สถาบันป๋วยเปิดผลวิจัยสาวไทย “ทำไมน้องไม่แต่งงาน” พบปรากฏการณ์ผู้หญิงโปรไฟล์หรูให้ค่าตัวเองดุจดังทองคำ (Gold Miss) เลือกไม่แต่งงานแม้มีโอกาส เผยมีถึง 50-60% ของหญิงจบปริญญาตรีขึ้นไปโสด เป็น “เจ้าสาวกลัวฝน” เพราะหาผู้ชายเหมาะสมยาก อยากเป็นส่วนตัว กลัวรายได้ลดลงเมื่อมีลูก แถมที่ยอมแต่งงานก็กลับไม่ยอมมีลูก จี้รัฐแก้ปัญหาให้ตรงจุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้ออกบทวิจัยเรื่อง “ทำไมน้องไม่แต่งงาน?” ผลกระทบของการศึกษาต่อการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิงไทย โดยนางศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ และ Ms.Lusi Liao นักศึกษาปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งได้ศึกษารูปแบบการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิงไทยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา (2528-2560) ซึ่งผู้หญิงไทยที่จบปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มเป็นโสดมากขึ้นหรือหากแต่งงานก็มีแนวโน้มที่จะมีลูกน้อยลง
นอกจากนั้น จากการศึกษางานวิจัยทั่วโลก พบว่าผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง ในระดับปริญญาตรีขึ้นไปและสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ มีแนวโน้มจะแต่งงานช้าลงหรือไม่แต่งงานเลย ซึ่งปรากฏการณ์นี้เรียกว่า Marriage Strike (หยุดแต่งงาน) นอกจากนั้น ในประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ยังเกิดปรากฏการณ์ที่กลุ่มผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ที่มีการศึกษาและสถานภาพทางสังคมดี เลือกที่จะไม่แต่งงาน ทั้งที่มีโอกาสหรือที่เรียกว่า “Gold Miss” หรือผู้หญิงที่มีค่าในตัวเองเหมือนทองคำ และปรากฏการณ์ทั้งสองนี้ได้เกิดขึ้นในสังคมไทยเช่นกัน
โดยจากการศึกษาข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าผู้หญิงไทยที่เกิดตั้งแต่ปี 2523 แยกตามการศึกษา และฐานะการเงิน ผู้หญิงไทยที่จบปริญญาตรีขึ้นไปเป็นโสดมากถึง 50-60% ของผู้หญิงที่จบปริญญาตรีทั้งหมด ขณะที่ผู้หญิงที่จบชั้นมัธยมศึกษาเป็นโสด 10-20% ส่วนผู้หญิงไทยที่จบชั้นประถมศึกษา เป็นโสด 10-15% นอกจากนั้น ยังพบว่าโอกาสที่ผู้หญิงไทยที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจะได้แต่งงานออยู่ที่ 71% ขณะที่การศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีมีโอกาสแต่งงานที่ 85% โดยโอกาสการได้แต่งงานของผู้หญิงที่จบการระดับปริญญาตรีลดลง 14% จากช่วง
ก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกที่จะไม่แต่งงานเพิ่มขึ้น
ผลวิจัยยังระบุด้วยว่า แม้ตัดสินใจแต่งงาน แต่ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่มีลูกลดลง โดยพบว่าจำนวนผู้หญิงที่เกิดก่อนปี 2523 และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป จะมีลูกเฉลี่ยประมาณ 1.5 คนต่อแม่ 1 คน แต่ในปัจจุบันมีลูกเฉลี่ย 0.5 คนต่อแม่ 1 คน หรือเท่ากับผู้หญิงที่จบปริญญาตรีที่แต่งงาน ครึ่งหนึ่งไม่มีลูก ขณะที่ส่วนที่เหลืออีกครึ่งมีลูกแค่คนเดียว โดยหากไม่ต้องการให้ประชากรไทยลดลง ผู้หญิง 1 คนที่แต่งงาน ควรจะมีลูกอย่างน้อย 2 คน และหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป สังคมไทยจะประสบปัญหาทั้งสังคมสูงอายุ การขาดแคลนแรงงาน และปัญหาคนอายุน้อยไม่มีเงินเพียงพอที่จะเลี้ยงดูคนชราได้
ทั้งนี้ หากพิจารณาสาเหตุว่า “ทำไมน้องไม่แต่งงาน” งานวิจัยพบว่า ปัจจัยที่ทำให้สาวไทยไม่แต่งงาน และไม่มีลูก มาจาก 5 เรื่องด้วยกัน 1.การศึกษา และฐานะทางสังคมที่สูงขึ้น เลี้ยงดูตัวเองได้ ทำให้ไม่ต้องการรับความคาดหวังจากสังคมเอเชียที่ไม่ว่าผู้หญิงจะจบการศึกษาสูง หรือมีฐานะการงานดีอย่างไร ก็ต้องมีหน้าที่ดูแลสามี ทำงานบ้าน ดูแลลูก หรืออย่างที่มองว่าผู้หญิงทำงานบ้านหรือดูแลลูกถือเป็นหน้าที่ แต่ถ้าผู้ชายทำบ้างนิดหน่อย จะได้รับคำชมเชย ชื่นชม นอกจากนั้น ระดับการศึกษาและรายได้ที่สูงขึ้น ทำให้มีโอกาสพบคู่ครองที่มีความเหมาะสมน้อยลง 2.ต้นทุนของการเลี้ยงลูกที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้หญิงไทยไม่แต่งงาน เพราะไม่ต้องการมีลูก โดยข้อมูลจากงานวิจัย
ล่าสุดของ Chamchan et al. (2019) ชี้ว่าต้นทุนการเลี้ยงลูก 1 คน (อายุ 0-14 ปี) อยู่ที่ 1.57 ล้านบาท หรือ 100,000 บาทต่อปีต่อลูก 1 คน โดยต้นทุนการเลี้ยงดูบุตรนี้เพิ่มสูงขึ้นตามระดับรายได้ของครัวเรือน ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึง “คุณภาพ” ในการเลี้ยงดูลูก ทำให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งไม่วางแผนแต่งงาน 3.ผลกระทบต่อค่าจ้างจากการมีลูกของแรงงานไทย งานวิจัยของ Liao and Paweenawat (2019) ได้ศึกษาความแตกต่างของค่าจ้าง พบว่า แรงงานที่ไม่มีลูกจะมีระดับค่าจ้างเฉลี่ยที่สูงกว่าแรงงานที่มีลูก ซึ่งความแตกต่างของค่าจ้างส่วนนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา 4.ทัศนคติของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไป โดยคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและความเป็นอิสระในการใช้ชีวิตส่วนตัว มากกว่าการสร้างครอบครัว 5.การขาดการสนับสนุนและความช่วยเหลือจากภาครัฐที่เหมาะสมและตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น การขาดแคลนสถานเลี้ยงดูเด็กเล็กของภาครัฐ การขาดความยืดหยุ่นของเวลาการทำงาน การกีดกันแบ่งแยกในสถานที่ทำงานต่อแรงงานที่มีลูก
“หากพิจารณามาตรการของรัฐที่มียังไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย เช่น โครงการวิวาห์สร้างชาติ ซึ่งแจกฟรี 1.คู่มือเตรียมความพร้อมสู่พ่อแม่คุณภาพ 2.วิตามินเสริมธาตุเหล็กและโฟลิก สัปดาห์ละ 1 เม็ด 3.บริการตรวจสุขภาพ ซึ่งหากเทียบกับความรู้และฐานะของคนจบปริญญาตรีขึ้นไป ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่ไม่แต่งงาน ไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้แต่งงานมากขึ้น ขณะที่โครงการเงินอุดหนุนการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด -6 ปี เดือนละ 600 บาท ก็ช่วยเหลือไม่ได้มาก และช่วยได้เฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น จึงอยากให้รัฐบาลจริงจังในการแก้ไขปัญหาหรือสนับสนุนให้เกิดการแต่งงานและมีลูกโดยเฉพาะการช่วยเหลือด้านสุขภาพและการศึกษาของเด็ก เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคต เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ได้ออกมาตรการจูงใจที่แรงกว่าของไทยหลายเท่าตัว แต่ยังไม่สามารถที่แก้ปัญหานี้ได้ ดังนั้น ประเทศไทยควรเร่งแก้ปัญหานี้โดยเร็ว”.