LINE TV สำรวจพฤติกรรม Y – Economy เผย 5 กลุ่มสินค้าขายดิบขายดี เจาะตลาด Fandom สาวกซีรีส์วาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า LINE TV ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีซีรีส์วายให้ดูมากที่สุดในเมืองไทย มีฐานผู้ชมประเภทนี้เติบโตจากปี 2019 ถึง 3 เท่าตัว และคิดเป็นยอดรับชมมากขึ้นถึง 61% เมื่อเทียบกับปี 2016 ช่วงแรกๆ ที่เพิ่งมีซีรีส์วายเกิดขึ้นในจอโทรทัศน์ไทย
ทั้งนี้ จึงกลายมาเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดที่มีกำลังซื้อที่ไม่อาจมองข้าม เพราะมีตั้งแต่ Fandom, Core Watcher และ New Adopter ซึ่งสร้างแรงสนับสนุนศิลปินในระดับที่ต่างกันออกไป โดยเฉพาะจากกลุ่ม Fandom ที่สนับสนุนศิลปินดาราที่ชื่นชอบอย่างเหนียวแน่น
จาก Y – Economy Study ที่ทาง LINE Insight จัดทำเพื่อสำรวจพฤติกรรมการจับจ่ายและสนับสนุนของกลุ่มผู้ชมซีรีส์วายในเมืองไทย ก็เผยข้อมูลที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือ 5 อันดับกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ร่วมขบวนทำการตลาดโฆษณากับกระแสฮิตดังกล่าว และเหล่าชาวด้อมวายก็พร้อมให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี จนเกิดความนิยมในตัวสินค้าเพิ่มไปตามๆ กัน ดังนี้
อันดับที่ 1 เครื่องดื่ม ซึ่งโกยความนิยมสูงสุดในกลุ่มสินค้าทั้งหมด จากการถูกนำไป Tie-in สินค้าในคอนเทนต์ ซีรีส์อย่างแนบเนียนเข้ากับเส้นเรื่อง เช่น ตัวละครยื่นเครื่องดื่มให้ตอนเล่นกีฬาเสร็จ พร้อมพูดบทชวนฟิน ก็สามารถต่อยอดด้วยกิจกรรมทางการตลาดมากมาย ประกอบกับตัวสินค้าเข้าถึงง่าย ราคาไม่แพง บริโภคและชวนซื้อซ้ำได้ง่าย
อันดับที่ 2 ขนมขบเคี้ยว ซึ่งเป็นสินค้าที่เจาะกลุ่มวัยรุ่นเป็นหลัก ช่างเหมาะเจาะกับเรื่องราวซีรีส์วายที่เป็นเรื่องราวของวัยรุ่น นอกจากขนมขบเคี้ยวแบรนด์ดังที่ผู้ชมรู้จักดี แบรนด์ที่ต้องการเปิดตัวสินค้าใหม่เพื่อเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็มองว่าซีรีส์วายที่จะพาให้เข้าถึงฐานผู้ชม มีการดึงคู่จิ้น มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ทำแคมเปญที่ผูกเอาสินค้า และคาแรกเตอร์คู่จิ้นชวนให้ลองชิมมากกว่าเดิม
อันดับที่ 3 กลุ่มสกินแคร์ และ กลุ่มเครื่องสำอาง จากเดิมที่แบรนด์สกินแคร์และเครื่องสำอางจะให้ผู้หญิงมาหยิบจับเป็นพรีเซ็นเตอร์ แต่กระแสวายก็ได้ทำให้นักแสดงชายจากกระแสคู่จิ้นขึ้นมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ยอดนิยมในกลุ่มนี้ เพราะนอกจากเจาะกลุ่มสาวๆ ให้ซื้อใช้แล้วนั้น
ทั้งนี้ ยังเป็นการชี้ช่องให้ผู้ชายหันมาดูแลตัวเอง เพราะได้เห็นภาพผู้ชายด้วยกันใช้ผลิตภัณฑ์ความงามโดยไม่เขินอาย ทั้งยังทำให้กลุ่มหญิงวัยทำงานที่เป็นเป้าหมายของแบรนด์เหล่านี้ ยอมควักเงินซื้อสนับสนุน แม้จะไม่ได้ใช้จริงก็ตาม
อันดับที่ 4 กลุ่มเสื้อผ้า คงไม่มีวิธีไหนดีไปกว่าได้เห็นเสื้อผ้าชุดนั้นๆ ถูกสวมใส่โดยตัวละครขวัญใจไปพร้อมๆ กับการดำเนินเรื่องที่ผู้ชมเกาะขอบจอตั้งใจชม ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจจากการทำการตลาดของแบรนด์เสื้อผ้าชาย
โดยสาวๆ แฟนดอมเห็นแล้วก็อยากซื้อให้แฟนตัวเองใส่ หรือแม้แต่หนุ่มๆ ที่อยากดูดีเหมือนกับตัวละครที่แฟนตัวเองกำลังกรี๊ด เรียกได้ว่าเสื้อผ้าผู้ชายนี้สามารถเจาะกลุ่มกำลังซื้อได้ทั้งหญิงและชายไปพร้อมๆ กันผ่านซีรีส์วาย
อันดับที่ 5 ฟาสต์ฟู้ด การได้กินตามศิลปิน ดารา หรือ ตัวละครในซีรีส์ชวนจิ้นนั้นยิ่งทำให้รู้สึกใกล้ชิดและอินกับเนื้อเรื่องได้มากขึ้น บ่อยครั้งที่เราดูซีรีส์ เห็นตัวละครทานอาหารแล้วรู้สึกหิวอยากกินตาม หรืออย่างน้อย คือ ได้เห็นโฆษณาจากซีรีส์ที่กำลังอิน ก็รู้ได้เลยว่าพรุ่งนี้จะสั่งอะไรเป็นมื้อเที่ยง ยิ่งอยู่ในยุคที่สามารถสั่งอาหารจากแอปพลิเคชันได้ง่ายดาย ก็ชวนให้อาหารจานด่วนติดอันดับสินค้ายอดนิยมในขบวนซีรีส์วายไปด้วยแบบไม่ต้องสงสัย ซึ่งนอกจากนี้ยังมีสินค้าประเภทไอที แก็ดเจ็ตและแอปพลิเคชันต่างๆ ก็ร่วมขบวนฮิตนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ความท้าทายในตลาดY คือ แบรนด์ยังต้องทำให้กลุ่มผู้ชมซีรีส์ Y กลายเป็นแฟนของแบรนด์ด้วย เพราะเมื่อแฟนๆ รักศิลปิน ดาราของพวกเขาแล้ว ก็อยากจะกิน ดื่ม ใช้ ใส่ เหนือสิ่งอื่นใดคือ ได้สนับสนุนคนที่พวกเขารัก
ทั้งยังต้องการชั้นเชิงในการนำเสนอสินค้าให้กลมกลืนไปกับคนที่พวกเขารัก รู้ว่า กลุ่มแฟนต้องการอะไรจริงๆ? ต้องการลายเซ็น หรือ โมเมนต์ร่วมกับคนที่พวกเขารัก ยิ่งถ้าสินค้าไหนเป็นสินค้าที่ต้องใช้อยู่แล้ว พวกเขาก็พร้อมเปลี่ยนแบรนด์มาใช้ตามเลยทันที