ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานตัวเลขสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) หรือสินเชื่อที่เริ่มขาดส่ง 1 เดือนขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง 3 เดือนในไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งเป็นสินเชื่อที่มีนัยที่จะกลายเป็นหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในอนาคต โดยสิ้นไตรมาสแรกของปีนี้ มีสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษทั้งสิ้น 1.11 ล้านล้านบาท หรือ 6.44% ของสินเชื่อรวม
ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนสินเชื่อที่เป็นสินเชื่อที่กล่าวถึงเป็นพิเศษแล้ว สินเชื่อที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้มากที่สุดในช่วงไตรมาส 1 ที่ผ่านมา คือ หมวดสินเชื่ออุปโภคบริโภค โดยมีหนี้ที่ผิดนัดชำระ 334,100 ล้านบาท หรือ 30.12% ของยอดหนี้ที่เริ่มผิดนัดชำระหนี้แล้วทั้งหมด โดยแบ่งเป็น สินเชื่อที่อยู่อาศัย ผิดนัดชำระหนี้ 134,523 ล้านบาท หรือ 12.13% สินเชื่อรถยนต์ 114,791 ล้านบาท หรือ 10.35% สินเชื่อบัตรเครดิต 18,366 ล้านบาท หรือ 1.66% และสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นๆ 66,420 ล้านบาท หรือ 5.99%
ขณะที่สินเชื่อในหมวดอื่น ซึ่งมีการผิดนัดชำระหนี้ในอัตราที่สูงคือ สินเชื่อในภาคการผลิต มีหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้ในไตรมาส 1 ปีนี้ ทั้งสิ้น 233,171 ล้านบาท หรือ 21.02% ของหนี้ที่ผิดนัดชำระหนี้รวม การขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ 208,970 ล้านบาท หรือ 18.84% และสินเชื่อในภาคการบริการ ซึ่งมียอดหนี้ที่ผิดนัดทั้งสิ้น 134,028 ล้านบาท หรือ 12.08% ทั้งนี้ ในรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ระบุว่า กนง.มีความเป็นห่วงภาคครัวเรือนไทยที่เปราะบางมากขึ้นจากที่มีสัดส่วนหนี้ต่อรายได้สูงและสูงกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้อุปโภคบริโภคที่อัตราดอกเบี้ยสูง ทำให้ภาระผ่อนชำระต่อเดือนสูง นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนมีสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระและลูกจ้างในภาคบริการ ทำให้สามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้ลดลง.