“ทารกแรกเกิดวิกฤติ...ทุกนาทีมีความหมายกับชีวิต” เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่การดูแลเจ้าตัวน้อยให้ออกมาลืมตาดูโลกอย่างปลอดภัยคือสิ่งสำคัญที่สุด
ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ระบุว่า ประเทศไทยมีทารกเกิดใหม่ถึงปีละ 7 แสนคน โดยมีทารกที่เกิดก่อนกำหนดประมาณ 1 แสนคน และอัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกคลอดอยู่ที่ 6.7 คน ใน 1 พันคน...เป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ดังนั้น “ทารกแรกเกิด” และ “ทารกแรกเกิดวิกฤติ” จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลโดยกุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด โดยเฉพาะที่หน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ (Neonatal Intensive Care Unit : NICU)...ไม่เพียงช่วยให้รักษาได้ทันท่วงที ยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้
เพราะทุกนาทีสำคัญอย่างมาก เวลาที่ต่างกันในการคลอดแม้เพียงหนึ่งวันก็มีผลต่อพัฒนาการ
“วิกฤติทารกแรกเกิด”...เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่พ่อแม่คาดคิด ความเสี่ยงของทารกแรกเกิด เช่น กรณีเด็กที่คลอดก่อนกำหนด อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ หรือเกินกำหนดอายุครรภ์มากกว่า 42 สัปดาห์
พญ.อรวรรณ อิทธิโสภณกุล กุมารแพทย์สาขาทารกแรกเกิดและปริกำเนิด หน่วยดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ NICU โรงพยาบาลกรุงเทพ ย้ำว่า กรณีที่เด็กอายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ เด็กกลุ่มนี้คือเด็กกลุ่มที่คลอดก่อนกำหนด ยิ่งอายุครรภ์น้อย...น้ำหนักตัวก็จะยิ่งน้อย แล้วการเจริญเติบโตของอวัยวะต่างๆในร่างกายของเด็กก็ยังทำงานไม่เต็มที่ไม่สมบูรณ์ จำเป็นจะต้องได้รับการดูแล อาจจะต้องอยู่ในตู้อบ มีแพทย์เฉพาะทางทารกแรกเกิดดูแล
“จนกว่าน้องจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง สามารถดูดนมเองได้ แล้วคุณแม่สามารถที่จะฝึกเลี้ยงได้ จึงจะให้กลับบ้านได้”
...
ถ้าเกินกำหนด เด็กที่คลอดออกมาอาจจะมีภาวะในเรื่องของสำลักขี้เทาในปอดได้ หมายความว่า...เกินกำหนดแล้ว อวัยวะต่างๆของเด็กสมบูรณ์แล้ว ถ่ายอุจจาระตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้ แต่ว่าไม่จำเป็นต้องเกิดในภาวะอายุครรภ์เกินกำหนดอย่างเดียว เด็กคลอดปกติช่วง 37-42 สัปดาห์ก็สามารถเกิดขึ้นได้...เพียงแต่โอกาสจะเกิดขึ้นน้อยกว่า 10-15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ต่างกับเด็กที่อายุครรภ์เกินกำหนดโอกาสจะเกิดได้มีมากกว่า
“สำลักขี้เทา”...หลายคนอาจจะเคยได้ยินมาบ้าง แต่ถ้าจะถามว่าอันตรายมากน้อยแค่ไหน คุณหมออรวรรณ บอกว่า เด็กปกติทั่วไปคลอดออกมาจะถ่ายอุจจาระออกมาเป็นสีดำๆเรียกว่าขี้เทา แต่ในเด็กส่วนหนึ่งในเด็กปกติอาจจะถ่ายในครรภ์ได้ ซึ่งในท้องคุณแม่อยู่ในน้ำคร่ำเป็นน้ำใสๆปกติ แต่ถ้าเด็กถ่ายขี้เทาก็จะลอยอยู่ในน้ำคร่ำ...อุจจาระเด็กจะค่อนข้างเหนียว ถ้าปะปนอยู่ในน้ำคร่ำ เด็กก็จะกลืนเข้าไปด้วย
“ส่วนหนึ่งถ้าปนเปื้อนกลับเด็กจะกลืนไปในท้อง หายใจเข้าไปในปอดได้ ถ้าถ่ายแล้วคลอดออกมาเลยก็อาจจะไม่มีภาวะแทรกซ้อน แต่ถ้ากรณีที่ถ่ายมานานแล้วอาจจะกลืนน้ำคร่ำ...สำลักน้ำคร่ำเข้าไปในปอดแล้วค่อยคลอดออกมาก็อาจจะมีภาวะแทรกซ้อน ในเรื่องของปอดอักเสบ ภาวะลมรั่วในปอดก็ได้...อุจจาระไปอุดถุงลม ลมเข้าได้แต่ออกไม่ได้ ก็เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา”
ถามต่อไปอีกว่า อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตหรือเปล่า? “ตอนนี้มีการรักษาที่ทันสมัยมากขึ้น ความเสี่ยงก็ลดลงไปมากกว่าอดีต แต่ก็อยู่ที่ห้าสิบห้าสิบ...ที่จะเกิดเสียชีวิตขึ้นได้ แต่เนื่องจากว่าหมอแรกเกิดมีเครื่องมือทันสมัยในการดูแลเด็กกลุ่มนี้ได้ดีกว่าเมื่อตอน 10-20 ปีที่แล้ว ทำให้ภาวะเด็กที่เสียชีวิตด้วยความเสี่ยงเหล่านี้ลดลงไป”
คุณหมออรวรรณ บอกอีกว่า คำว่า “วิกฤติ” คลอดออกมาแล้วก็ยังมีความเสี่ยงอยู่เช่นกัน ภาวะวิกฤติเราจะดูตั้งแต่ประวัติของคุณแม่ ถัดมาก็ดูที่ตัวเด็กในเรื่องของทารกที่คลอดก่อนกำหนดและเกินกำหนด
คุณแม่มีภาวะในเรื่องของความเสี่ยง เช่น เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ปกติคุณแม่ต้องอายุครรภ์เจ็บแบบนานแล้วถึงจะมีเรื่องของเจ็บครรภ์เตือนว่าจะคลอด แต่ก็เจ็บครรภ์ก่อน กรณีนี้ต้องมาหาคุณหมอสูติแพทย์เพื่อให้ยาระงับคลอด จะได้ให้น้องสามารถอยู่ในท้องคุณแม่ได้จนกระทั่งครบกำหนดถึงค่อยคลอดออกมา
หรือ...คุณแม่อาจจะมีปัญหาในเรื่องของการตกเลือด มีเลือดออกทางช่องคลอด ไม่ว่าอายุครรภ์เท่าไหร่ก็ตาม...ก่อน 37 สัปดาห์ ก็ต้องมาตรวจ ให้คุณหมอสูติแพทย์ดูว่าปัญหาเลือดออกเกิดจากสาเหตุอะไร แล้วก็รักษาไปที่ต้นเหตุนั้น เพราะในบางกรณี แม่เลือดอกมากจนช็อกก็มี ส่งผลกระทบต่อน้อง
“ถ้าเป็นเหตุผลอย่างนั้นก็ต้องเอาน้องออกมาก่อนฉุกเฉิน มาเลี้ยงดูแลในห้องทารกแรกเกิดวิกฤติแทนการเลี้ยงในครรภ์เพื่อให้ทั้งคุณแม่และน้องปลอดภัย”
ปัจจัยเสี่ยงภาวะวิกฤติจึงมีทั้งกับ “แม่” และ “เด็ก” ส่วนกรณีของแม่ เช่น แม่มีภาวะเบาหวานที่ต้องฉีดยาอินซูลิน เบาหวานระหว่างตั้งครรภ์เราพบได้ บางคนที่พบคุณแม่บางท่านเป็นเบาหวาน แค่คุมระดับน้ำตาลโดยการคุมอาหารพอ ไม่ต้องฉีดอินซูลิน แต่บางท่านก็ระดับน้ำตาลสูงค่อนข้างเยอะ ต้องฉีดด้วย เพื่อคุมให้ปกติ
ถามว่าทำไมคุณแม่กลุ่มนี้ต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้ได้ดี เนื่องจากว่าถ้าทารกในครรภ์เกิดจากคุณแม่ที่น้ำตาลในเลือดสูง คุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดีพอ “ระดับน้ำตาล” ในเลือดคุณแม่ที่สูง...แม่จะสร้างฮอร์โมนอินซูลินในตัว ในร่างกายคุณแม่ เพื่อทำให้ระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ขณะเดียวกัน ฮอร์โมนอินซูลินตัวนี้จะผ่านจากคุณแม่ไปยังน้อง แล้วไปทำอะไรกับน้องได้บ้าง...ฮอร์โมนอินซูลินตัวนี้เป็นฮอร์โมนเจริญเติบโตโกรทแฟคเตอร์ตัวหนึ่งทำให้เด็กที่อยู่ในครรภ์ตัวโต แต่โตอย่างเดียวไม่พอ ยังทำให้อวัยวะภายในต่างๆโตไปด้วย เช่น หัวใจโตด้วย ตับโตด้วย แล้วตัวอินซูลินก็ยังทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของน้องต่ำลงด้วย เวลาคลอดออกมาก็ยังค้างอยู่ในร่างกาย จะมีอาการระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
...
“กุมารแพทย์ทารกแรกเกิดทราบข้อมูลเหล่านี้ คุณแม่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เด็กคลอดออกมาจะต้องมีการตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติดีไหม ถ้าต่ำ โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะช็อกของน้องก็มีได้ ต้องรักษาภาวะตรงนี้ด้วย...เวลาดูแลจึงต้องดูแลเป็นทีมทั้งสูติแพทย์และกุมารแพทย์
ห้องดูแลทารกแรกเกิดวิกฤติ “เด็ก” จะอยู่รักษากี่วัน ขึ้นอยู่กับอาการเด็กแต่ละคน เด็กปกติต้องใช้เวลาปรับตัวเรื่องการหายใจหลังคลอดราวๆ 4 ชั่วโมง...แต่เด็กบางคนหลังคลอดออกมาแล้วไม่สามารถที่จะปรับตัวเรื่องน้ำคร่ำ อาจมีค้างตามเนื้อปอดอยู่ก็ใช้เวลา 24-48 ชั่วโมง...หายใจได้ในเกณฑ์ปกติถึงจะย้ายไปหาคุณแม่ได้
แต่...บางคนคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักตัวน้อย 600 กรัม 800 กรัม...ก็ต้องอยู่เป็นเดือน บางคนอาจนานถึง 3 เดือนก็มี หรือนานที่สุดที่เคยรักษากันมาก็อยู่นานถึง 5 เดือน เด็กตัวเล็กมาก รอเวลาให้เขาโตสักนิดนึง
“จริงๆแล้วทุกวันนี้คุณพ่อคุณแม่แต่งงานกันช้า ปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งคืออายุที่คุณแม่ตั้งครรภ์ เกิน 35 ปีก็เป็นปัจจัยเสี่ยง หรือต่ำกว่า 16 ปีก็เสี่ยงเช่นกัน กรณีที่อยากแนะนำควรมีการวางแผนครอบครัวก่อนจะมีน้อง ควรปรึกษาคุณหมอสูติแพทย์ ตรวจเช็กร่างกาย พร้อมที่จะมีน้องหรือยัง เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ก็ให้มาฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ เพราะเราจะได้ดูแลอายุครรภ์ได้อย่างแม่นยำ อีกปัจจัยหนึ่ง การผ่าคลอดเอาฤกษ์มีมากขึ้น คลอดธรรมชาติน้อยลง หากคุณแม่เป็นครรภ์แรกถ้าไม่เจ็บครรภ์เลย ตามหลักวิชาการทั่วไปมาตรฐานคืออายุครรภ์ตั้งแต่ 39 สัปดาห์ขึ้นไป”
ปัญหาการปรับตัวช้าหลังคลอดจะลดลง น้องก็จะสุขภาพดี...ให้รู้เอาไว้ด้วยว่า ทุกวันที่น้องจะคลอด อยู่ในท้องคุณแม่หนึ่งวันมีความหมาย บางคนคลอด 37 สัปดาห์ อีกคนคลอด 39 สัปดาห์...คนหลังอายุเยอะกว่า แต่เกิดวันเดียวกัน เขาจะกินนมเก่งกว่า ลืมตาแล้ว อายุครรภ์ที่ครบกำหนดจริงๆจึงมีผลมากต่อความเก่งของเด็ก
...
ถึงตรงนี้คงต้องเตรียมให้พร้อม ลดความเสี่ยงทุกด้าน...เพื่อให้ “เจ้าตัวน้อย” ออกมาลืมตาดูโลกได้อย่างแข็งแรง...เติบโตมีพัฒนาการที่ดีตามวัย.