“กล้วยหอมคาเวนดิช” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “กล้วยหอมเขียว” ถือเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักนัก...ทั้งที่กล้วยที่ค้าขายในตลาดโลก 95% เป็นกล้วยชนิดนี้
“บ้านเรายังปลูกกล้วยหอมคาเวนดิชกันน้อย เนื่องจากไม่นิยมบริโภค แต่ในตลาดโลกกลับตรงกันข้าม เพราะมีลักษณะเด่น เปลือกหนา ทำให้ขนส่งได้ง่ายไม่บอบช้ำ อีกทั้งรสชาติหวานน้อย ถูกปากผู้บริโภคทั่วโลก บางครั้งจะเห็นนักกีฬากินกล้วยชนิดนี้ก่อนแข่งขันหรือตอนพักแข่ง เพราะไม่ทำให้จุก และมีน้ำตาลซูโครส ฟรุกโตส และกลูโคส ที่ร่างกายนำไปใช้สร้างพลังงานได้ทันที กินกล้วย 1 ลูก จะให้พลังงานประมาณ 100 กิโลแคลอรี เท่ากับการเดินติดต่อกัน 1 ชั่วโมง”
ดร.กอบลาภ อารีศรีสม คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้ศึกษากล้วยหอมคาเวนดิชและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก บอกถึงสรรพคุณที่ทำให้กล้วยหอมคาเวนดิชเป็นที่ติดอกติดใจผู้บริโภคทั่วโลก...จนทั้งรัฐและเอกชนต่างมองเห็นช่องทางส่งออกไปตลาดใหญ่อย่างจีน ที่มีความต้องการไม่อั้น ยิ่งช่วง 2-3 ปีหลัง จีนหมดสัญญาเช่าพื้นที่ปลูกในลาว และคนลาวเองก็เกรงกลัวสารเคมีที่จีนนำมาใช้
...
จึงเป็นโอกาสทองของไทย
“จีนมีความต้องการกล้วยหอมพันธุ์นี้มาก ปีที่แล้วนำเข้ามูลค่าสูงถึงเกือบ 2 หมื่นล้านบาท เมื่อลาวไม่ทำในประเทศแล้ว จีนต้องนำเข้าจากเอกวาดอร์ ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีค่าขนส่งสูงกว่าไทย ดังนั้นตลาดจึงเปิดกว้างสำหรับไทย เราเลยรวมกลุ่มส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกแล้วรับซื้อในราคาประกัน กก.ละ 6-12 บาท ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ความสวยและขนาดของลูกผล โดยมีกลุ่มบ้านช้างไทยแลนด์รับซื้อทั้งหมด”
ปัจจุบันมีลูกไร่กว่า 5,000 ไร่ ผลผลิตรวมปีละ 500 ตัน กระจายอยู่ใน 30 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะนครราชสีมา มีมากที่สุด 400 ไร่ แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของจีน...เพราะแค่บริษัทกู๊ดฟาร์มเมอร์ในเซี่ยงไฮ้ คู่สัญญาของกลุ่มบ้านช้างไทยแลนด์ บริษัทเดียวต้องการปีละเกือบ 600,000 ตันเข้าไปแล้ว
กล้วยคาเวนดิชปลูกได้ในทุกสภาพพื้นที่ ไม่ต่างจากกล้วยที่คนไทยคุ้นเคย ไม่ต้องดูแลรักษามาก ปีแรกให้ผลผลิตครั้งเดียว ไร่ละ 9,600 กก. มีต้นทุนค่าพันธุ์ 320 หน่อต่อไร่ ค่าแรงปลูก ค่าวางระบบน้ำและปุ๋ย ไร่ละ 30,000 บาท...ทำให้ปีแรกได้กำไรขั้นต่ำ ไร่ละ 27,600 บาท (คิด ณ ราคาประกันต่ำสุด กก.ละ 6 บาท)
แต่ปีต่อไปจะให้ผลผลิตปีละ 3 ครั้ง ต้นทุนแทบไม่มี เพราะมีหน่อขึ้นมาอยู่แล้ว ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมักทำเอง ค่าแรงเก็บเกี่ยวไม่มี เพราะผู้รับซื้อจัดการให้หมด...สรุปแล้ว ตั้งแต่ปีที่ 2 เกษตรกรจะมีรายได้ขั้นต่ำไร่ละ 172,000 บาทต่อปี แต่ถ้าทำได้ดี ผลผลิตขายได้เฉลี่ย กก.ละ 10 บาท รายได้จะเพิ่มเป็นปีละ 288,000 บาทต่อไร่
...
ส่วนเรื่องที่กังวลกันว่าจะมีปัญหาสารพิษเหมือนที่เกิดขึ้นในลาว...ไม่ต้องห่วง เพราะผู้รับซื้อมีกฎกติกาไม่ให้ใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตเด็ดขาด สนใจสอบถามไปได้ที่ 09–3289–8744.
กรวัฒน์ วีนิล