หลังจากพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ที่ผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 62 โดยได้เปิดช่องให้กัญชา และพืชกระท่อม นำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และปลดล็อกให้นำส่วนต่างๆ ของกัญชาและกัญชง ยกเว้นช่อดอกและเมล็ดไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้โดยไม่ถือว่าเป็นยาเสพติด ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.63 นั้น
ได้สร้างความชุ่มฉ่ำใจให้ธุรกิจหลากหลาย ที่กำลังตระเตรียมนำสารสกัดจากกัญชาและกัญชงไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ คึกคัก ร้อนแรงถึงขนาดที่ว่าบริษัทไหน แบรนด์ใด โดยเฉพาะที่กระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ออกข่าวการลงทุนพัฒนาสินค้าเกี่ยวกับกัญชา กัญชง ราคาหุ้นในตลาดฯ ก็จะปรับตัวขึ้นในทันที
ข้อมูลล่าสุดจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ระบุ ขณะนี้มีผู้ประกอบการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร ที่เกี่ยวข้องกับกัญชาและกัญชงแล้ว 31 คำขอ แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ 6 คำขอ, ผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ 4 คำขอ, เวชภัณฑ์ที่มีสารสกัดเป็นสารออกฤทธิ์ 3 คำขอ, เครื่องจักรและกรรมวิธีการสกัดจากกัญชา 11 คำขอ, อุปกรณ์หรือชุดทดสอบสารสกัดจากกัญชา 3 คำขอ, ผลิตภัณฑ์ปล่อยสารระเหยจากกัญขา 2 คำขอ และผลิตภัณฑ์ของใช้ในบ้านที่มีกัญชงเป็นองค์ประกอบ 2 คำขอ โดยล่าสุดกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้รับจดทะเบียนและออกอนุสิทธิบัตรไปแล้ว 2 คำขอ คือ กระถางผ้าเพาะปลูก และชุดเครื่องจักรสกัดน้ำมันกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์
อย่างไรก็ตาม นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มหลายราย เริ่มทยอยยื่นคำขอจดสิทธิบัตรอาหารและเครื่องดื่มต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว แต่กว่าจะผลิตอาหารและเครื่องดื่มออกขายได้จริง ต้องรอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ออกระเบียบเกี่ยวกับการกำหนดปริมาณของสารในกัญชาและกัญชง ที่จะใช้ในอาหารและเครื่องดื่ม เพราะผู้บริโภคแต่ละคน สามารถรับสารที่ให้ความเมาในกัญชาและกัญชงได้ไม่เท่านั้น บางคนรับได้นิดเดียวก็เมาแล้ว แต่บางคนรับได้มากกว่า อย.จึงต้องกำหนดปริมาณการใช้ให้ชัดเจน
“แต่กัญชงน่าจะนำมาทำอาหารและเครื่องดื่มได้ง่ายกว่ากัญชา เพราะมีปริมาณสารที่ให้ความเมาน้อยกว่ากัญชา สำหรับการใช้ใบสด ขณะนี้ เริ่มเห็นร้านอาหาร ร้านเบเกอร์รี่ ร้านขนม นำใบกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารและเครื่องดื่มบ้างแล้ว คาดว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และน่าจะทำให้มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีพืช 2 ชนิดนี้เป็นส่วนผสม เพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากมูลค่าตลาดรวมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ”
ข้อมูลจากบริษัท สเปเชียลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ จำกัด (SNP) ผู้ผลิตสารสกัดสมุนไพรที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ระบุ กัญชาและกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ โดยเฉพาะกัญชง ซึ่งปัจจุบันมีการปลดล็อกเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองได้
สเปเชียลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ ให้ข้อมูลว่า กัญชง (Hemp) สามารถนำมาใช้ประโยชนได้ทุกส่วนและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้มากมายหลากหลาย เริ่มตั้งแต่อุตสาหกรรมสิ่งทอที่นำเส้นใยมาผลิตเป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และยังสามารถนำไปใช้ใน อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ผลิตเยื่อกระดาษ วัสดุหีบห่อ ไบโอพลาสติก ทำอิฐหรือคอนกรีตสำหรับงานก่อสร้าง ทำส่วนประกอบรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและความงาม เป็นต้น
นอกจากนั้น น้ำมันจากเมล็ดกัญชง (Hemp Seed Oil) ยังสามารถใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เสริมความงาม บำรุงสุขภาพ เนื่องจากในน้ำมันเมล็ดกัญชง มีโอเมก้า 3, 6 และ 9 ซึ่งช่วยซ่อมแซมผิวและเสริมสร้างเกราะป้องกันให้ผิวสามารถกักเก็บความชุ่มชื้นได้ยาวนาน และช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น
โอเมก้าในน้ำมันกัญชงยังช่วยลดการอักเสบของผิวได้ ลดการเกิดของสิว ช่วยปรับการสร้างน้ำมันของผิว ช่วยลดร้ิวรอยเหี่ยวย่น ชะลอวัย โดยสามารถนำมาผลิตเป็นเครื่องสำอางกัญชง สบู่น้ำมันเมล็ดกัญชง แชมพูน้ำมันเมล็ดกัญชง โลชั่นบำรุงผิว ลิปบาล์ม เซรั่มลดเลือนริ้วรอย เจลแต้มสิว และครีมรักษาโรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น
นอกจากประโยชนด้านความงามแล้ว น้ำมันจากเมล็ดกัญชง ยังสามารถนำมาปรุงอาหาร และใช้ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากน้ำมันจากเมล็ดกัญชง มีโอเมก้า - 6 สูงมาก เทียบได้กับ Chia Seed หรือ Flax Seed นอกจากนั้นยังมีโอเมก้า -3, linoleic acid และ oleic acid รวมไปถึงสารในกลุ่มวิตามินที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งวิตามินอีและโอเมก้า รวมไปถึงโปรตีน จึงสามารถนำไปทำเป็นอาหารได้หลากหลาย เช่น คุกกี้ ขนมปัง เบียร์ ไวน์ ซอส น้ำมันพืช ชีส เนย นม ไอศกรีม น้ำมันสลัด เต้าหู้ โปรตีนเกษตร
ส่วนในอุตสาหกรรมการเกษตร สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ย อาหารสัตว์ หรือผลิตเป็นพลังงานชีวมวลในรูปแบบต่างๆ เช่น ถ่านไม้ แอลกอฮอล์ น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น ขณะที่แกนของต้นกัญชง มีคุณสมบัติดูดซับกลิ่น น้ำ หรือน้ำมัน จึงมีการปลูกต้นกัญชงเพื่อดูดซับกัมมันตภาพรังสีอีกด้วย
กัญชง(Hemp)ต่างจากกัญชา(Marijuana)ตรงที่กัญชงมีสาร CBD (Cannabidiol)สูง แต่มีสารออกฤทธิ์กระตุ้นประสาทหรือสารเสพติด(Tetrahydrocannabinol:THC)น้อยมาก ขณะที่ในช่อดอกกัญชามีค่า THC ประมาณ 1-10% แต่ในกัญชงมีค่า THCประมาณ 0.3%
CBD ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาท การบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มี CBD จึงไม่ทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มและจิตใจเลื่อนลอย CBD ยังถูกนำมาใช้ในการรักษาโรค บรรเทาอาการเจ็บป่วย ต่างๆ เช่น ทำให้ผู้ป่วยอยากอาหารมากขึ้น ลดความวิตกกังวล ทำให้หลับได้ดี บรรเทาอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบและระงับอาการคลื่นไส อ้าเจียน โดย CBD นั้น สกัดมาจากต้นกัญชงเพศเมีย
สเปเชียลตี้ เนเชอรัล โปรดักส์ เปิดเผยผลการวิจัยว่า CBD มีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์มากมาย สาร CBD จะมีฤทธิ์ในการต้านและลดอาการปวด ต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยทำให้ผ่อนคลาย สมองปลอดโปร่ง รวมถึงช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย จึงสามารถนำไปใช้กับผู้ที่มีอาการเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการนอน ผู้ที่มีอาการอักเสบในร่างกาย ไมเกรน รวมทั้งผู้มีปัญหาเรื่องผิวหนัง สามารถลดอาการแพ้ ผื่นแดง สะเก็ดเงิน นอกจากนั้นยังช่วยผู้ที่มีอาการลมชัก ผู้ที่ต้องการเลิกเหล้า
ในระดับโลก บิ๊กแบรนด์เครื่องสำอางชั้นนำหลากหลายแบรนด์ ต่างออกผลิตภัณฑ์ที่ใช้สารสกัดจากกัญชา-กัญชง เร่ิมจากเอสเต ลอเดอร์ (Estee Lauder) ซึ่งเปิดตัวมาสก์หน้าที่มีส่วนผสมของน้ำมันเมล็ดกัญชง ภายใต้แบรนด์ออริจินส์ (Origins) เมื่อปลายปี 2561 ขณะที่ลอรีอัล (Loreal) วางจำหน่ายโลชั่น ครีมนวดผม ลิปบาล์ม มอยส์เจอไรเซอร์ เช่นเดียวกับคีลส์ (Kiehl’s) วางจำหน่ายน้ำมันบำรุงผิวหน้า ด้วยสรรพคุณลดรอยแดงและรักษาความชุ่มชื้น
ส่วนในประเทศไทย น.ส.นันทวรรณ สุวรรณเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทดู เดย์ ดรีม จำกัด(มหาชน)ผู้หรือ DDD ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สเนลไวท์ อุปกรณ์ตกแต่งทรงผมเลอซาช่าและยาสีฟันสปาร์คเคิล เปิดเผยว่า ดูเดย์ดรีมมองการเปิดตัวสินค้าจากน้ำมันเมล็ดกัญชงอย่างเร็วภายในกลางปีนี้ แต่ทั้งหมดทั้งปวง ต้องมีความมั่นใจว่าผลิตภัณฑ์จะดีที่สุด และเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง จึงจะไม่รีบร้อนหากยังไม่พร้อมเต็มที่ และจำเป็นต้องผ่านการอนุมัติจากภาครัฐให้ถูกต้องครบถ้วน
โดยเบื้องต้นผลิตภัณฑ์ที่น่าจะเปิดตัวได้เป็นกลุ่มแรก ๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ซึ่งจะครอบคลุมทั่วร่างกายทั้งผิวหน้า ผิวตัว ผลิตภัณฑ์เพื่อเส้นผม ครอบคลุมทุกโปรดักส์ไลน์ และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม โดยเชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้ใช้อย่างแน่นอน ด้วยสรรพคุณที่หลากหลายของน้ำมันเมล็ดกัญชง ซึ่งช่วยลดการอักเสบได้ดี
ด้านนายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) หรือ BEAUTY เปิดเผยว่า มีแผนจะพัฒนา 4 ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้า และ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสารสกัดจากกัญชง คือ 1. Whitening Gel Cream : ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าเพื่อความขาวกระจ่างใส 2. Dietary Supplement for Sleep Well Plus Omega : ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยในการนอนหลับและคลายเครียด 3. Organic Tea : ผลิตภัณฑ์ชากัญชงช่วยในการผ่อนคลายและลดความเครียดวิตกกังวล 4. Organic Tea Plus Detox ผลิตภัณฑ์ชาชงช่วยดีท็อกของเสียที่ตกค้างในระบบดูดซึมสารอาหาร เตรียมผลักดันออกจำหน่ายสู่ตลาดทั้งใน และ ต่างประเทศ ภายในช่วงครึ่งหลังปี 2564
ขณะที่ นางวรวรรณ ไชยกำเนิด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรจูคิส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ KISS เปิดเผยว่า กำลังพัฒนาแบรนด์สินค้าใหม่ในหลากหลายกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะในกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวและกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยนำกัญชงมาเป็นวัตถุดิบ วางเป้าหมายเปิดตัวผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากกัญชงหลากหลายรายการ ที่ผ่านการคิดค้นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง มีความโดดเด่นและแตกต่าง ภายในปีนี้
ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม เป็นอีกหนึ่งเซกเตอร์ที่มีความเคลื่อนไหวต่อการเปิดเสรีกัญชา-กัญชงอย่างมาก เริ่มจาก นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิปโก้ฟูดส์ (TIPCO) เปิดเผยว่า คาดว่าจะออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำผลไม้ ที่มีส่วนผสมของกัญชงได้ภายในไตรมาส 3 ของปีนี้
“ปัจจุบันบริษัทยังอยู่ระหว่างรอประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในการให้อนุญาตให้นำส่วนผสมของกัญชงมาใส่ในอาหารและเครื่องดื่มที่เป็นรูปแบบสำเร็จรูปหรือแบบปิดฝาก่อน อย่างไรก็ตามในส่วนของส่วนผสมในเครื่องดื่ม ที่มีการจำหน่ายหน้าร้านสามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากกฏหมายอนุญาตแล้ว ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะประเดิมเปิดสาขาแรก ที่ร้าน Squeeze สาขาเซ็นทรัลเวิร์ล”
บริษัทยังมีแผนดำเนินการธุรกิจกัญชงในส่วนต้นน้ำและกลางน้ำเพิ่มเติมในอนาคต โดยขออนุญาตในการปลูกและสร้างโรงสกัด ซึ่งมีพื้นที่รองรับในการปลูกกัญชงได้ประมาณ 5,000 ไร่ รวมถึงมีแผนที่จะจัดตั้งโรงสกัดเป็นของตนเอง หลังจากปัจจุบันเครื่องสกัดของบริษัทมีกำลังการผลิตเต็มที่แล้ว อย่างไรก็ตามเบื้องต้นปริมาณการใช้ส่วนผสมของกัญชงยังมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย ส่งผลให้บริษัทใช้วิธีการรับซื้อวัตถุดิบจากพันธมิตรมาเป็นส่วนผสมในการไปผลิตผลิตภัณฑ์แทนไปก่อน
ด้านบทวิเคราะห์ของบล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ระบุ บริษัท โอสถสภา จำกัด(มหาชน)หรือ OSP เจ้าตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง M-150 มีการศึกษาการใช้กัญชงตั้งแต่ปี 2562 ทั้งในส่วนของเครื่องดื่มและสินค้าของใช้ส่วนบุคคล โดยมีหลายโครงการและมีความพร้อมในการผลิต แต่ยังรอข้อกฎหมายที่มีความชัดเจน ซึ่งอาจเป็นปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
นายชินวิทย์ เลิศบรรณพงษ์ นักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE กล่าวยอมรับว่ามีความสนใจเกี่ยวกับการปลดล็อกกัญชง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายธุรกิจในส่วนนี้ ทั้งในเรื่องของการสารสกัดซีบีดี (Cannabidiol :CBD) จากเมล็ดกัญชง, และส่วนต่างๆ ที่ไม่ใช่ยาเสพติด แต่ต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ทั้งในส่วนของเครื่องดื่มและไม่ใช่เครื่องดื่ม
ส่วนการจะเข้าไปขออนุญาตนั้น บริษัทยังอยู่ในการพิจารณา ทั้งนี้หากบริษัทมีซัพพลายกับผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตแล้ว ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีการขอใบอนุญาตอีก หากบริษัทดำเนินการในส่วนนี้สำเร็จ ก็จะเป็นส่วนมาช่วยผลักดันรายได้ของบริษัทในอนาคต
ด้านนายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART เจ้าของตู้เติมเงิน “บุญเติม” เปิดเผยว่า สนใจและอยู่ระหว่างการศึกษาให้บริการด้านธุรกิจปลายน้ำ ซึ่งอาจจะใส่วัตถุดิบดังกล่าวในเครื่องดื่มขายผ่านตู้อัตโนมัติ อย่างไรก็ตาม ต้องรอดูเงื่อนไขจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ถึงการทำธุรกิจปลายน้ำก่อน
"การเอาส่วนผสมกัญชงมาใส่ในเครื่องดื่มอัตโนมัติ ในทางปฎิบัติเราทำได้ทันทีอยู่แล้ว แต่เราต้องขอรอดูความชัดเจนของเงื่อนไข อย.ก่อน ซึ่งตอนนี้เรามาโฟกัสในเรื่องการขยายจุดติดตั้ง และขยายตลาดตู้อัตโนมัติก่อน"
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU เปิดเผยว่า กำลังมองหาโอกาสการร่วมลงทุน ในธุรกิจส่วนประกอบโปรตีนทางเลือก (ingredient alternative protein) และอาหารทางการแพทย์ (Medical food) รวมทั้งศึกษาธุรกิจกัญชง ศึกษาน้ำมันจากกัญชง เมื่อกฎหมายมีความชัดเจน โดยอาจเปิดตัวผลิตภัณฑ์ทูน่าในน้ำมันกัญชง
สำหรับปีนี้บริษัทวางงบลงทุน 6,000-6,500 ล้านบาท เป็นการลงทุนปกติ และลงทุนธุรกิจใหม่ แบ่งเป็น โครงการโปรตีนจากพืช 800 ล้านบาท โรงงานอาหารสำเร็จรูป 1,000 ล้านบาท และโครงการห้องเย็น
นายจิตติพร จันทรัช กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) หรือ XO ผู้ผลิตซอสปรุงรสยี่ห้อ Exotic เปิดเผยว่า ได้ทำการศึกษาตลาดและพัฒนาสูตรนำกัญชงมาผลิตซอสปรุงรส จับกระแสตลาดโลก ปัจจุบันสูตรผสมแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญทางด้านนี้ แต่อยู่ระหว่างรอข้อกฎหมายชัดเจน จึงคาดว่าซอสกัญชงจะเข้ามาผลักดันมาร์จิ้นของบริษัทฯ ให้สูงขึ้นได้ และเป็นโอกาสขยายตลาดไปทั่วโลก
ขณะที่ นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS เปิดเผยว่า ช่วงครึ่งปีหลังนี้บริษัทเตรียมรับรู้รายได้จากการออกผลิตภัณฑ์กัญชง-กัญชา เพิ่มเข้ามา โดยคาดว่าตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป บริษัทจะทยอยเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เกี่ยวกับกัญชง-กัญชา ประมาณ 8 สินค้า ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ในปีนี้ได้ประมาณ 600-800 ล้านบาท โดยกลุ่มกัญชง-กัญชา เป็นสินค้าใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในแผนงาน ซึ่งคาดว่าจะรับรู้รายได้ จาก 8 SKU ประมาณปีละ 2,000 ล้านบาท
“บริษัทร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำศึกษาและคิดค้นสูตรเพื่อนำกัญชงมาพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมทั้งในส่วนของสกินแคร์,เครื่องดื่ม และอาหารเสริม รวมถึงมีการพูดคุยกับพันธมิตรที่เป็นผู้ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์,โรงสกัด และผู้ผลิตไว้เรียบร้อยแล้ว บริษัทมีความพร้อมทั้งการผลิตและการจำหน่ายในทันทีหลังจากกระทรวงสาธารณสุขประกาศปลดล็อคกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด โดยจะจัดจำหน่ายผ่าน อาร์เอส มอลล์ แพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้า”
นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG เปิดเผยว่า บริษัทได้เจรจากับพันธมิตรที่ได้ยื่นขอใบอนุญาตทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกัญชงจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว รวมถึงไปถึงขอความร่วมมือกับวิสาหกิจชุมชนเพื่อปลูกกัญชงมารองรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ
โดยคาดว่าจะสามารถออกผลิตภัณฑ์จากกัญชงเพื่อจัดจำหน่ายได้ในปลายไตรมาส 2 - 3 ของปีนี้ โดยผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะถูกนำไปวางจำหน่ายในร้านค้าในเครือของบริษัท ทั้งร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และร้านเครื่องดื่ม เช่น MAX Mart ,ร้านกาแฟพันธุ์ไทย ร้านคอฟฟี่เวิลด์ เป็นต้น ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศ
นายอนันต์ ตั้งตรงเวชกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด(มหาชน) หรือ BRR เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างหารือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อทำธุรกิจกัญชง ซึ่งบริษัทมีที่ดินอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวนมาก สามารถใช้ปลูกกัญชงได้ โดยขณะนี้มีการศึกษาตั้งแต่ต้นทางเพาะเมล็ดพันธุ์ ปลูก และสกัดน้ำมันกัญชง แต่กระบวนการยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเท่านั้น
ส่วนบริษัท ทีดับบลิวแซด คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TWZ ผู้จัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมทุนกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มรักจังฟาร์ม ซึ่งเกี่ยวข้องการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชงและ/หรือกัญชาของรักจังฟาร์ม วังน้ำเขียว ซึ่งรายละเอียดของการร่วมทุน คือทางกลุ่มวิสาหกิจรักจังฟาร์มจะจัดตั้งบริษัท กัญช์ยารักษ์ จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชงและ/หรือกัญชา
นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (MOU) กับศูนย์วิจัยยาเสพติด วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และสนับสนุนการเพาะปลูก วิจัย สกัด และตรวจวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพระดับ Medical Grade สามารถนำไปใช้ทางการแพทย์และจำหน่ายเชิงพาณิชย์ และยังส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านการศึกษาพืชกัญชงและกัญชาเพิ่มมากขึ้น
โดยพร้อมสนับสนุนด้านการจัดหาเทคโนโลยีในการจัดตั้งโรงสกัดสารจากกัญชาที่มีมาตรฐานในระดับการแพทย์ เพื่อนำไปสู่การออกใบรับรองมาตรฐานระดับ Medical Grade และการจัดหาเทคโนโลยีด้านการผสมสารสกัดจากพืชกัญชง กัญชา และการพัฒนาเวชภัณฑ์ยาเพื่อใช้ทางการแพทย์ รวมถึงดูแลด้านการตลาด และการจัดจำหน่าย
ขณะที่นายธีรพันธ์ ดิษยบุตร รองกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัทโรงพยาบาลพระรามเก้า จำกัด (มหาชน) หรือ PR9 เปิดเผยว่า ขณะนี้โรงพยาบาลอยู่ระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับการสกัดกัญชง-กัญชา ว่าจะมีส่วนไหนนำมาใช้ได้ หรือมีเหตุผลทางวิชาการ หรืองานวิจัยรองรับหากมีข้อมูลที่ชัดเจน และเชื่อถือได้ โรงพยาบาลก็มีความพร้อมแน่นอน
ทีมเศรษฐกิจ