เป็นประเด็นที่ทำให้ มนุษย์เงินเดือน หลายคนเริ่มกังวลเข้าแล้ว สำหรับปัญหาโรงพยาบาลเอกชน ที่กำลังทยอยออกจากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ล่าสุด รายชื่อที่ออกจากระบบประกันสังคมในปี 2561 มีทั้งหมด 3 แห่ง ดังนี้
1. รพ.ยันฮี กรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้ประกันตน 160,000 คน ให้เหตุผลการออกจากระบบประกันสังคมว่า ต้องการเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง แต่ทางสำนักงานประกันสังคม ต้องการให้มีครบทุกประเภท เมื่อไม่ถนัดจึงขอออก
2. รพ.เกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี มีผู้ประกันตน 150,000 คน ให้เหตุผลว่ามีโรงพยาบาลในเครือเดียวกันอยู่ใกล้แค่ 300 เมตร เพื่อความสะดวกในการทำธุรกิจ จึงให้รับรักษาแห่งเดียว
3. รพ.ศรีระยอง จ.ระยอง มีผู้ประกันตน 19,000 คน ให้เหตุผลว่า มีผู้ประกันตนใช้สิทธิน้อย จึงขอไปดูคนไข้ทั่วไปแทน
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจำนวนตัวเลขผู้ประกันระบบประสังคมในจังหวัดระยอง อยู่ที่ประมาณ 400,000 คน หาก รพ.ศรีระยอง ออกจากระบบนั้น ทำให้เหลือโรงพยาบาลที่อยู่ในระบบประกันสังคมจังหวัด อีกแค่ 3 โรงพยาบาล อาจจะส่งผลกระทบให้ผู้ประกันตนจำนวนมากที่รักษาอยู่ในจังหวัดนั้น มีการกระจุกตัวแน่นขึ้น
จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม พบว่าปัจจุบันระบบประกันสังคม มีโรงพยาบาลเอกชนอยู่ 80 แห่ง ส่วนโรงพยาบาลรัฐ มีจำนวน 158 แห่ง รวมเป็นทั้งหมด 238 แห่ง ขณะที่จำนวนผู้ประกันตนมีมากถึง 14.3 ล้านคน ยังคงสะท้อนให้เห็นถึงความแออัดในการรักษาพยาบาล ทำให้ผู้ประกันตนต้องใช้เวลาในการรักษาพยาบาลนานขึ้น
โดยสำนักงานประกันสังคมตกลงจ่ายเงินอดหนุนให้แก่ สถานพยาบาล เป็นค่าบริการทางแพทย์แก่ผู้ประกันตน ซึ่งคิดเหมาจ่ายเป็นรายหัวตามจำนวนผู้ประกันตนในอัตราหัวละ 1,460 บาทต่อปี เป็นอัตรานี้มานานถึง 6 ปี ทำให้สถานพยาบาลต้องแบกรับค่าบริหารจัดการที่สูงขึ้น เช่น ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ทางวิชาชีพ ด้านแพทย์ และสาธารณสุข ที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ประกอบกับผู้ประกันตนมีอายุมากขึ้น โรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น ต้องรับเข้ามารักษามากขึ้น มีการเพิ่มโรคให้รักษาเพิ่มขึ้น มีโรคซับซ้อน โรคเรื้อรัง ล่าสุดเพิ่มรักษาโรคจิตเวช แต่ค่ารักษายังยืนในราคาเดิม
ล่าสุด ทาง คณะกรรมการประกันสังคม มีมติเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ผู้ป่วยประกันสังคม เหมาจ่ายรายหัว เป็น 1,500 บาท ต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิม 40 บาท ทั้งปรับค่าบริการทางการแพทย์ให้เหมาะสม แบ่งเป็น สถานพยาบาล 447 บาทต่อคนต่อปี รวมถึงปรับค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน ที่มีค่าใช้จ่ายสูง เป็น 640 บาท และกรณีการรักษาผู้ป่วยในมีค่าใช้จ่ายเกิน 1,000,000 บาท ได้เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ ให้สถานพยาบาลในอัตราร้อยละ 80 ของค่าใช้จ่ายที่เกิน 1,000,000 บาท ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 60 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคม ยืนยันว่าการที่โรงพยาบาลเอกชนทยอยออกจากประกันสังคมนั้น เป็นไปตามโมเดลธุรกิจเฉพาะแห่ง ไม่ใช่ออกเพราะขาดทุน และยังคงมั่นใจว่าผู้ประกันตนทั้งหมด จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะได้เตรียมมาตรการรองรับด้วยการจัดสถานพยาบาลทดแทนแล้ว
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม ได้ส่งเอกสารแจ้งเตือนไปยัง ผู้ประกันตนมาตรา 33 (พนักงานเอกชนทั่วไป) และ ผู้ประกันตนมาตรา 39 (เคยเป็นพนักงานแต่ลาออก สมัครใจจ่ายเงินเป็นผู้ประกันตนต่อ) เพื่อให้ดำเนินการเลือกสถานพยาบาลประกันสังคมใหม่ภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ หากไม่แจ้งเปลี่ยนภายในกำหนด สำนักงานประกันสังคม จะเป็นผู้เลือกสถานพยาบาลที่ใกล้ให้ผู้ประกันตนเอง
สำหรับ อัตราค่าบริการทางการแพทย์นั้น ประกันสังคมมั่นใจว่าไม่น้อยเกินไป หากย้อนมาดูในส่วนของเงิน 750 บาท ที่ผู้ประกันตนจ่ายไปทุกเดือนนั้น ถูกแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1. เงินประกันสุขภาพ จะใช้ในด้านการดูแลสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย เป็นเงิน 225 บาท ซึ่งเงินส่วนนี้หากผู้ประกันตนไม่ใช้สิทธิก็จะหายไป ไม่ได้คืน
2. เงินประกันการว่างงาน หรือเป็นเงินที่สามารถนำออกมาใช้ได้ในระหว่างที่ว่างงานอยู่ เป็นเงิน 75 บาท ซึ่งหากเราไม่มีช่วงว่างงานหรือไม่ได้เบิกส่วนนี้ออกมา ก็จะไม่ได้คืน
3. เงินประกันชราภาพ หรือเงินออมเมื่อเกษียณ เป็นเงิน 450 บาท ทางสำนักงานประกันสังคม จะหักเงินส่วนนี้เป็นเงินออมให้ผู้ประกันตน ซึ่งได้รับเมื่ออายุครบ 55 ปี ตามอายุงานและการนำส่งเงินของแต่ละคน ถูกแบบออกเป็น 3 กรณี คือ
1. ผู้ที่จ่ายเงินประกันสังคมไม่ครบ 1 ปี ได้คืนส่วนที่จ่ายเป็นเงินก้อน เรียกว่าบำเหน็จชราภาพ
2. ผู้ที่จ่ายเงินประกันสังคมตั้งแต่ 1 ปี แต่ไม่ถึง 15 ปี จะได้เงินส่วนนี้เป็นก้อน เรียกว่าบำเหน็จเช่นกัน
3. ผู้ที่จ่ายเงินประกันสังคมตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จะได้รับส่วนนี้เป็นเงินรายเดือน เรียกว่า บำนาญชราภาพ.