เมื่อหลายวันที่ผ่านมา มีเรื่องราวฉาวโฉ่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะกระแสเรื่องเด็กนักเรียนรายหนึ่งไลฟ์สดบนเฟซบุ๊ก (facebook live) โดยให้ผู้ชายจับหน้าอกเพื่อแลกกับเงิน 20,000 บาท จนชาวเน็ตขุดภาพและคลิปวิดีโอ และแชร์ไปทั่วโลกโซเชียลจนเป็นเรื่องราวใหญ่โต
ทั้งนี้ จึงทำให้เกิดเป็นข้อสงสัยได้ว่าปัญหานี้เกิดขึ้นเพราะอะไร การอยากได้เงินง่ายๆ ทำงานสบายๆ หรือเป็นค่านิยมทางสังคมสมัยนี้ หรืออาจเป็นเพราะสื่อ ทั้งโทรทัศน์และโซเชียล กำลังส่งผลกระทบที่ร้ายแรงต่อเยาวชนไทยกันแน่
ขณะเดียวกัน บางคนอาจจะคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องผิด เนื่องจากเด็กอาจเดือดร้อนเรื่องเงินจนมองไม่เห็นหนทางหรือไม่ วันนี้ 'ไทยรัฐออนไลน์' ขอพาไปเปิดประเด็นในหลากหลายมุมมองว่าเป็นเพราะเหตุใดถึงกล้าหันหน้าเข้าหาทางที่ผิด ทำไมถึงไม่เลือกทำงานที่ถูกกฎหมาย หรือทำงานพาร์ตไทม์ (part-time) ทั่วไปที่สร้างคุณค่าและประโยชน์ให้กับตนเองมากกว่านี้
เริ่มจากมุมมองด้านกฎหมาย นายนิติธร แก้วโต หรือทนายเจมส์ กล่าวว่า การขายบริการ หรือการกระทำอย่างในคลิปไลฟ์สดของนักเรียนดังกล่าว เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและอันตรายมาก ที่สำคัญคือเข้าข่ายเป็นการค้าประเวณี เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์อีกด้วย
"การที่เด็กมีความกล้าที่จะทำแบบนี้ อาจเป็นเพราะกำลังลำบากจริงๆ ในขณะนั้น หรือไม่ก็อาจเป็นเพราะสังคมพาไป เห็นคนในสังคมส่วนน้อยทำ และเห็นบ่อยๆ ก็เลยคิดว่าไม่เสียหายและไม่ผิด จึงตัดสินใจทำตาม ซึ่งจริงๆ แล้วมันคือสิ่งที่ผิดกฎหมายและอันตรายเป็นอย่างมาก" ทนายเจมส์ กล่าว
...
จริงหรือไม่? เป็นเพราะสื่อทีวี-สังคมรอบข้าง ที่ทำให้เด็กกล้าทำผิด!
นางรุ่งนภา จิโรจน์พงศา นักวิชาการ และอดีตศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า เด็กบางกลุ่มที่ยังหลงผิดหันไปทำงานที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น เด็กไซด์ไลน์ ค้ายาเสพติด หรืองานอื่นๆ ที่ พวกเขามองว่าเป็นวิธีที่หาเงินได้ง่าย ไม่เหนื่อย และใครๆ ก็ทำกัน จนเป็นค่านิยมที่ผิด สาเหตุหลักๆ มองว่าอาจเป็นเพราะสังคมรอบด้านของเด็ก ชีวิตความเป็นอยู่ มีเทคโนโลยีและสิ่งยั่วยุมากมาย ทำให้ตัวเด็กเกิดความอยากมีอยากได้ตามคนอื่นและถูกชักจูงชี้นำไปทางที่ผิดในที่สุด
"สื่อก็สร้างผลกระทบกับเยาวชนอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นสื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับละครที่กล่าวว่าผลิตเพื่อสะท้อนแง่มุมของคนในสังคมไทย มองว่าปัจจุบันนี้มีมากเกินไป จนกลายเป็นการชี้นำ ละครบางเรื่องมีเนื้อหาที่รุนแรง แต่กลับถูกจัดประเภทของรายการอยู่ในหมวดทั่วไป บางครั้งเด็กดูและยังคิดไม่ได้ ก็จะนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบอีกด้วย" นางรุ่งนภา กล่าว
ละครสะท้อนสังคม...สะท้อนไปเพื่ออะไร มากไปหรือไม่?
สื่อโทรทัศน์ยิ่งในสังคมทีวีดิจิทัล ละครก็ถือเป็นจุดใหญ่ที่ต้องแข่งขันกันหลายช่อง จนถึงกับต้องเรียกกระแสด้วยละครที่อ้างว่าสะท้อนสังคม นำเสนอเนื้อหาที่ดูรุนแรงและล่อแหลมต่อเด็กและเยาวชน ตบตี ชิงดีชิงเด่น แย่งคนรัก แถมบางเรื่องจัดให้อยู่ในหมวดรายการทั่วไป จะมองอย่างไรก็รู้สึกขัดตาอีกด้วย
สำหรับละครน้ำดีที่สะท้อนและสอนสังคมของจริงยังมีเป็นส่วนน้อย เช่น ละคร 'วัยแสบสาแหรกขาด' ที่ช่วยส่งเสริมสถาบันครอบครัวในสังคมไทยเรา โดยนำเสนอเรื่องราวชีวิตของเด็กวัยรุ่นที่มีปัญหาภายในครอบครัว ซึ่งสะท้อนให้เห็นจริงๆ ว่า ปัญหาส่วนใหญ่นั้นเกิดจากพ่อและแม่
นอกจากนี้ ละครเรื่องดังกล่าวยังให้ความรู้เรื่องภัยร้ายของเด็กมากมาย โดย Cyberbullying ถูกพูดถึงมากที่สุด เนื่องจากเป็นภัยใกล้ตัวของเด็กและเยาวชน เพราะถือเป็นการรังแกในโลกออนไลน์ ทำให้อับอายจนนำไปสู่โรคซึมเศร้าและจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายได้ในที่สุด คอยเสนอแง่คิดให้กับพ่อแม่อยู่ตลอดทั้งเรื่อง ไม่ใช่ต้องรอพบบทสรุปของการกระทำเพียงแค่ตอนจบ
โลกโซเชียลนี่แหละตัวดี! เมื่อเด็กไม่รู้ทัน อาจนำไปสู่หายนะได้ไม่รู้ตัว...
ผศ.สกุลศรี ศรีสารคาม หัวหน้าสาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าสื่อโทรทัศน์ไม่ค่อยมีผลกระทบกับเด็กมากเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับสื่อออนไลน์ สื่อโซเชียลในปัจจุบัน เด็กสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากๆ ค้นหาข้อมูลได้ทุกอย่างที่ต้องการ
แม้แต่การค้นหางานปกติทั่วไป ก็ยังมีธุรกิจมืดแสดงผลขึ้นมาให้เห็นอีกด้วย จนเด็กเห็นซ้ำๆ บ่อยๆ ขึ้นทุกวันก็อาจมองเป็นเรื่องปกติได้ เขาก็จะรู้สึกว่าเมื่อเขากระโดดลงไปทำแล้วไม่เดือดร้อนใคร ไม่เสียหายอะไร ก็จะคิดว่าไม่ผิด นี่คือความอันตรายของการที่เขาเห็นเนื้อหาลักษณะนี้มากๆ
นอกจากนี้ อาจเป็นไปได้ว่ามีคนที่พยายามเข้าหาตัวเด็ก ไม่ว่าจะเป็นบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก แอปพลิเคชันแชตต่างๆ ชักจูงโน้มน้าวใจโดยการประกอบสร้างให้เห็นว่ามันไม่ได้เป็นปัญหาอะไร มีสิทธิ์ทำให้เด็กบางกลุ่มที่ภูมิต้านทานน้อย กำลังมีสารพัดปัญหารุมเร้าอยู่ หรืออยากทำงานสบายๆ หลงผิดได้
ดังนั้นจะต้องให้เด็กเรียนรู้ว่าสิ่งที่อยู่บนออนไลน์ มันมีความสูญเสียต่อชีวิตของเขาอย่างไร ยิ่งในเด็กเล็ก เมื่อเริ่มให้เขาเล่นอินเทอร์เน็ตได้ พ่อแม่ต้องอยู่กับลูก คอยดูว่าสิ่งที่เขาเห็นมันคืออะไร ต้องคอยชี้ให้เห็นว่าแบบนี้ดีหรือไม่ดี ให้เด็กเกิดการเรียนรู้
"สำหรับเด็กวัยรุ่นก็ต้องอย่าลืมนึกถึงผลที่จะตามมา อาจจะมองว่าเป็นการทำงานที่ง่าย ไม่ต้องไปเดินหาจากที่ไหน แต่ถ้าวันหนึ่งคุณอยากเลิก อยากเริ่มต้นชีวิตใหม่ คิดว่ามันเดินออกมาง่ายหรือไม่"
ผศ.สกุลศรี ยังกล่าวอีกว่า สื่อออนไลน์มักจะทำให้หล่อหลอมความคิดว่า ทุกอย่างมันได้มาง่ายๆ แม้กระทั่งจะเป็นคนดัง สร้างตัวตน เพียงแค่เราทำอะไรบางอย่างแล้วมีคนกดไลค์ ชื่นชม ก็จะรู้สึกว่าเรามีตัวตนแล้ว แต่ความจริงแล้ว ตัวตนนั้นจะส่งผลต่อชีวิตเราในระยะยาวอย่างไร มีผลกระทบกับอนาคตหรือไม่ นี่คือสิ่งที่จะต้องคิดเยอะๆ ก่อนการใช้สื่อออนไลน์ ซึ่งน่าจะเห็นบทเรียนตัวอย่างจากคลิปไลฟ์สดบนเฟซบุ๊กที่เป็นกระแสข่าวดังในก่อนหน้านี้
จากความเห็นข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า ยุคนี้มีครบทุกช่องทาง ทั้งสื่อ เทคโนโลยี โซเชียลเน็ตเวิร์กที่สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา รวมทั้งสิ่งยั่วยุมากมายจนทำให้เด็กอาจถูกชักจูงให้ทำในสิ่งที่ผิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสื่อโซเชียล ที่หากเด็กรู้ไม่เท่าทันก็อาจทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อ ถูกล่อลวงจนเกิดอันตรายได้ และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งจากหลายมุมมอง แล้วคุณล่ะ...คิดว่าผู้ร้ายคือใคร? สื่อ โซเชียล สังคมรอบข้าง หรือตัวเด็กเอง