รัฐแจกบัตรคนจน 21ก.ย. เริ่มใช้ 1ต.ค. ยอด 11.67ล้านคน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รัฐแจกบัตรคนจน 21ก.ย. เริ่มใช้ 1ต.ค. ยอด 11.67ล้านคน

Date Time: 30 ส.ค. 2560 03:45 น.

Summary

  • ครม.ไฟเขียวโครงการ “ประชารัฐ” สวัสดิการช่วยเหลือคนจนที่ลงทะเบียน นำบัตรสวัสดิการไปซื้อสินค้า คนที่รายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี จะได้300 บาท/เดือน คนรายได้ 3 หมื่น-1 แสนบาทต่อปี จะได้เดือนละ 200 บาท

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ครม.ไฟเขียวโครงการ “ประชารัฐ” สวัสดิการช่วยเหลือคนจนที่ลงทะเบียน นำบัตรสวัสดิการไปซื้อสินค้า คนที่รายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี จะได้300 บาท/เดือน คนรายได้ 3 หมื่น-1 แสนบาทต่อปี จะได้เดือนละ 200 บาท รวมทั้งได้ส่วนลดค่าซื้อแก๊สหุงต้ม 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ได้วงเงินขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้า 500 บาทต่อเดือน รถ บขส. 500 บาทต่อเดือนและรถไฟ 500 บาทต่อ 1 เดือน รวมผู้มีสิทธิ์กว่า 11 ล้านคน รัฐควักเงินทั้งสิ้น 41,940 ล้านบาท เผยบัตรคนต่างจังหวัดใช้ขึ้นรถเมล์ รถไฟฟ้าไม่ได้

ครม.ไฟเขียวโครงการบัตรคนจนครั้งนี้ น.ส.สุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอโครงการประชารัฐสวัสดิการ ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เริ่มใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2560 เป็นต้นไป โดยรัฐบาลจะเริ่มแจกบัตรให้กับคนจนที่มาลงทะเบียนกับรัฐตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. จากผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 14.1 ล้านคน มีผู้มีสิทธิ์ 11.67 ล้านคน ส่วนผู้ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์และถูกตัดทิ้งไป 2.53 ล้านคน ผู้ที่มีสิทธิ์ตรวจสอบรายชื่อได้ที่จุดไปลงทะเบียน

อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวด้วยว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประกอบด้วย 1.ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน โดยให้วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา วัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยผู้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จะได้วงเงินคนละ 200 บาทต่อเดือน ผู้ที่รายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี จะได้วงเงินคนละ 300 บาทต่อเดือน รวมทั้งจัดให้วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด 45 บาทต่อคน ต่อ 3 เดือน 2.ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางโดยจะให้วงเงินค่าโดยสารรถเมล์และรถไฟฟ้า 500 บาทต่อเดือน รถโดยสาร บขส. 500 บาทต่อเดือน ค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อเดือน วงเงินที่รัฐบาลช่วยเหลือในการลดค่าใช้จ่าย จะแยกเป็นวงๆไป จึงเอาวงเงินของแต่ละส่วนมารวมกันไม่ได้ ถ้าใช้เต็มวงเงินแล้วในเดือนนั้นก็จะใช้ไม่ได้อีก หรือถ้าใช้ไม่เต็มวงเงินจะนำไปสมทบกับเดือนต่อไปไม่ได้ เมื่อขึ้นวันที่ 1 ของเดือนใหม่ก็จะมีวงเงินเพิ่มขึ้นมาใหม่เป็นเดือนๆไป

สุทธิรัตน์ รัตนโชติ
สุทธิรัตน์ รัตนโชติ

อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวอีกว่า ในทางปฏิบัติ กระทรวงการคลังได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ที่จะนำเครื่องอีดีซีที่ใช้สำหรับรูดบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไปติดตั้งตามร้านค้าที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้นำฐานข้อมูลของผู้ลงทะเบียนไปสำรวจว่าร้านค้าควรจะกระจายในจุดใดของประเทศบ้าง ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้จะให้มีถึง 500,000 ร้านค้า แต่ในช่วงเริ่มต้นคงต้องค่อยเป็นค่อยไปก่อน พร้อมกันนั้นจะได้นำเครื่องอีดีซีไปติดตั้งยังร้านค้าที่จำหน่ายก๊าซหุงต้มที่กระทรวงพลังงานกำหนดด้วย

น.ส.สุทธิรัตน์กล่าวต่อว่า ส่วนการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ได้ร่วมกับกระทรวงคมนาคมในการดำเนินการ โดยคนกรุงเทพฯและอีก 6 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรปราการ นนทบุรี สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม พระนครศรีอยุธยา จะได้รับบัตรสวัสดิการแบบที่มีบรรจุ 2 ชิป โดยชิปแรกจะใช้กับรถเมล์และรถไฟฟ้า เป็นส่วนหนึ่งของบัตรแมงมุม หรือระบบตั๋วร่วมที่กระทรวงคมนาคมกำลังพัฒนาที่จะใช้กับระบบขนส่งมวลชนทั้งหมดในกรุงเทพมหานคร ในส่วนของรถเมล์จะเริ่มมีการติดตั้งเครื่องรับตั๋วอิเล็กทรอนิกส์ให้ใช้ได้ 1 ต.ค. 800 คัน และอีก 3 เดือนจะติดตั้งให้ครบ 2,600 คัน ส่วนชิปที่ 2 ใช้สำหรับใช้ซื้อสินค้าและขึ้นรถ บขส.และรถไฟ จะใช้ผ่านเครื่องอีดีซีที่จุดให้บริการ เช่น ร้านค้า สถานีขนส่ง บขส. และสถานีรถไฟ ส่วนบัตรสวัสดิการของคนในจังหวัดอื่นๆ จะมีชิปเดียว จึงนำมาใช้ขึ้นรถเมล์และรถไฟฟ้าไม่ได้ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนภูมิลำเนาเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มาแจ้งเปลี่ยนบัตรที่มี 2 ชิปได้ การที่ทำบัตรแตกต่างกันจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน เพราะชิป 1 ตัวมีราคา 1 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 30 บาท กรณีของผู้ที่ถือบัตรและทำบัตรหายจะต้องทำบัตรใหม่ ซึ่งบัตรที่มี 1 ชิป ต้องเสียค่าใช้จ่ายทำบัตรใหม่ 50 บาท และบัตร 2 ชิป เสียค่าใช้จ่าย 100 บาทด้วย

“ภายใต้โครงการประชารัฐสวัสดิการจะต้องใช้เงินเดือนละ 3,495 ล้านบาท หรือปีละ 41,940 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ตั้งกองทุนประชารัฐขึ้นมา และสำนักงบประมาณจัดสรรงบให้แล้ว 46,000 ล้านบาท ส่วนเมื่อเปรียบเทียบกับระบบเดิมที่รัฐเคยให้ความช่วยเหลือรถเมล์ฟรีลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ปีละ 1,500 ล้านบาท ส่วนรถไฟฟรีลดค่าใช้จ่ายลงไปได้ปีละ 156 ล้านบาท ทั้งนี้ ในปีต่อไปผู้ที่เคยลงทะเบียนในปีนี้แล้วขอแจ้งว่าไม่ต้องมาลงทะเบียนใหม่อีก แต่ทางกระทรวงการคลังจะตรวจสอบท่านเองว่ายังมีสิทธิ์หรือไม่ ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยมาลงทะเบียนสามารถมาลงทะเบียนในปีต่อไปได้” น.ส.สุทธิรัตน์กล่าว

ขณะที่นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแนวทางดำเนินการ บริหารจัดการระบบตั๋วร่วม (e-ticket) ในปี 2560-2561 หรือที่เรียกว่าบัตรแมงมุม เพื่อใช้เชื่อมการเดินทางของประชาชนที่สัญจรโดยเรือโดยสาร รถไฟฟ้า และรถประจำทาง โดยจะมีการจัดตั้งสำนักงานโครงการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมเป็นหน่วยงานในสังกัดของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ขึ้นมาด้วย

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.ได้เห็นชอบ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอจัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล บริเวณประชานิเวศน์ 3 จำนวน 556 หน่วย วงเงินลงทุน 464.40 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้ภายในประเทศ 413.82 ล้านบาทและเงินรายได้ของการเคหะแห่งชาติ 50.59 ล้านบาท เพื่อให้ผู้มีรายได้ไม่สูงนักเช่าซื้อโดยตั้งเกณฑ์รายได้ครัวเรือนละ 24,700-35,300 บาทต่อเดือนในสัดส่วน 30% รายได้ปานกลางถึงสูง 35,300 บาทต่อเดือนขึ้นไปในสัดส่วน 70% มีกลุ่มเป้าหมายที่คนเรียนจบใหม่ คนเริ่มทำงานใหม่ และคนมีครอบครัวใหม่ นอกจากพื้นที่ต่างๆแล้วยังมีพื้นที่บริเวณลำลูกกาคลอง 2 เคหะชุมชนบางปู และพื้นที่ร่มเกล้าอีกด้วย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ