คาดปีนี้ไทยส่งออกข้าวได้อย่างเก่ง 4.5–5 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมาย 6 ล้านตัน และต่ำกว่าปีก่อนที่ได้ 5.7 ล้านตันหลัง4 เดือนแรกปีนี้พลาดเป้าทุกเดือน เหตุยังมีปัญหาเดิมราคาสูงกว่าคู่แข่งทำแข่งขันยาก โดยข้าวขาวถูกอินเดียแย่งตลาด ส่วนข้าวหอมมะลิเวียดนามแย่งตลาด จวกรัฐใช้เงินแสนล้านพยุงราคา แต่ไม่วิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวให้ดีขึ้นระยะยาวแข่งขันยาก
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า การส่งออกข้าวไทยปีนี้ยังคงเผชิญกับวิกฤติ และคาดว่าทั้งปี 64 จะส่งออกได้เพียง 4.5-5 ล้านตัน น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6 ล้านตันเนื่องจากช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ส่งออกได้ต่ำกว่าเป้าหมายทุกเดือน หรือเพียงแค่ 1.5 ล้านตันเท่านั้น จากเป้าหมายที่ตั้งไว้จะส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 500,000 ตัน หรือรวม 4 เดือนต้องได้ 2 ล้านตัน สำหรับการส่งออกที่ลดลงนั้นเป็นการลดลงของการส่งออกข้าวขาว และข้าวหอมมะลิ เพราะราคาข้าวไทยสูงกว่าคู่แข่ง ขณะที่คุณภาพไม่แตกต่างกันนัก
สำหรับตลาดข้าวขาวไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกให้กับอินเดียเกือบหมด เพราะข้าวอินเดียมีราคาถูกกว่าข้าวไทยถึงตันละ 80-100 เหรียญสหรัฐฯ ล่าสุดราคาข้าวขาวไทยตันละ 480 เหรียญฯ แต่อินเดียเพียงตันละ 400เหรียญฯเท่านั้น ขณะที่ผลผลิตข้าวของอินเดียปีนี้มีมาก ซึ่งน่าจะทำให้ปีนี้ อินเดียส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมายที่ 16 ล้านตัน จากปี 63 ที่ส่งออกได้อันดับ 1ของโลกที่ 14.5 ล้านตัน จึงย่อมส่งผลกระทบต่อข้าวไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ไทยส่งออกได้เพียง 5.7 ล้านตัน
ขณะที่ข้าวหอมมะลิไทยเสียตลาดให้เวียดนาม โดยเฉพาะตลาดฮ่องกง ที่ข้าวไทยเคยเสียตลาดมาก่อนหน้านี้แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาไทยกลับมาแย่งส่วนแบ่งตลาดคืนได้ แต่ล่าสุดก็เสียไปอีกแล้วเพราะข้าวหอมเวียดนาม หรือข้าวพันธุ์เอสที พัฒนาคุณภาพขึ้นเร็วมาก โดยอาศัยกระบวนการวิจัยและพัฒนาให้มีเมล็ดยาว หอม นุ่ม และหวาน อีกทั้งยังมีราคาถูกกว่าไทย ซึ่งปัจจุบันแม้ราคาข้าวหอมมะลิไทยจะลดลงมาก จากเคยขายตันละ 1,100-1,200 เหรียญฯ เหลือเพียงตันละ 750-800 เหรียญฯ แต่ข้าวหอมเวียดนามก็ยังขายถูกกว่าที่ตันละ 580 เหรียญฯเท่านั้น
“ด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้โอกาสที่ข้าวไทยจะแข่งขันยิ่งยากขึ้นไปอีก เพราะทั่วโลกต้องการข้าวที่ไม่แพงนัก สวนทางกับราคาข้าวไทยที่สูงกว่าคู่แข่งขันมาก เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงกว่าชาติอื่น เช่น ผลผลิตต่อไร่ของข้าวไทยเพียง 450 กิโลกรัม (กก.) ต่อไร่ ขณะที่เวียดนาม900-1,000 กก.ต่อไร่ อินเดีย 800 กก.ต่อไร่ นอกจากนี้ การวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวในประเทศก็มีน้อยมากไม่สามารถพัฒนาคุณภาพข้าวไปแข่งขันกับต่างชาติได้”
นายชูเกียรติกล่าวต่อถึงแนวโน้มการส่งออกข้าวไทยครึ่งหลังปี 64 ว่า น่าจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก เพราะปีนี้สภาพอากาศเหมาะสมกับการปลูกข้าว ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังมีมากขึ้น และทำให้ราคาข้าวในประเทศโดยรวมถูกลง ซึ่งจะส่งผลให้แข่งขันด้านราคากับข้าวคู่แข่งได้ นอกจากนี้ยังได้รับผลดีจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง รวมถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ซื้อข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับอินโดนีเซีย 1 ล้านตัน ระยะเวลา 4 ปี แต่อินโดนีเซียได้เลื่อนนำเข้าไปเป็นช่วงเดือน มิ.ย.64 หากอินโดนีเซียสั่งซื้อจริงจะช่วยกระตุ้นยอดส่งออกข้าวไทยได้มาก เพราะเป็นการซื้อลอตใหญ่
“ภาพการแข่งขันส่งออกข้าวไทยในระยะยาวยังน่าเป็นห่วง เพราะข้าวไทยไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้เลย เห็นได้จากปริมาณการส่งออกที่ถดถอยลงทุกปี จากก่อนหน้านี้ไทยเคยส่งออกได้ปีละ 9-10 ล้านตัน เป็นอันดับ 1 ของโลก แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 5-6 ล้านตัน เพราะรัฐบาล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ เน้นใช้งบประมาณเป็นแสนล้านบาทเพื่อดูแลกลไกราคาเพียงอย่างเดียว แต่กลับไม่ได้วางแผนพัฒนาผลผลิต และเพิ่มคุณภาพให้ข้าวไทย ทำให้คุณภาพเหมือนเดิมผลผลิตต่อไร่ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้นและแข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้.