นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานกรรมการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ (26 ก.ค.) พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ในภาคปฏิบัติที่ระบุว่า นายจ้าง บริษัท ห้างร้านรวมถึงส่วนราชการ ต้องหักรายได้ของลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ กยศ.และต้องนำส่งให้แก่กรมสรรพากรเช่นเดียวกับการหักภาษีหัก ณ ที่จ่ายของเงินเดือนในแต่ละเดือนนั้น จะยังไม่มีผลบังคับในทันที เนื่องจากต้องหารือกับนายจ้างและกรมสรรพากรให้เตรียมความพร้อม รวมถึงการพิจารณารายละเอียดของกฎหมายให้ชัดว่า การหักเงินจะครอบคลุมของการหักเงินเดือนของลูกหนี้รายเก่าของ กยศ.ด้วยหรือไม่
ขณะเดียวกัน ความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อยเพื่อขอรับสวัสดิการแห่งรัฐ นายสมชัยกล่าวว่า กรมบัญชีกลางได้สรุปความต้องการใช้เงินในโครงการดังกล่าวแล้ว โดยคาดว่าจะใช้วงเงินไม่เกิน 40,000 ล้านบาทในรอบแรก เช่น ค่ารถเมล์ ค่าน้ำและค่าไฟฟ้าฟรี โดยจะมีการกำหนดวงเงินที่ชัดเจนว่า ในแต่ละเดือนประชาชนที่ได้รับสวัสดิการจากรัฐมีสิทธิใช้เงินได้เท่าไหร่ เช่น รถเมล์ฟรีเดือนละไม่เกิน 600 บาท หากเกินกว่านั้นจะต้องออกค่าใช้จ่ายเอง แต่ในกรณีที่ใช้จ่ายไปเพียง 300 บาท ที่เหลือ 300 บาท ก็จะส่งคืนกลับกระทรวงการคลัง
“วงเงินงบประมาณ 40,000 ล้านบาทนี้ เป็นการคำนวณตัวเลขเบื้องต้นจากประชาชนที่คาดว่าจะได้รับสิทธิประมาณ 14 ล้านคน โดยคาดว่า ต้นเดือน ส.ค.นี้ จะเสนอมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้อย่างแน่นอน และกรมบัญชีกลางจะแจกบัตรสวัสดิการภายใน เดือน ส.ค.-เดือน ก.ย. เพื่อนำไปใช้ได้ทันในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ส่วนผู้มีรายได้ต่อปีต่ำกว่า 30,000 บาทนั้น จะเข้าข่ายโครงการในเฟสที่ 2 นอกเหนือจากสวัสดิการจากรัฐ อาจจะมีการเติมเงินให้ เช่น กรณีมีรายได้ 28,000 บาทต่อปีรัฐอาจจะเติมเงินให้ 2,000 บาท แต่ยังไม่มีข้อสรุป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด กรมบัญชีกลางได้เสนอกระทรวงการคลัง กรณีเงินสวัสดิการที่จะให้ประชาชน หลังจากได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ว่าจะให้ความช่วยเหลือสวัสดิการต่อคนต่อเดือนไม่เกิน 2,850 บาท โดยแบ่งเป็นค่ารถเมล์ไม่เกิน 600 บาท ค่าโดยสารรถไฟ 1,000 บาท ค่ารถโดยสารบริษัทขนส่งจำกัด (บขส.) 800 บาท ค่าไฟฟ้า 200 บาท ค่าน้ำประปา 150 บาท และค่าสินค้าร้านธงฟ้าประชารัฐ 100 บาท โดยจะเริ่มมีผล 1 ต.ค.2560 นี้.