชาสัมพันธ์ บริษัทซีอาร์อาร์ซี บรรยายสรุปให้ทราบถึงวิวัฒนาการรถไฟของจีนไว้อย่างน่าสนใจว่า เดิมได้ผลิตขบวนรถไฟแบบธรรมดา ผสมกับรถไฟเพื่อการขนส่ง ซึ่งมีความเร็ว 3 ระดับ คือ 120, 140 และ 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ในช่วงปี 2547 ได้เริ่มนำเข้าเทคโนโลยีรถไฟจากต่างประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี เพื่อนำมาเรียนรู้ และต่อยอดพัฒนาเป็นเทคโนโลยีของตัวเอง

ใช้เวลาประมาณ 3-5 ปี จนสามารถมีเทคโนโลยีผลิตรถไฟความเร็วสูงเป็นของตัวเอง โดยเริ่มที่ความเร็ว 200-250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เริ่มเส้นทางแรก จากปักกิ่ง-เทียนสิน ในปี 2551 ซึ่งเป็นปีเดียวกับช่วงที่จีนได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิก

จากนั้นได้พัฒนาเรื่องรถไฟอย่างเรื่อยมา จนตอนนี้มีขบวนรถที่วิ่งอยู่ที่ความเร็ว 300-350 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา บริษัทได้พัฒนาความเร็วไปอีกขั้น โดยนำรถไฟความเร็วสูงขบวนใหม่ ชื่อว่า “ฟู่ชิง” มาทดลองวิ่งในเส้นทางจากปักกิ่งไปเซี่ยงไฮ้ โดยทำความเร็วเฉลี่ย 380 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

โบกี้รถไฟที่กำลังประกอบ.
โบกี้รถไฟที่กำลังประกอบ.
ศึกษาระบบราง.
ศึกษาระบบราง.

รถไฟ “ฟู่ชิง” มีชิ้นส่วนประกอบกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ผลิตในจีน คุณสมบัติด้านความปลอดภัยคือ หากเกิดเหตุฉุกเฉินสามารถสั่งหยุดรถระยะไกลได้ และสามารถเผชิญทุกสภาพอากาศ ซึ่งรองรับตั้งแต่ -40 องศาเซลเซียส ถึง 45 องศาเซลเซียส

นางหลี่ หมิ่น เผยว่า ปัจจุบันประเทศจีน มีระยะทางรถไฟติดอันดับโลก ซึ่งมีกว่า 22,000 กิโลเมตร กว่า 2,000 ขบวน ครอบคลุมทุกภาค และยังมีฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถผลิตขบวนรถไฟได้ประมาณ 5,000 ตู้ต่อปี
“ในอนาคต บริษัทซีอาร์อาร์ซีตั้งเป้าหมายพัฒนาเทคโนโลยีให้ถึงระดับโลก เพราะเรามีการตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาระดับชาติกว่า 20 แห่งที่ครอบคลุมไปทั่วโลก รวมถึงมีในประเทศไทยด้วย ซึ่งในปี 2563 จะพัฒนารถไฟความเร็วสูง ความเร็วเฉลี่ยสูงกว่า 400 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถวิ่งบนรางที่มีความกว้างขนาดที่แตกต่างกันได้” นางหลี่ หมิ่น กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

หลังจากรับทราบข้อมูลจากบริษัทซีอาร์อาร์ซีแล้ว คณะสื่อมวลชนไทย ยังได้มีโอกาสนั่งรถไฟความเร็วสูงจากกรุงปักกิ่งมายังเมืองชิงเต่า มณฑลซานตง และถือโอกาสทดลองนั่งรถไฟความเร็วสูงไปในตัว ตลอดการเดินทางที่ได้สัมผัส พบว่ารถไฟจะทำความเร็วที่แตกต่างกันในแต่ละช่วงของสถานี แต่ได้ทำความเร็วสูงสุดที่ 309 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีความเงียบไร้เสียงรบกวนจากภายนอก

คณะสื่อมวลชนไทยเข้าฟังบรรยายสรุปเรื่องการสร้างรถไฟความเร็วสูง และเทคโนโลยีทันสมัยที่นำมาใช้ ที่บริษัท ซีอาร์อาร์ซี กรุงปักกิ่ง.
คณะสื่อมวลชนไทยเข้าฟังบรรยายสรุปเรื่องการสร้างรถไฟความเร็วสูง และเทคโนโลยีทันสมัยที่นำมาใช้ ที่บริษัท ซีอาร์อาร์ซี กรุงปักกิ่ง.

ส่วนระยะทางระหว่าง 2 เมือง ห่างกัน819 กิโลเมตร เทียบได้กับกรุงเทพฯ-เชียงราย ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง30 นาที เดินทางถึงจุดหมาย คือเยี่ยมชมโรงงานผลิต รถไฟความเร็วสูง ในนามของ บริษัทซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซือฟาง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัทซีอาร์อาร์ซี

ทีมงานของซีอาร์อาร์ซีฯ ได้นำชมเทคโนโลยีบางส่วนของการผลิตรถไฟความเร็วสูง โดยมี นายเซียะ จิงเฉิง ผอ.แผนกความร่วมมือต่างประเทศ บรรยายสรุปให้ฟังว่า ขั้นตอนก่อนที่จะเริ่มต้นการก่อสร้าง ทางบริษัทได้นำระบบเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน หรือ Virtual Reality ภาพจำลองขบวนรถไฟอย่างละเอียด สัดส่วนเท่าของจริง เพื่อออกแบบขบวนรถไฟให้ได้ขนาดความเหมาะสมตามความต้องการของผู้ผลิต

พร้อมทั้งยังมีระบบทดสอบชิ้นส่วนต่างๆว่ามีปัญหาหรือไม่ อาทิ ทดสอบแรงดันภายในขบวน ระบบทดสอบความแข็งแรง ระบบทดสอบแรงกระแทก รวมถึงเทคโนโลยีควบคุมเสียงรบกวนภายในขบวน เนื่องจากรถไฟที่ใช้ความเร็วจะมี เสียงลมรบกวน โดยจะมีการสร้างขบวนจำลองมาทดสอบกับระบบดังกล่าว ก่อนที่จะมีการก่อสร้างจริง
จากนั้นได้นำไปชมกระบวนการการผลิต เช่น โรงงานเชื่อมต่อตู้ขบวนรถ โรงงานประกอบรถ ซึ่งยังมีโรงงานแยกทำหน้าที่อยู่หลายชิ้นส่วน แล้วจะนำมาประกอบกันให้ออกมาในรูปแบบสำเร็จ ก่อนจะนำไปทดสอบการวิ่ง เพราะที่โรงงานได้ทำรถไฟไว้ด้วย ทั้งนี้ โรงงานในเมืองชิงเต่าสามารถผลิตขบวนรถไฟความเร็วสูงในแบบสำเร็จได้วันละ 6 ตู้ หรือ 180 ตู้ต่อเดือน

สำหรับการผลิตขบวนรถไฟให้กับประเทศไทยนั้น นายกง รุ่ยหมิง รองผู้จัดการการตลาดต่างประเทศ บริษัทซีอาร์อาร์ซี ชิงเต่า ซือฟาง เผยว่า มีความพร้อมสนับสนุนและผลิตรถไฟความเร็วสูง โดยสามารถจัดสร้างขบวนรถไฟได้ตามความต้องการในรูปแบบต่างๆที่เหมาะกับประเทศไทย

“รถไฟความเร็วสูงทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ที่จะช่วยพัฒนาตลอด 2 ข้างทาง เชื่อว่าถ้ารถไฟความเร็วสูงที่สร้าง ในระยะเริ่มต้น กรุงเทพฯ-นครราชสีมา แล้วเสร็จ ชาวไทยจะได้ประโยชน์อย่างแน่นอน” นายกง รุ่ยหมิง กล่าว

เยี่ยมชมเทคโนโลยีการผลิต.
เยี่ยมชมเทคโนโลยีการผลิต.

ในเวลา 10 กว่าปี พัฒนาการรถไฟของจีนเติบโตได้อย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีทันสมัยและพร้อมที่จะพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด บวกกับความสามารถในการผลิตที่มีกำลังสูง เพราะมีเส้นทางรถไฟจำนวนมากติดเป็นอันดับโลก และยังมีการจำหน่ายให้กับหลายประเทศ

จึงน่าจะเป็นข้อมูลให้เชื่อมั่นได้ว่ารถไฟจากจีนสามารถมาวิ่งบริการในไทยได้ และสิ่งที่ต้องทำต่อไป คือการเรียนรู้เทคโนโลยี เพื่อให้คนไทยสามารถมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองด้วยเช่นกัน.

ฐิตาภา ทรงเผ่า–พิสิฐ ภูตินันท์
รายงาน


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ