S&P เดินเกมขนมไหว้พระจันทร์กินได้ทั้งปี พร้อมปรับขยายช่องทางการขาย เพิ่มรสใหม่ๆ ตอบโจทย์คนกลุ่มใหม่ คาดภาพรวมการขายปี 64 ดีขึ้นกว่าปี 63
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 64 นายอรรถ ประคุณหังสิต ประธานเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการธุรกิจเอส แอนด์ พี บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ SNP กล่าวว่า จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ประเมินว่า ตลาดขนมไหว้พระจันทร์ หรือ Moon Cake ในปี 2563 มีมูลค่าประมาณ 800 ล้าน หดตัว 15.7% เมื่อเทียบกับปี 62 เนื่องจากผลกระทบจากโควิดที่ทำให้กำลังซื้อหดตัว ซึ่งถือว่ายอดขายตกลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี
นอกจากนี้ ยังพบว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อขนมไหว้พระจันทร์ไปเพื่อรับประทานเอง 39.2% ซื้อเพื่อไหว้เจ้า 33.5% ซื้อเป็นของฝากเพื่อนและญาติๆ 23.3% และลูกค้าองค์กรประมาณ 4% ขณะเดียวกันยังพบว่า ผู้บริโภคลดจำนวนการซื้อขนมไหว้พระจันทร์ลงถึง 77.6% เลือกซื้อในราคาที่ถูกกว่า 19% และเป็นเหตุผลอื่นๆ 3.4%
ขณะเดียวกัน กลยุทธ์การปรับตัวในปี 63 นั้นพบว่า ผู้ประกอบการได้พัฒนาขนมไหว้พระจันทร์รสชาติใหม่ๆ หรือจับกลุ่มผู้รักสุขภาพ เน้นการทำการตลาดด้านราคา การจัดโปรโมชัน การแจกสินค้าทดลอง และใช้การสื่อสารด้วยบรรจุภัณฑ์ รวมถึงพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายทั้ง online และ offline เพื่อให้ใกล้ชิดผู้บริโภคให้มากขึ้น
สำหรับตลาดขนมไหว้พระจันทร์ในปี 64 เราคาดว่าแนวโน้มการเติบโตอยู่ในทิศทางที่ดี โดยคาดว่าในปี 65 ตลาดขนมไหว้พระจันทร์จะมีมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาทเลยทีเดียว เพราะปัจจุบันขนมไหว้พระจันทร์ เป็นขนมที่สามารถหารับประทานได้ตลอดทั้งปี ไม่จำเป็นต้องเป็นช่วงเทศกาลเท่านั้น โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสามารถทำยอดขายได้ราว 200-300 ล้านบาทเลยทีเดียว
นายอรรถ กล่าวอีกว่า ในส่วนของ S&P ก็เช่นกันจะเห็นได้ว่า ขนมไหว้พระจันทร์ของ S&P สามารถหาทานได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะเป็นหน้าร้าน หรือแม้กระทั่งร้านสะดวกซื้อ ขณะเดียวกันเราก็ได้พัฒนาเมนูใหม่ ไส้ใหม่เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทั้งกลุ่มคนรุ่นเก่า และคนรุ่นใหม่ โดยเรามีขนมไหว้พระจันทร์ ถึง 14 รสชาติ หรือ 19 ไส้
ล่าสุด S&P ได้เปิดตัวขนมไหว้พระจันทร์ 2 รสชาติใหม่ในปี 64 ได้แก่ ขนมไหว้พระจันทร์ไส้หมอนทองเก๋ากี้ไข่เค็มลาวา และขนมไหว้พระจันทร์ไส้หมูฮ่องเต้ซอสเอ๊กซ์โอ เพื่อเปิดตลาดและจับกลุ่มคนรุ่นใหม่ๆ ส่วนไส้ที่ขายดีที่สุดของ S&P ได้แก่ ไส้โหงวยิ้ง ซึ่งผลิตเท่าไรก็ไม่เพียงพอ และหมดก่อนหน้าเทศกาลไหว้พระจันทร์ทุกปี โดยทาร์เก็ตคนกลุ่มที่ชอบไส้โหงวยิ้ง คือลูกค้ากลุ่มอายุ 40-50 ปี ซึ่งถือเป็นทาร์เก็ตใหญ่ของ S&P
นอกจากนี้ การแข่งขันด้านบรรจุภัณฑ์ก็สำคัญ โดยช่วงหลายปีที่ผ่านมาตลาดต่างประเทศ เช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ ขนมไหว้พระจันทร์ไม่ได้แข่งขันกันที่รสชาติเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ด้วย เพราะส่วนใหญ่จะซื้อขนมไหว้พระจันทร์ไปเป็นของฝากให้ญาติผู้ใหญ่แทนการซื้อไปไหว้เจ้า ซึ่งประเทศไทยก็เริ่มเป็นเช่นนั้นเช่นกัน
ขณะเดียวกัน S&P ยังได้ขยายช่องทางการขายขนมไหว้พระจันทร์ ที่หลากหลายและมากที่สุดในประเทศไทย ผ่านตลาดนัด เอส แอนด์ พี จำนวน 130 สาขาทั่วประเทศ ร่วมมือกับพันธมิตรองค์กรต่างๆ อาทิ ธนาคาร SCB, KTC, BBL, Krungsri เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ AIS, TRUE, Dtac รวมถึงการขายสินค้าช่องทางอีคอมเมิร์ซผ่าน LAZADA, Shopee
นอกจากนี้ยังวางจำหน่ายที่ Tops Supermarket และ Tesco Lotus อีกประมาณ 30 แห่ง ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์ของเรา รวมถึงขยายพื้นที่การจัดส่งขนมไหว้พระจันทร์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยจับมือกับพันธมิตร อาทิ GrabFood, Line Man, Foodpanda, 1112Delivery อีกด้วย