หน้าแรกแกลเลอรี่

เจาะสังเวียนแข่งคิงส์คัพ 45! 'ราชมังคลากีฬาสถาน' สนามแห่งตำนาน

ไทยรัฐออนไลน์

11 ก.ค. 2560 08:00 น.

“ราชมังคลากีฬาสถาน” สนามกีฬาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผ่านประวัติศาสตร์มาอย่างโชกโชน และนี่คือสังเวียนตะบันแข้งของศึกฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 45 ที่ทัพช้างศึกเตรียมพร้อมที่จะป้องกันแชมป์...


การแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทาน คิงส์คัพ ครั้งที่ 45 เตรียมพร้อมจะตะบันแข้งกันในระหว่างวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2560 โดยมีทีมชาติไทย เป็นประเทศเจ้าภาพและเป็นแชมป์เก่ารายการนี้ จัดขึ้นกันที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน สนามฟุตบอลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยเช่นเคย โดยมี 4 ทีมลงทำการแข่งขัน นำโดย ทีมชาติไทย เจ้าภาพและแชมป์เก่า, บูร์กินาฟาโซ,​ เกาหลีเหนือ และ เบลารุส

โดยทัพช้างศึกที่นำโดย มิโลวาน ราเยวัช เฮดโค้ชเลือดเซิร์บกุมบังเหียนจะพบกับ เกาหลีเหนือ ในรอบรองชนะเลิศวันที่ 14 ก.ค.นี้ และหากผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศได้จะไปรอพบผู้ชนะระหว่าง บูร์กินาฟาโซ หรือ เบลารุส ในรอบชิงชนะเลิศวันที่ 16 ก.ค.

แต่ก่อนอื่นเรามาเจาะลึกประวัติของสนามราชมังคลากีฬาสถาน ซึ่งเป็นสนามกีฬาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยกันก่อน ความเป็นมาเป็นอย่างไร ทำไมถึงเป็นสนามหลักของทีมชาติไทยในปัจจุบัน

ราชมังคลากีฬาสถาน หรือภาษาอังกฤษ Rajamangala National Stadium ตั้งอยู่ที่เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย อยู่ภายในสนามกีฬาหัวหมากมีการกีฬาแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของ โดยสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม 2530 และ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พ.ศ. 2531

สนามกีฬายักษ์ใหญ่แห่งนี้ถูกยกให้เป็นสนามกีฬาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับที่ 55 ของโลก และเป็นอันดับที่ 17 ของเอเชีย ได้รับการออกแบบโดย รังสรรค์ ต่อสุวรรณ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2541 ก่อนจะเปิดตัวงานแรกในกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 โดย กรุงเทพมหานคร เป็นเจ้าภาพ โดยมีศักยภาพรองรับผู้เข้าชมภายในอาคาร จำนวน 80,000 คน และอัฒจันทร์จำนวน 49,722 ที่นั่ง โดยภายในมีสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน, ลู่วิ่ง,​ ลานกรีฑา รวมถึงสิ่งอำนายความสะดวกอื่นๆ ต่างๆ มากมาย

ประวัติความเป็นมาแรกเริ่มเดิมทีเมื่อปี พ.ศ. 2512 คณะรัฐมนตรีที่นำโดย นายกรัฐมนตรี จอมพล ถนอม กิตติขจร มีมติเห็นชอบด้วยกับโครงการจัดสร้างสนามกีฬาที่หัวหมาก ขนาดความจุ 1 แสนคน ด้วยงบประมาณ 40 ล้านบาท ซึ่งเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ตามที่องค์การส่งเสริมกีฬาแห่งประเทศไทยนำเสนอมา แต่ยังไม่มีการก่อสร้าง เนื่องจากไม่มีงบประมาณ

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2528 ไพบูลย์ วัชรพรรณ ผู้ว่าการ กกท.คนแรก เสนอของบประมาณ 500 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างสนามกีฬากลาง ขนาดความจุ 80,000 ที่นั่ง ภายในสนามกีฬาหัวหมาก เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา และใช้ในการแข่งขันกีฬาระดับชาติร่วมกับสนามศุภชลาศัย ซึ่งได้รับความเห็นชอบ โดยมอบหมายให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ออกแบบ และทำสัญญาจ้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัดวิวัฒน์ก่อสร้าง พร้อมทั้งจัดจ้าง บริษัท สยามซีเท็ค จำกัด เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2531 จนกระทั่งแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 รวมระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 2,443 วัน คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 630 ล้านบาท

ต่อมาในระยะที่ 2 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าให้ความร่วมมือตกแต่งรายละเอียด ทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม และระบบไฟส่องสว่าง ระบบเสียงเพิ่มเติม การติดตั้งเก้าอี้บนอัฒจันทร์ฝั่งมีหลังคา พร้อมราวกันตก โดยห้างหุ้นส่วนจำกัดช้างม่อยเฟอร์นิเจอร์ เป็นผู้รับจ้าง รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 550 ล้านบาท แต่ใช้วงเงินไปประมาณ 367 ล้านบาท และระยะที่ 3 ในช่วงก่อนเปิดการแข่งขัน กีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ประมาณ 1 เดือน คือการจัดทำตราสัญลักษณ์พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก และตัวอักษรแสดงชื่อสนามเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อติดตั้งบนกำแพงส่วนนอกอัฒจันทร์ฝั่งกระถางคบเพลิง การตกแต่งบริเวณส่วนที่ประทับ และส่วนที่นั่งประธาน รวมทั้งการทาสีภายในบางส่วน ตลอดถึงการสถาปัตยกรรมต่างๆ เป็นเงิน 8 ล้านบาท โดยรวมงบทั้ง 3 ระยะ เป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 1,188 ล้านบาท

หลังจากแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 เสร็จสิ้นแล้ว มีการปรับปรุงต่อเติม ที่ทำการสมาคมกีฬา, ห้องประชุม และสำนักงานฝ่ายต่างๆ ของ กกท.โดยรอบใต้ถุนอัฒจันทร์ ทำให้ยอดงบประมาณการก่อสร้างสนามแห่งนี้ รวมทั้งสิ้น 1,255,569,337 บาท ซึ่งในปัจจุบัน ใช้รองรับการแข่งขันฟุตบอลระหว่างประเทศที่สำคัญ รวมถึงการแข่งขันฟุตบอลถ้วยพระราชทาน และนัดกระชับมิตรของฟุตบอลทีมชาติไทย หรือสโมสรฟุตบอลของไทย กับฟุตบอลทีมต่างชาติ หรือสโมสรฟุตบอลจากต่างประเทศ เช่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, ลีดส์ยูไนเต็ด, เรอัล มาดริด, บาร์เซโลนา และเชลซี เป็นต้น

เหตุการณ์สำคัญของกีฬาในสนามราชมังคลากีฬาสถาน

• วันที่ 6 และ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2541 - พิธีเปิดและปิด การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13

• วันที่ 24 และ 31 ธันวาคม - พิธีเปิดและปิด การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 32

• วันที่ 6 และ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2547 - พิธีเปิดและปิด การแข่งขันฟุตบอลเยาวชนหญิงชิงแชมป์โลกอายุไม่เกิน 19 ปี 2004

• วันที่ 8 ถึง 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 - พิธีเปิดการแข่งขัน และการแข่งขันรอบ 8 ทีมสุดท้าย เอเชียนคัพ ครั้งที่ 14

• วันที่ 8 และ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2550 - พิธีเปิดและปิด การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน ครั้งที่ 24

• วันที่ 14 ถึง 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555 - เรซ ออฟ แชมเปียนส์ 2012

• วันที่ 10 และ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557 - เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014

• วันที่ 3 และ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2559 - ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 44

• วันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2559 - ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติอาเซียน 2016 นัดชิงชนะเลิศ

• วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2560 - ฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย – รอบที่ 3 ระหว่าง ไทย กับ ซาอุดีอาระเบีย

ทั้งนี้ สถานีไทยรัฐทีวีช่อง 32 เตรียมพร้อมยิงสดทุกนัดที่ทีมชาติไทยลงทำการแข่งขันในศึกคิงส์คัพ ครั้งที่ 45 คอฟุตบอลชาวไทยห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง...

ภาพและข้อมูลจาก Wikipedia