“เมื่อรัฐบาลได้ลงทุนสร้างโครงข่าย “เน็ตประชารัฐ” ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านแล้วก็ต้องใช้ให้เกิดประโยชน์ นำมายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างกิจกรรมในชุมชน สร้างโอกาส สร้างรายได้สร้างความเป็นธรรมเพื่อปรับเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้น ช่วยให้ประเทศหลุดพ้นกับดักความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงช่วยกำจัดความยากจนด้วย”
ปาฐกถาของ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ ในระหว่างพิธีเปิดนิทรรศการนานาชาติ DIGITAL THAILAND BIG BANG 2017 ซึ่งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จัดขึ้นระหว่าง วันที่ 21–24 ก.ย.ที่ผ่านมา
โดยนายกฯได้ “ตอกย้ำ” บทบาทของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมของประเทศว่าจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันประเทศสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยพลิกโฉมหน้าประเทศไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้ “เข้มแข็ง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
ทั้งยังคาดหวังว่า เมื่อโครงข่ายอินเตอร์เน็ตประชารัฐแล้วเสร็จครอบคลุมทุกหมู่บ้านในปี 2561 จะมีร้านค้าออนไลน์ ร้านค้าประชารัฐเกิดขึ้นราว 10,000 แห่ง มีสินค้าและบริการจากชุมชน 50,000 รายการ สร้างรายได้ให้แก่หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 300,000 บาทต่อปี มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 3 ล้านรายจะเกิดการจ้างงาน 10 ล้านคนและสร้างรายได้ให้หมุนเวียนในชุมชนได้อย่างยั่งยืนด้วย
แต่ความคาดหวังของนายกฯและรัฐบาลจะไปถึงฝั่งฝันหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับโครงการติดตั้งและขยาย “อินเตอร์เน็ตประชารัฐ” เป็นสำคัญ!!!
“ทีมเศรษฐกิจ” ขอใช้พื้นที่นี้ติดตามความคืบหน้าโครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ ดังนี้ :
*********
หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ม.ค.2559 ได้มีมติอนุมัติ “โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ” หรือ “อินเตอร์เน็ตประชารัฐ” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และสนองนโยบายนำพาประเทศไทยก้าวสู่ “ไทยแลนด์ 4.0”
โดยจากการตรวจสอบจำนวนหมู่บ้านในประเทศไทยที่มีอยู่ราว 74,965 หมู่บ้านพบว่า มีสัญญาณไวไฟเข้าถึงแล้ว 41,000 หมู่บ้าน อีก 33,965 หมู่บ้านยังไม่มีโครงข่ายและสัญญาณอินเตอร์เน็ตเข้าถึง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงแบ่งมอบงานโครงการออกเป็น 3 ส่วน
โดยส่วนที่ 1 จำนวน 24,700 หมู่บ้าน มอบให้กระทรวงดีอีรับไปดำเนินการภายใต้วงเงิน 15,000 ล้านบาท และมอบหมายให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ลงทุนขยายเคเบิลใยแก้วระหว่างประเทศ (อินเตอร์เน็ตเกตเวย์) วงเงิน 5,000 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการใช้อินเตอร์เน็ตที่จะเพิ่มขึ้น
ส่วนที่ 2 มอบให้ กสทช.ดำเนินการ 15,000-16,345 หมู่บ้าน โดยใช้เงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อบริการสาธารณะ (กองทุน กทปส.)
ขณะที่ กสทช.เองได้มีการสำรวจและพบว่ายังคงมีหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ “ชายขอบ” อีกกว่า 3,920 หมู่บ้าน ที่ยังไม่มีโครงข่ายอินเตอร์เน็ต และเครือข่ายมือถือใดๆ เข้าไปให้บริการ จึงได้แยกโครงการดังกล่าวออกมาดำเนินการก่อน อันเป็นที่มาของโครงการ “เน็ตชายขอบ” ที่เปิดให้บริษัทสื่อสารเข้ามาดำเนินการเมื่อวันที่ 1-2 ส.ค.2560 ที่ผ่านมา ภายใต้วงเงินดำเนินการราว 13,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม โครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐ 24,700 หมู่บ้านที่กระทรวงดีอีรับผิดชอบนั้น แทนที่จะเดินหน้าโครงการไปได้อย่างราบรื่น ก็กลับต้อง “อาถรรพณ์” ที่ทำให้โครงการต้องล้มลุกคลุกคลานมาตลอดนับแต่เริ่มโครงการ
กระทรวงดิจิทัลฯ หรือกระทรวงไอซีทีในอดีตต้องปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีไปถึง 3 คน คนล่าสุดคือ “นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ ปรับเปลี่ยนปลัดกระทรวงที่เป็นแม่บ้านไปถึง 5 คน ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปีของรัฐบาลชุดนี้ ไล่มาตั้งแต่นายสุรชัย ศรีสารคราม, นางเมทินี เทพมณี, นางทรงพร โกมลสุรเดช, นางวิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล และคนปัจจุบันนางอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย
สาเหตุหลักล้วนมาจากความล่าช้าในการดำเนินโครงการเน็ตประชารัฐทั้งสิ้น การจัดทำร่างทีโออาร์ต้องล้มลุกคลุกคลาน ไม่สามารถดำเนินการได้เป็นปี และแม้จะดำเนินการยกร่างแล้วเสร็จเปิดประมูลได้ในช่วงแรกก็กลับถูกบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าประมูลร้องเรียนจนต้องล้มประมูลไป
ในท้ายที่สุดกระทรวงดีอีต้องยกโครงการดังกล่าวไปให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ดำเนินการแทนด้วยวิธีพิเศษ เพื่อเร่งรัดการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งล่าสุดนั้นเมื่อเดือน พ.ค.60 ทีโอทีได้ส่งมอบโครงการในเฟสแรกไปให้ดีอีแล้ว 12,500 หมู่บ้าน พร้อมจุดบริการฟรีไวไฟหมู่บ้านละ 1 จุดให้บริการที่ระดับความเร็วไม่ต่ำกว่า 30/10 เมกะบิต โดยส่วนใหญ่จะติดตั้งอยู่ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหรือศาลาประชาคม ที่ประชาชนสามารถไปใช้บริการได้ฟรี
อย่างไรก็ตาม แม้ล่าสุดบริษัท ทีโอทีจะโอ่ผลงานความสำเร็จของการติดตั้ง “ไวไฟประชารัฐ” นี้ไปแล้วกว่า 16,500 หมู่บ้าน และกระทรวงดีอีได้โหมโรงยิงสปอตโฆษณาโครงการกระหึ่มไปทั่วเมืองแล้วก็ตาม แต่ผ่านมา กว่า 6 เดือนแล้ว ก็ยังไม่สามารถลากสายเชื่อมต่อโครงข่ายเข้าไปยังบ้านเรือนประชาชนที่ต้องการใช้ได้ และไม่รู้จะต้อง “หาวเรอรอ” ไปอีกนานแค่ไหน!!!
สาเหตุหลักก็เนื่องจากกระทรวงดีอีและบริษัททีโอที ยังไม่ได้กำหนดอัตราค่าบริการไวไฟในโครงการดังกล่าวออกมา และยังไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับโครงการแต่อย่างใด ทั้งยังไม่กำหนดผู้ที่จะให้บริการติดตั้งลากสายเข้าบ้านเรือนประชาชนนั้นจะให้บริษัททีโอทีดำเนินการเอง หรือจัดหาเอกชนรายใหม่เข้ามาดำเนินการ
ล่าสุดยังมีความไม่ลงรอยกันระหว่าง “เน็ตประชารัฐ” ในความรับผิดชอบของกระทรวงดีอี กับ “เน็ตชายขอบ” ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเน็ตประชารัฐที่ กสทช.ดำเนินการ 3,920 หมู่บ้านเข้าไปด้วยอีก
หลังจาก กสทช. ได้จัดประมูลโครงการ “เน็ตชายขอบ” 3,920 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ออกมาดำเนินการไปก่อน พร้อมกำหนดเงื่อนไขทีโออาร์ให้เอกชนที่เข้ามาติดตั้ง และให้บริการเน็ตชายขอบจะคิดค่าบริการไม่เกินเดือนละ 200 บาท
ยังผลให้โครงการ “เน็ตประชารัฐ” ในส่วนของกระทรวงดีอีและทีโอทีรับผิดชอบแทบไปไม่เป็น เพราะประเมินค่าบริการเบื้องต้นกันเอาไว้ที่ 399-599 บาทต่อเดือน ท่ามกลางข้อกังขา เป็นไปได้อย่างไรที่ราคาเน็ตชายขอบที่ติดตั้งในพื้นที่ห่างไกล มีต้นทุนติดตั้งสูงกว่าเน็ตประชารัฐเป็นเท่าตัว แต่กลับสามารถเคาะราคาค่าบริการได้ต่ำกว่า
ทำให้กระทรวงดีอีและทีโอทีต้องหวนกลับมาทบทวนราคาเน็ตประชารัฐกันใหม่ยกกระบิ!
ล่าสุด นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวยืนยันว่า ภายในสัปดาห์นี้ กสทช.จะเรียกผู้ชนะประมูลโครงการอินเตอร์เน็ตชายขอบของ กสทช. 3,920 หมู่บ้าน มาเจรจาเรื่องอัตราค่าบริการรายเดือนไม่เกิน 180 บาทต่อครัวเรือน และเมื่อผู้ชนะประมูลทุกรายเห็นด้วยก็จะลงนามในสัญญาทั้งสิ้น 8 สัญญาทันที
ทั้งนี้ เพื่อให้การติดตั้งอินเตอร์เน็ตเป็นไปตามแผนงาน และทยอยเปิดใช้งานตั้งแต่เดือน ธ.ค.2560 เป็นต้นไป และครบ 3,920 หมู่บ้านในเดือน ธ.ค.2561 โดยโรงเรียน, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล, ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนในโครงการนี้จะใช้ฟรีไวไฟเป็นเวลา 5 ปี
“พื้นที่หมู่บ้าน 3,920 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ห่างไกลตัวเมือง และไม่มีบริการโทรคมนาคมใด เพราะที่ผ่านมาผู้ให้บริการโทรคมนาคม ไม่ได้เข้าไปลงทุนสร้างโครงข่ายโทรคมนาคม เพื่อให้ประชาชนได้ใช้โทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต เพราะไม่คุ้มค่าการลงทุน ดังนั้น จึงเป็นพื้นที่ที่ กสทช.ต้องเข้าไปลงทุน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการโทรคมนาคม ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงบริการภาครัฐ และลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนด้วย”
ส่วนเรื่องราคาค่าบริการรายเดือนนั้น ยืนยันว่า กสทช.จะกำหนดในราคาที่ไม่เกิน 180 บาทต่อเดือนอย่างแน่นอน เพราะ กสทช.ได้ลงทุนสร้างโครงข่ายหลักให้แล้ว ดังนั้น ค่าบริการรายเดือนไม่ควรจะแพงเกินไป มิเช่นนั้น ประชาชนจะไม่สามารถใช้บริการได้
*********
สำหรับ “ทีมเศรษฐกิจ” จากนี้ไปคงต้องลุ้นว่าเมื่อใดรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะกดปุ่มเปิดใช้งานอินเตอร์เน็ตประชารัฐได้ และที่สำคัญสนนราคาค่าบริการยังต้อง “ตอบโจทย์” สนองตอบนโยบายของรัฐในการให้ประชาชนในระดับรากหญ้าได้ “เข้าถึง” ด้วย!!!
แม้ว่า ณ วันนี้ หลายหมู่บ้านในโครงการเน็ตประชารัฐจะมี “ฟรีไวไฟ” ใช้ได้แล้ว โดยส่วนใหญ่จะติดตั้งฟรีไวไฟไว้ที่ศาลาประชาคม วัด หรือบ้านผู้ใหญ่ ผู้นำชุมชน แต่ก็ยังไม่ทั่วถึง จำเป็นที่รัฐและกระทรวงดีอีจะต้องเร่งติดตั้งไวไฟในโครงการนี้ รวมทั้งเคาะราคาค่าบริการออกมาโดยเร็ว
ที่สำคัญสิ่งที่รัฐและกระทรวงดีอีควรต้องดำเนินการควบคู่ไปด้วยก็คือ การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้อินเตอร์เน็ตและฟรีไวไฟในโครงการเน็ตประชารัฐ ที่จะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ไปสู่ยุค 4.0 ทั้งในด้านการศึกษา การพัฒนาการประกอบอาชีพ การรู้จักต่อยอดเทคโนโลยีเพื่อให้รู้ตลาดและโลก รวมทั้งด้านสุขภาพ
สำหรับค่าบริการที่ยังเคาะกันไม่ลงตัวระหว่างเน็ตชายขอบและเน็ตประชารัฐนั้น “ทีมเศรษฐกิจ” มองว่า ทั้งสองโครงการต่างทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักอยู่แล้ว จึงไม่ควรจะมาเกทับ บลัฟแหลก โครงการของตนเองเคาะราคาได้ต่ำกว่าอีกฝ่าย เพราะนั่นเป็นเรื่องของฐานการคำนวณที่ต่างกัน
แต่ทั้งหลายทั้งปวง แต่ละหน่วยงานควรมุ่งเน้นไปที่การมุ่งประโยชน์เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการยกระดับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ค่าบริการจะเป็นเท่าไหร่ก็ได้แต่ขอให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและอยู่ในระดับที่ประชาชนผู้ใช้บริการในต่างจังหวัด “รับได้”
หาไม่แล้วไม่เพียงความคาดหวังของนายกฯและรัฐบาลที่ตั้งไว้จะไปไม่ถึงฝั่ง หนทางผลักดันประชาชนคนไทยให้เข้าถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ก็ต้องล้มเหลวไปด้วย!!!
ทีมเศรษฐกิจ