ภาพจาก เว็บไซต์ สมอ.
สมอ.ตื่นคุมร้าน 20 บาท ขายสินค้าห่วยไร้ มอก. ชาวบ้านแห่ร้องเพียบใช้แล้วเจ๊งง่าย ชี้เตือนแล้วหากยังขายอีกโดนจับติดคุกแน่ พร้อมจ่อประกาศเพาเวอร์แบงก์เป็น มอก.ภาคบังคับ ด้าน สคบ.เตรียมออกประกาศคุมกระติกน้ำแข็งห้ามใส่ของร้อน หลังพบร้านอาหารนิยมเอาใส่ข้าวสวย–ข้าวเหนียว
นายพิสิฐ รังสฤษฏ์วุฒิกุล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ.ได้เรียกผู้ประกอบการร้านจำหน่ายสินค้าทุกอย่าง 20 บาท ที่เช่าพื้นที่ขายตามห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าตามตลาดนัด ตามเขตชุมชน มาร่วมหารือแนวทางการจำหน่ายสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม (มอก.) เนื่องจากได้รับร้องเรียนจากผู้บริโภคจำนวนมากว่า เมื่อซื้อสินค้าภายในร้านบางรายการแล้วนำไปใช้ได้ไม่นานแล้วเกิดความเสียหาย จึงได้กำชับให้ผู้ประกอบการสินค้าร้าน 20 บาท รับทราบว่าสินค้าประเภทใดที่ต้องจำหน่ายให้เป็นไปตาม มอก.ภาคบังคับ เช่น สวิตช์ไฟฟ้า ปลั๊กไฟสายพ่วง สีเทียน สีชอล์ก ไฟแช็ก ไม้ขีดไฟ แอลกอฮอล์แข็ง ต่อไปหากพบว่าร้านค้ายังไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท หรือจำคุก 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ สมอ.ไม่ต้องการเข้าไปจับกุมหรือปรับพ่อค้าแม่ค้าในทันทีโดยไม่มีการแจ้งเตือน จึงต้องเรียกผู้ประกอบการมาหารือ ทำความเข้าใจระเบียบข้อบังคับให้เข้าใจตรงกันก่อน ต่อไปหากยังฝ่าฝืนก็อาจถูกจับปรับได้ โดยเฉพาะสินค้าที่ต้องจำหน่ายตามมาตรฐาน มอก.ภาคบังคับ ถือเป็นสินค้าที่ต้องได้มาตรฐานสูง เพราะใช้ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภค และ สมอ.ได้มีมาตรฐานต่างๆในการทดสอบจนแน่ใจว่าไม่เกิดอันตรายต่อทรัพย์สินและชีวิตของผู้บริโภค เช่น สายไฟฟ้า เต้าเสียบ เต้ารับ เป็นต้น ที่จะทดสอบถึงคุณสมบัติการทนความร้อน พลาสติกหุ้มสายไฟไม่ขาดหลุดง่าย หรือสีเทียน สีชอล์ก เด็กๆใช้กันมาก ก็จะทดสอบสารในการผสมสีจะต้องไม่เป็นอันตรายกับเด็ก จึงอยากให้ผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าประเภท มอก.ภาคบังคับให้เป็นไปตามระเบียบ
“ผมขอแนะนำให้ผู้บริโภคเน้นการเลือกซื้อสินค้าที่มีตราสัญลักษณ์ มอก.เท่านั้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่ได้มาตรฐาน ไม่อยากให้ซื้อสินค้าที่เน้นแต่เฉพาะที่มีราคาถูก 20 บาทเท่านั้น เพราะเสี่ยงที่จะไม่ได้มาตรฐาน มอก. เพราะอาจเป็นอันตรายกับชีวิตและทรัพย์สินของผู้บริโภค เช่นที่ผ่านมามีข่าวการเกิดเหตุไฟไหม้บ่อยครั้ง มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดจากใช้สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร หรือเกิดเหตุไฟช็อตจนติดไฟได้ง่าย ซึ่งได้ไม่คุ้มเสีย”
นอกจากนี้ สมอ.ยังได้เตรียมประกาศ สมอ. ให้อุปกรณ์จ่ายไฟแบบพกพาสำหรับมือถือ (เพาเวอร์แบงก์) ให้เป็นไปตาม มอก.ภาคบังคับ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการต่างๆอยู่ แม้ว่าเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคใช้อย่างแพร่หลายมาสักระยะแล้ว แต่การประกาศสินค้าเป็น มอก.ภาคบังคับ ต้องมีขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้งผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัว และให้ความคุ้มครองผู้บริโภค เพราะหากประกาศเป็นสินค้า มอก.ภาคบังคับแล้ว ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายจะต้องผลิต นำเข้าและจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด และต้องแสดงเครื่องหมายที่สินค้าด้วย
ด้านนายพิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า สคบ.เตรียมออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ให้กระติกน้ำพลาสติกเป็นสินค้าควบคุมฉลากเป็นครั้งแรก หลังจากตรวจพบร้านขายอาหารตามสั่ง และร้านส้มตำอาหารอีสานหลายแห่ง มักใช้กระติกน้ำพลาสติก ซึ่งเดิมมักถูกใช้เป็นอุปกรณ์ใส่น้ำ หรือน้ำแข็ง แต่กลับถูกนำมาใช้ใส่ของร้อน เช่น ข้าวต้ม ข้าวสวย และข้าวเหนียวแทน ทำให้สารเคมีที่อยู่ในพลาสติกเกิดการละลายแล้วไหลมาปนเปื้อนกับอาหาร และเมื่อผู้บริโภคได้รับประทานอาหารเข้าไปจะทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพร่างกายเป็นอย่างมาก.