ท่ามกลางภาวะ เงินเฟ้อทั่วไป (ดัชนีราคาผู้บริโภค) เดือนมีนาคม ที่พุ่งกระฉูดขึ้นไปถึง 5.73% ทำสถิติสูงสุดในรอบ 13 ปี จากราคาพลังงานที่แพงขึ้นจากสงครามรัสเซียยูเครนทำให้ราคาข้าวปลาอาหารแพงขึ้นไปหมด จนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ในฐานะ ประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยใน 12 เดือนข้างหน้าว่า แม้จะมีแนวโน้มสูงกว่ากรอบเป้าหมาย แต่จะกลับเข้ามาอยู่ในกรอบเป้าหมายตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป
เพราะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในไทย เป็นเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงกดดันด้านอุปทาน (cost–push inflation) จากสงครามรัสเซียยูเครน ทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้น แต่ แรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ในประเทศ (demand–pull inflation) ยังอยู่ในระดับต่ำจากกำลังซื้อยังไม่เข้มแข็งนัก
วันเดียวกัน กนง.ได้เผยแพร่ผลการประชุม กนง. ล่าสุด วันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา กนง.ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยจะ ขยายตัวได้ 3.2% ในปี 2565 (ลดจากเดิม 3.4%) และ ขยายตัว 4.4% ในปี 2566 (ลดจากเดิม 4.7%) จากการฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศ และภาคการท่องเที่ยว แม้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียส่งผลให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น แต่จะไม่กระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
ก็ถือว่าเป็นข่าวดี เศรษฐกิจไทยไปต่อแน่นอน ไม่ถดถอยลงไปอีก
กนง.ได้เปิดเผยถึง อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (จากดัชนีราคาผู้บริโภค) ในปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 4.9 และ 1.7 ตามลำดับ โดยอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าร้อยละ 5 ในไตรมาส 2 และ 3 ในปี 2565 (คนไทยต้องเผชิญภาวะของแพงจากเงินเฟ้อไปอีก 5 เดือน) จากราคาพลังงานที่ส่งผ่านต้นทุนไปที่หมวดอาหารเป็นหลัก ก่อนจะปรับลดลงสู่กรอบเป้าหมายในปี 2566 โดย กนง.ได้ปรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 เป็น 4.9% (จากเดิม 1.7%) และปี 2566 ที่ 1.7% (จากเดิม 1.7%)
(กนง.ใช้ ราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 100 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 2565 และ 90 เหรียญต่อบาร์เรลในปี 2566 เป็นฐานการคำนวณเพิ่มขึ้นจากบาร์เรลละ 69.4 เหรียญในปี 2564)
กนง.ยังเสนอแนะรัฐบาลว่า มาตรการภาครัฐ และ การประสานนโยบาย มีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง มาตรการทางการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด (ภาษาชาวบ้านก็คือ ไม่ควรแจกเงินแบบประชานิยมไม่ตรงจุด ซึ่งไม่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว) โดย เน้นการสร้างรายได้ (ก็คือสร้างงานนั่นแหละ) และ การบรรเทาค่าครองชีพในกลุ่มเปราะบาง
ส่วน นโยบายการเงิน กนง.ยังผ่อนคลายต่อเนื่อง (ไม่ขึ้นดอกเบี้ย) รวมทั้ง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ ช่วยกระจายสภาพคล่องและ ช่วยลดภาระหนี้ โดยเฉพาะ กลุ่มที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ อาทิ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ และมาตรการอื่นๆของสถาบันการเงินควบคู่กับ การผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ให้เห็นผลในวงกว้าง
ที่กลัวกันว่า ไทยจะเกิดภาวะ Stagflation เงินเฟ้อพุ่งแต่เศรษฐกิจชะลอตัว หรือถดถอย กนง.ยืนยันว่า ไทยจะไม่เกิดภาวะ Stagflation แน่นอน เพราะ จีดีพีไทยยังเติบโตได้เร็วกว่าศักยภาพ 3% ปีนี้จะเติบโต 3.2% ปีหน้าเติบโตอีก 4.4% จึงไม่ทำให้เกิด Stagflation กนง.ยังคาดว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเข้ามาเที่ยวไทยปีนี้ 5.6 ล้านคน ปีหน้าจะเพิ่มเป็น 19 ล้านคน ได้นักท่องเที่ยวเข้ามาขนาดนี้ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแน่นอน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”