“กล้า คิดต่าง นวัตกรรม” สูตรสำเร็จธุรกิจนิวเจน

Business & Marketing

Marketing

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“กล้า คิดต่าง นวัตกรรม” สูตรสำเร็จธุรกิจนิวเจน

Date Time: 15 เม.ย. 2565 07:05 น.

Summary

  • ทุกวันนี้ การสร้างธุรกิจของคน “รุ่นใหม่” หรือ “นิวเจน” ไม่ได้ยึดติดอยู่กับ “ประสบการณ์” ที่ต้องสั่งสมมานานเหมือนคนรุ่นก่อนอีกแล้ว

Latest

แมคโดนัลด์เปิด 3 สาขาใหม่ในแหล่งท่องเที่ยวรับเทศกาลปีใหม่

ทุกวันนี้ การสร้างธุรกิจของคน “รุ่นใหม่” หรือ “นิวเจน” ไม่ได้ยึดติดอยู่กับ “ประสบการณ์” ที่ต้องสั่งสมมานานเหมือนคนรุ่นก่อนอีกแล้ว

หากแต่จะต้องมีความ “กล้า” ที่จะแตกต่าง และคิด “นอกกรอบ” เพื่อฉีกหนีจากความซ้ำซาก จำเจ แล้วยิ่งผสมผสานกับการใช้ “เทคโนโลยี” และ “นวัตกรรม” สร้างสรรค์ความแปลกใหม่ ที่ไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเคยทำมาก่อนด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้ธุรกิจเป็นที่น่าจดจำ และพูดถึงแบบปากต่อปาก

นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ และมาแรงในโลกยุคดิจิทัลทั้ง 4 ราย ที่ “ทีมเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษนี้ จะมาบอกเล่าจุดเริ่มต้นของความสำเร็จที่ไม่ธรรมดาของพวกเขา

“โอ้กะจู๋” ซื่อสัตย์ จริงใจ อินทรีย์

ชลากร เอกชัยพัฒนกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด เจ้าของร้านอาหารออร์แกนิกชื่อดังจากเชียงใหม่ แบรนด์ “โอ้กะจู๋” ที่ดังไกลมาถึงกรุงเทพฯ เล่าว่า จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ มาจากการคุยกันแบบเด็กมัธยม ระหว่างผม “อู๋” กับ “โจ้-จิรายุทธ ภูวพูนผล” ที่มีความฝันเหมือนกันว่าสักวันจะทำธุรกิจด้านเกษตรกรรมด้วยกัน เพราะครอบครัวเรามาจากอาชีพเกษตรกรรม

ชลากร เอกชัยพัฒนกุล
ชลากร เอกชัยพัฒนกุล

“เมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัยได้กลับมาคุยกันอีกครั้ง และได้คุยกับพ่อแม่ด้วยว่าจะทำธุรกิจร่วมกัน เป็นธุรกิจเกี่ยวกับเกษตรกรรม
ต่อยอดอาชีพของครอบครัว แต่เป็นแนวใหม่ เกษตรกรรุ่นใหม่ เน้นการปลูกผักออร์แกนิก (อินทรีย์) ที่ปลอดสารเคมี ไร้ยาฆ่าแมลง เพราะต้องการให้คนได้รับประทานของดี มีประโยชน์ ปลอดภัย เหมือนปรุงอาหารให้คนในครอบครัวทาน”

หลังจากคุยกันจนตกผลึกดีแล้ว เราลงมือทำด้วยเงินทุนก้อนแรก 50,000 บาท บนที่ดินของครอบครัว โดยสร้างโรงเรือนปลูกผัก เราปลูกทุกอย่างที่ทานได้ ฝึกฝน เรียนรู้การปลูกผักไปเรื่อยๆ จนนำไปสู่การเปิดคาเฟ่ หรือร้านอาหาร “โอ้กะจู๋” มาจากชื่อ “อู๋กะโจ้” ที่สลับพยัญชนะกันจนมาเป็น “โอ้กะจู๋”

ร้าน “โอ้กะจู๋” ใช้เวลา 11-12 ปีจากช่วงเริ่มต้นปี 53 ขยายสาขาทั้งที่เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ได้ถึง 14-15 สาขา หลังจากที่บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ได้ซื้อหุ้นแล้ว ได้ขยายสาขาต่อเนื่อง และมีสินค้าของร้าน ไปวางขายในร้านคาเฟ่ อะเมซอน ความสำเร็จในวันนี้ ผมมองว่า มาจาก “ความซื่อสัตย์ จริงใจ อินทรีย์”

“หมายความว่า ผักที่นำมาประกอบอาหาร เราปลูกแบบอินทรีย์ ต้องใช้เวลาและใส่ใจในการปลูก แล้วเก็บจากไร่สดๆมาเสิร์ฟเป็นเมนูของลูกค้า ให้ลูกค้าเห็นว่าสดจริง ปลูกแบบอินทรีย์จริง เพื่อแสดงความซื่อสัตย์ และจริงใจต่อลูกค้า”

นอกจากนี้ เรายังทำความเข้าใจกับผู้ปลูกผักให้ลดใช้สารเคมี และการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากร เช่น เชียงใหม่ ห้ามเผาขยะ ใบไม้ ทางร้านก็บอกให้ชุมชนรอบๆ เอามาให้เรา แล้วนำไปบดเป็นปุ๋ย ให้ชาวบ้านมารับกลับไป ถือเป็นการช่วยเหลือสังคมด้วย

แม้วันนี้ ธุรกิจประสบความสำเร็จดี แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ เราต้องผ่านความยากลำบากไม่น้อย เพราะอาชีพเกษตรกรไม่ “ร่ำรวย” และต้องเรียนรู้ประสบการณ์ ความผิดพลาดหลายรูปแบบ ความผิดพลาดถือเป็นบทเรียนที่ดีที่สุด อย่างสถานการณ์โควิด-19 ถือเป็นบทเรียนการทำธุรกิจท่ามกลางวิกฤติที่ดีที่สุดในตอนนี้

สำหรับยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมากในปัจจุบัน เราต้องปรับตัวให้ทัน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ล่าสุด เราร่วมมือกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำ “หุ่นยนต์” มาช่วยปลูกผัก เพื่อลดต้นทุน เพิ่มกำลังการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพให้องค์กร

“เราตั้งเป้าหมายที่จะสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน จากรุ่นสู่รุ่นไปหลายๆสิบปี เพราะ “อาหาร” เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทานเพียงแต่ต้องพัฒนาต่อยอดการผลิตไปเรื่อยๆ”

“บิทคับ” กล้าต่างไม่ฝืนเทรนด์โลก

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (Bitkub) แพลตฟอร์มซื้อขายเงินดิจิทัล เล่าถึงจุดเริ่มต้นธุรกิจว่า เริ่มต้นจากการเชื่อมโยง “ความเชื่อ” และ “โอกาส” เข้าด้วยกัน “บิทคับ” ก่อตั้งจากกลุ่มคนที่ยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และมีความเชื่อคล้ายกัน แต่แตกต่างจากความเชื่อของคนส่วนใหญ่ขณะนั้น ไม่มีใครเข้าใจเลย ซ้ำยังตั้งคำถามมากมายกับความเชื่อของเรา

จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา
จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา

“แต่ผมมองว่า สิ่งสำคัญในการเริ่มทำธุรกิจคือ การยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ และทำมันอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่ทำให้ผมผ่านมาได้คือ ความยืนหยัด อดทน การที่เราได้ทำอะไรด้วย passion อย่างแท้จริง ทำให้เรายืนระยะและต่อสู้กับอุปสรรคได้ แม้ในวันที่ไม่มีใครเข้าใจเราเลยก็ตาม”

จนถึงวันนี้ ผมได้พิสูจน์ให้คนอื่นๆเห็นแล้วว่า การเริ่มต้นธุรกิจจากความชอบ และเป็นธุรกิจที่คนส่วนน้อยมองเห็น แต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น จะทำให้คุณค้นพบโอกาสที่เหมาะสมกับตัวเอง

“ดังนั้น อย่ากลัวที่จะมีความคิดที่แตกต่าง หากความแตกต่างนั้นเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ก็จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น”

อีกทักษะที่สำคัญมากของผู้นำองค์กรคือ การจับจังหวะทางธุรกิจ ต้องดูเทรนด์โลกว่าจะไปทางไหน อย่าทำอะไรสวนทางกับสิ่งที่ทั้งโลกกำลังไปทางนั้น ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และเปิดใจในทุกๆวัน

นอกจากนี้ การที่ผมค้นพบสิ่งที่ตัวเองมี passion และมีความเชื่อต่อสิ่งนั้นมากพอ จะทำให้อดทนต่อปัญหาทุกรูปแบบ และเรียนรู้ที่จะมองกลับไปที่ต้นตอของปัญหา ค้นหาข้อบกพร่อง และพร้อมแก้ไข “ยิ่งเรามีความเชื่อ และวางเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ไว้ชัดเจน เราจะยินดีอดทนรับความเจ็บปวดเหล่านั้น เพื่อไปให้ถึงจุดที่เราหวังไว้ หากเรามีความมุ่งมั่นและอดทน จะชนะได้ทุกอุปสรรค”

ที่สำคัญ มี Skill Set อย่างหนึ่งที่ผมพูดถึงเสมอคือ “AQ” (Adaptive Quatient) หรือความสามารถในการปรับตัว จำเป็นมากๆสำหรับโลกยุคปัจจุบัน “กลุ่มบิทคับ” เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลก และปรับตัวทันกระแสเปลี่ยน แปลง จึงอยู่ในธุรกิจที่เป็นขาขึ้นอย่างถูกที่ ถูกเวลา

และหากต้องให้คำแนะนำนักธุรกิจรุ่นใหม่ สิ่งที่ผมจะบอกคือ “จงวางเป้าหมายที่ใหญ่ ที่สามารถส่งต่อโอกาสสู่ผู้คนได้ และยืนระยะให้ได้” ที่แนะนำแบบนี้ เพราะครั้งหนึ่ง ผมเคยทำบริษัทหนึ่งสำเร็จและขายไปแล้ว แม้ได้เงินมากพอ แต่รู้สึกว่างเปล่า เหมือนมีบางอย่างค้างคาใจว่ายังไม่ได้ทำ พอมีโอกาสกลับมาทำ “บิทคับ” จึงตั้งเป้าหมายว่า อยากให้บริษัทยั่งยืน เป็นโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นที่ที่สร้างแรงงานทักษะด้านดิจิทัลให้กับประเทศ และสร้างผู้ประกอบการใหม่ให้กับวงการสตาร์ตอัพไทย

“การวางเป้าหมาย ที่มองเพียงความสำเร็จของตัวเอง เมื่อไปถึงจุดนั้นแล้ว มันอาจไม่มีความหมายเลย หรือมีความหมายน้อยมาก แต่การวางเป้าหมายที่ไกลออกไปจากตัวเอง มองเห็นผลประโยชน์โดยรวมของสังคม มีคุณค่า และมีพลังทำให้เราทำอะไรใหญ่ขึ้น และไปได้ไกลมากกว่าเดิม”

“PARKPLUS” ทำสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำ

อภิราม สีตกะลิน” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปาร์ค พลัส จำกัด ผู้บุกเบิก “ที่จอดรถอัจฉริยะ” เจ้าแรกของไทย ภายใต้ชื่ อ PARKPLUS และต่อยอดมาเป็น “park2go” แอปพลิเคชันช่วยหาที่จอดรถและจองที่จอดรถ เล่าว่า ธุรกิจที่จอดรถอัจฉริยะ เกิดขึ้นเมื่อ 9-10 ปีที่ผ่านมา ในยุคนั้นธุรกิจก่อสร้างคอนโดมิเนียมขายบูมสุดขีด เลยอยากจะสร้างคอนโดฯ แต่คิดไปคิดมา พบว่าถ้าเราทำ จะสู้รายใหญ่ไม่ได้

อภิราม สีตกะลิน
อภิราม สีตกะลิน

ขณะเดียวกัน เมื่อได้ศึกษาลึกลงไป พบว่า แต่ละคอนโดฯมีปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอกับผู้อยู่อาศัย เพราะแต่ละคอนโด มีที่จอดรถเพียง 25% เท่านั้น เลยมาคิดว่า ทำไมเราไม่ทำธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่มีใครในประเทศไทยเคยทำ อย่าง “ที่จอดรถแบบคอนโด” หรือที่เรียกว่า “ที่จอดรถอัจฉริยะ”

จากนั้นเริ่มต้นศึกษา และดูงานในหลายๆประเทศ ในที่สุดก็เริ่มทำแบบจริงจัง เริ่มจากรับออกแบบที่จอดรถแบบคอนโดฯตั้งแต่ 2 คันไปจนถึงหลักพันคัน ปัจจุบันบริษัทรับทำทั้งการออกแบบ ให้บริการด้านการบริหารจัดการ และเข้าร่วมทุน รวมถึงรับจ้างก่อสร้างและบริหารจัดการในคราวเดียวกัน

แม้ต้นทุนสร้างที่จอดรถอัจฉริยะแพงกว่าปกติเกือบเท่าตัว เช่น ที่จอดรถบนอาคาร 1 ช่อง ประมาณ 300,000 บาท แต่ที่จอดรถอัจฉริยะ 500,000-600,000 บาท แต่ลูกค้าสนใจจำนวนมาก ทั้งอาคารสำนักงาน คอนโดฯชั้นนำ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ เพราะแก้ปัญหาที่จอดรถได้เป็นอย่างดี

“จนถึงวันนี้ 9 ปีแล้ว เราเป็นเจ้าแรกที่ทำธุรกิจนี้ ทำมากว่า 50 โครงการ มูลค่ารวมกว่าหมื่นล้านบาท มีรายได้เริ่มต้นจากปีละไม่กี่ล้านบาท มาเป็นสิบล้าน ร้อยล้าน และ 500 ล้านบาทใน 3 ปี จนวันนี้มีรายได้กว่าพันล้านบาท ยอดขายเติบโตทุกปี มากกว่าปีละ 10% แม้ปัจจุบันมีบริษัทที่เข้ามาทำตลาดกว่า 10 บริษัท แต่บริษัทเรายังคงได้รับความไว้วางใจจากพาร์ตเนอร์”

หากจะถามว่า ธุรกิจประสบความสำเร็จหรือไม่ ผมต้องบอกว่าสำเร็จมาก เพราะตอนเริ่มต้นจับธุรกิจ ผมอายุเพียง 25 ปี ช่วงแรกมีปัญหาบ้าง แต่ก็แก้ไปได้ ประกอบกับเป็นเรื่องใหม่ที่นำเทคโนโลยีมาจับ แถมแก้ปัญหาคนเมืองได้ถูกจุด ก็ยิ่งได้รับการตอบรับอย่างดี

ผมมองว่า สิ่งที่ทำให้ธุรกิจประสบสำเร็จ สำคัญที่สุดคือ เราต้องมี “ความฝัน” สิ่งที่ผมฝันคือ ทำในสิ่งที่ไม่มีใครทำในประเทศมาก่อน และเมื่อฝัน เราก็ต้องหาโอกาสให้กับตัวเอง เมื่อมีโอกาสต้องรีบทำทันที ขณะเดียวกัน ต้องเรียนรู้ พัฒนา ต่อยอดทางเทคโนโลยี เพื่อทำให้ธุรกิจเราสำเร็จ

“การทำธุรกิจกว่าจะประสบความสำเร็จ ทุกคนย่อมต้องเคยประสบปัญหา และมีข้อผิดพลาด ผมเองก็เรียนรู้ว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน การไว้ใจมากเกินไป นำไปสู่ข้อผิดพลาด แม้กระทั่งตัวเราเองก็ไว้ใจไม่ได้ ดังนั้น การทำงาน หัวใจหลักจะต้องมีแผนสำรอง 2–3 แผนเสมอ การทำธุรกิจ ผมวางแผนทุกอย่าง เหมือนเล่นหมากรุก”

“สุกี้ตี๋น้อย” อร่อยไม่อั้นเที่ยงวันยันตีห้า

นัทธมน พิศาลกิจวนิช” หรือ “เฟิร์น” กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด เจ้าของ “สุกี้ตี๋น้อย” บุฟเฟต์ชาบูน้องใหม่ที่โด่งดังอย่างรวดเร็ว ด้วยจุดขายที่โดดเด่น “เที่ยงวันยันตีห้า” และราคาถูกกว่าแบรนด์อื่นๆในตลาด บอกเล่าจุดเริ่มต้นว่า เดิมครอบครัวทำธุรกิจร้านอาหาร “เรือนปั้นหยา” เมื่อเรียนจบจากต่างประเทศ มาทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศ พอทำไปสักพัก รู้สึกว่า ตื่นมาไม่ตื่นเต้นกับการทำงาน การเป็นพนักงานออฟฟิศไม่ตอบโจทย์ เราไม่ได้พัฒนาตัวเอง ไม่มีความท้าทาย เราเป็นคนที่ชอบคิดถึงอนาคตมาตั้งแต่เด็ก ว่าจะทำอะไร วางเป้าหมายชีวิตชัดเจน

นัทธมน พิศาลกิจวนิช
นัทธมน พิศาลกิจวนิช

จากเหตุการณ์นี้ จึงปรึกษาคุณพ่อว่าอยากทำร้านอาหารบ้างคุณพ่อก็บอกว่าไม่ง่าย แล้วอธิบายว่า ปัญหามีอะไรบ้าง เมื่อฟังเราก็เอาโจทย์ไปคิดว่าถ้าจะทำร้านอาหาร อาหารประเภทไหนจะเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่ม และกินได้ทั่วประเทศ จนมาตกผลึกว่าทำร้านสุกี้ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มของ “สุกี้ตี๋น้อย” ส่วนสูตรน้ำจิ้ม “ทีเด็ด” ของร้าน ได้พ่อครัว แม่ครัวจากร้านอาหารของที่บ้านมาช่วยปรับสูตรให้ จนถูกปากคนไทย

“ร้านสุกี้ตี๋น้อย เริ่มต้นปี 62 สาขาแรกที่บางเขน สาขา 2 เลียบทางด่วน เพียงปีแรกมีรายได้กว่า 499 ล้านบาท พอปี 63 รายได้โตแบบก้าวกระโดด 100% มาที่กว่า 1,200 ล้านบาท ทำให้ในปีที่ 3 ขยายสาขาเพิ่มเป็น 23 สาขา เพื่อรองรับลูกค้าให้ครอบคลุมทุกพื้นที่มากขึ้น และมาถึงวันนี้ปี 65 ขยายสาขาถึง 36 สาขาทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล”

นอกจากนี้ ยังได้นำนวัตกรรม หรือ “หุ่นยนต์” มาเสิร์ฟอาหารร่วมกับพนักงาน เพื่อเพิ่มความสะดวก สบาย และรวดเร็วในการให้บริการ เพิ่งเริ่มต้นได้ประมาณ 6 เดือนใน 24 สาขา ที่หุ่นยนต์เดินได้สะดวกก่อน ถือเป็นอีกจุดขายหนึ่ง ที่ลูกค้าชื่นชอบมาก

สำหรับ “จุดเด่น” ของร้าน ที่ทำให้คนรู้จักได้ระยะเวลาสั้นๆ เฟิร์นมองว่า ร้านของเราเป็นสแตนด์ อโลน มีที่จอดรถโอ่โถง อาหารสด บริการเสิร์ฟถึงโต๊ะ บรรยากาศในร้านนั่งสบาย ติดแอร์ ส่วนราคาไม่ต้องพูดถึง ทุกกลุ่มเป้าหมายจับต้องได้ ที่สำคัญไม่ว่าหิวตอนไหน ดึกดื่นอย่างไร ก็มากินได้ เพราะเปิดเที่ยงวันถึงตี 5

อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่น และขยายสาขาได้จำนวนมาก แต่เฟิร์นกลับไม่ได้มองว่าตัวเองประสบความสำเร็จ เนื่องจากธุรกิจร้านสุกี้ มีการแข่งขันสูง และสุกี้ตี๋น้อยไม่ได้เป็นเจ้าแรกในตลาด การทำงานทุกอย่างย่อมมีข้อผิดพลาด และเกิดปัญหาได้ แต่เราพร้อมที่จะสู้ เพราะการทำธุรกิจทุกอย่างยังต้องมีการพัฒนาต่อไป

“ปัญหาเกิดขึ้นในทุกๆวัน ทั้งเรื่องวัตถุดิบ ต้นทุน พนักงานและการบริการ แต่เฟิร์นชอบการบริหารงาน และชอบแก้ปัญหา เพราะเป็นสิ่งที่ท้าทาย หากทุกอย่างแก้ไขได้ และนิ่งเป็นระบบ จะเป็นฐานในการก้าวต่อไปอย่างแข็งแกร่งของสุกี้ตี๋น้อยโดยเฉพาะการเปิดแฟรนไชส์ในอนาคต”.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ