เมื่อคุณขึ้นรถไฟฟ้า เจอราคาค่าโดยสารเท่านั้นเท่านี้ ทันใดนั้น ก็มีคำถามโผล่ขึ้นมาในหัวคุณทันที “เราจ่ายค่าโดยสารแพงไปไหมราคานี้?” ประชาชนตาดำๆ อย่างเราก็ได้แค่คิดและก็สงสัย ถามตัวเองอยู่ในใจ ยังไม่ได้คำตอบ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จัดมาให้เน้นๆ เทียบให้เห็นชัดๆ แพงไปไหมราคานี้?
รถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.2542 จัดเก็บค่าโดยสาร 10-40 บาท และได้ปรับราคาครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.2549 เป็น 15-40 บาท ครั้งที่สอง ในวันที่ 1 มิ.ย.2556 เป็น 15-42 บาท และล่าสุดกับครั้งที่สามที่ชาวกรุงโวยกันลั่นสนั่นบ้านสนั่นเมือง กับราคา 16-44 บาท ซึ่งครั้งนี้ ถือว่าเป็นปีครบรอบการให้บริการ 18 ปีเต็มอีกด้วย
ถัดมาอีก 5 ปีหลังรถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดประเดิมให้ใช้บริการ หรือในปี 2547 รถไฟฟ้าใต้ดิน หรือที่เราเรียกกันว่า MRT สายเฉลิมรัชมงคล จากสถานีหัวลำโพง ไปสถานีบางซื่อระยะทาง 21 กิโลเมตรก็ได้ถือกำเนิดขึ้น
โดยอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าบีทีเอส ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 นั้น มีราคาค่าโดยสารที่เรียกเก็บสำหรับรถไฟฟ้าบีทีเอสในส่วนของเส้นทางสัมปทานระยะทาง 23.5 กิโลเมตร สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต – สถานีอ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ – สถานีสะพานตากสิน ในราคา 16 บาท – 44 บาท (จากเดิมราคาเริ่มต้น 15 บาท – 42 บาท)
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าบีทีเอสจะเรียกเก็บสถานีแรก 16 บาท
เดินทาง 2 สถานี ราคา 23 บาท
เดินทาง 3 สถานี ราคา 26 บาท
เดินทาง 4 สถานี ราคา 30 บาท
เดินทาง 5 สถานี ราคา 33 บาท
เดินทาง 6 สถานี ราคา 37 บาท
เดินทาง 7 สถานี ราคา 40 บาท
เดินทาง 8 สถานี เป็นต้นไป ราคา 44 บาท
โดยอัตราราคาข้างต้นนี้เพิ่มขึ้นจากราคาเดิม 1- 3 บาท (ประมาณ 5%) ซึ่งยังอยู่ต่ำกว่าเพดานอัตราค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานซึ่งอยู่ระหว่าง 20.11 – 60.31 บาท
ส่วนอัตราค่าโดยสาร การเดินทางเข้า-ออก หรือผ่านส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีลม สถานีโพธิ์นิมิตรถึงสถานีบางหว้า และส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสุขุมวิท สถานีบางจากถึงสถานีแบริ่งเที่ยวเดียว จะมีราคาสูงถึง 59 บาท
ในขณะที่ อัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT จะอยู่ที่ 16-42 บาท ไปจนถึง 2 ก.ค. 2561 โดยอัตราค่าโดยสารมีดังนี้
เดินทาง 0-1 สถานี ราคา 16 บาท
เดินทาง 2 สถานี ราคา 19 บาท
เดินทาง 3 สถานี ราคา 21 บาท
เดินทาง 4 สถานี ราคา 23 บาท
เดินทาง 5 สถานี ราคา 26 บาท
เดินทาง 6 สถานี ราคา 28 บาท
เดินทาง 7 สถานี ราคา 30 บาท
เดินทาง 8 สถานี ราคา 33 บาท
เดินทาง 9 สถานี ราคา 35 บาท
เดินทาง 10 สถานี ราคา 37 บาท
เดินทาง 11 สถานี ราคา 40 บาท
เดินทาง 12-17 สถานี ราคา 42 บาท
หากเทียบราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้าไทยกับประเทศอื่นๆ จะถูกหรือแพงมากน้อยเพียงได้ พิจารณาได้จากตารางด้านล่างนี้
อย่างไรก็ตาม ค่าครองชีพในแต่ละประเทศนั้น มีความแตกต่างกันพอสมควร จึงอาจทำให้การเปรียบเทียบค่าโดยสารรถรถไฟฟ้าว่าแพงหรือถูกนั้น จึงเป็นไปได้ยาก
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า หากเทียบราคาค่าโดยสารของรถไฟฟ้ากับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกง โดยเฉลี่ยแล้ว ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของประเทศไทยไม่ได้แพงกว่าทั้งสองประเทศนี้เท่าใดนัก
“หากนำราคาค่าโดยสารมาเทียบกันกับค่าครองชีพของทั้งสองประเทศ ประเทศไทยอาจจะมีราคาแพงกว่านิดหน่อย แต่ถ้าไปเทียบกับประเทศจีนที่มีราคาค่าโดยสารถูกมากๆ อาจจะเทียบไม่ได้ เพราะรัฐบาลจีนสนับสนุนระบบรถไฟฟ้าของประเทศตัวเองด้วยจำนวนเงินจำนวนมาก ดังนั้น ประชาชนของเขาจึงได้ราคาค่าโดยสารที่ถูกมากเป็นพิเศษ” ดร.สุเมธ กล่าว
ทั้งนี้ รถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นโครงการที่เอกชนลงทุนด้วยตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม โดยที่รัฐบาลไม่ได้อุดหนุนเอกชนแต่อย่างใด ดังนั้น เอกชนจึงสามารถปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทานได้ และเมื่อเทียบกับที่รถไฟฟ้าให้บริการจะครบ 18 ปีในเดือนธันวาคม 2560 นี้จะเห็นได้ว่า มีการปรับราคาน้อยครั้งมาก
“หากต้องการทำให้ราคาค่าโดยสารลดลง หรือมีโปรโมชั่นส่วนลดให้กับประชาชน รัฐบาลจะต้องออกมากระทำการอะไรบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น รัฐบาลมีเงินอุดหนุนหรือสนับสนุนเอกชน โดยมีเงื่อนไขคือ รถไฟฟ้าบีทีเอสจะต้องไม่ขึ้นราคาค่าโดยสาร, รัฐบาลอุดหนุนประชาชนทุกคนที่ใช้บริการ เพื่อทำให้ประชาชนจ่ายเงินน้อยลง หรือแม้กระทั่ง รัฐบาลอุดหนุนเฉพาะประชาชนในกลุ่มที่มีรายได้น้อย ซึ่งจุดนี้เป็นเรื่องของอนาคตว่า รัฐบาลจะทำอย่างไรกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ยังไม่มีรัฐบาลชุดใดให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง” ดร.สุเมธ กล่าว
ขณะที่ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบขนส่งและจราจร กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ถึงกรณีค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยและต่างประเทศว่า หากพิจารณาตามค่าครองชีพ และเทียบกันตามกิโลเมตรแล้วนั้น ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของประเทศไทยค่อนข้างมีราคาแพง
“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เช่น ถ้าเราเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจากบางนาเพื่อเข้าเมือง เราต้องเสียค่าโดยสารเป็นจำนวนเงิน 59 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้คิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้างขั้นต่ำ เพราะฉะนั้น ถ้าหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วค่อนข้างมาก ก็ถือว่าค่าโดยสารนั้นๆ มีราคาแพง” ดร.สามารถ กล่าว
โดยหลักการแล้วนั้น หากจะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้ามีราคาถูก ดร.สามารถ มองว่า วิธีการก็คือ รัฐต้องยอมแบกรับภาระค่าโดยสารบางส่วนให้กับประชาชน แต่วิธีการนี้จะเป็นภาระให้แก่รัฐอย่างมาก เพราะรัฐต้องนำเงินจำนวนมากมาแบกรับค่าโดยสารของระบบขนส่งทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น รถเมล์ รถไฟ หรือรถไฟฟ้า
“เพราะฉะนั้น ทางออกสำคัญก็คือ รัฐต้องทำให้มีผู้โดยสารจำนวนมากๆ ด้วยการสร้างโครงการเชื่อมต่อ ไม่ว่าจะสายสีเหลือง สีส้ม หรือสีชมพูให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด และเมื่อมีผู้โดยสารใช้งานจำนวนมาก รัฐก็สามารถทำให้ราคาค่าโดยสารลดลงได้ เพราะถ้าหมดสัมปทานกับเอกชนเมื่อใด รัฐก็นำรถไฟฟ้ามาบริหารจัดการเอง ซึ่งการทำให้ราคาค่าโดยสารถูกลงก็ย่อมจะเป็นไปได้” ดร.สามารถ กล่าว.
ถูกหรือแพงคุณคิดอย่างไร
แต่ชีวิตคนเมือง ไม่ว่าจะราคาไหน ยังไงก็หนีไม่พ้น...