“อาคม” ห่วงสถานะการเงินของคนไทยเปราะบาง พบหนี้ครัวเรือนสูง-ออมต่ำ-ทักษะความรู้ทางการเงินไม่มี ขณะที่ต้องเข้าสู่สังคมสูงวัย ทำให้เกิด “ภาวะเกษียณทุกข์” เพราะเงินไม่พอยังชีพ นอกจากนี้ยังพบว่าวิกฤติโควิดยิ่งซ้ำเติมหนี้ครัวเรือนพุ่งแตะ 86.60% ต่อจีดีพี เร่งให้ทุกฝ่ายสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการเงินการออมให้ประชาชน กระจายโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ หวังลดความยากจนข้ามรุ่น
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวในงานเปิดโครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้ พลังความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มด้านการเงินสำหรับคนไทย” ที่จัดขึ้นโดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ว่า สถานการณ์ทางการเงินของคนไทยโดยรวม มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญและติดตามใกล้ชิด 4 ประเด็นดังนี้ ประเด็นแรก คือ สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนคนไทยต่อจีดีพีเพิ่มสูงขึ้น โดยไตรมาส 3 ปี 62 สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่ 78.9% ถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยไตรมาส 3 ปี 63 สัดส่วนหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 86.60% สะท้อนให้เห็นความเปราะบางสถานะทางการเงินของคนไทย เมื่อต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติ
ประเด็นที่ 2 คือ การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ คาดว่าปี 66 สัดส่วนผู้สูงวัยจะอยู่ที่ 20% ของจำนวนประชากร จากสถิติปี 63 สัดส่วนผู้สูงวัย อายุเกิน 60 ปี อยู่ที่ 11.60 ล้านคนแล้ว คิดเป็น 17.6% ดังนั้นการเตรียมความพร้อมดูแลผู้สูงวัยอย่างเหมาะสม เช่น เก็บออมเงินตั้งแต่วัยทำงาน เพื่อใช้จ่ายวัยเกษียณ เป็นต้น โดยจากสถิติปี 60 พบว่า ผู้สูงอายุใช้ชีวิตหลังเกษียณด้วยการเลี้ยงดูของบุตรหลาน 34.7% และอีก 31% ต้องทำงานหารายได้เลี้ยงดูตัวเอง มีเพียง 2.3% ที่ใช้รายได้จากเงินออม สะท้อนภาวะเกษียณแล้วทุกข์
ประเด็นที่ 3 ภาวะการออมของคนไทย ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ จากผลสำรวจการออมของครัวเรือนคนไทยปี 61 พบว่า 5.8 ล้านคน หรือ 27.1% ไม่มีการออม ส่วนอีก 15.7 ล้านครัวเรือน หรือ 72.9% มีการออมเงิน แต่วิธีการออมเงินนั้น พบว่า 38.9% มีพฤติกรรมใช้เงินก่อนออม และอีก 38.5% มีการออมไม่สม่ำเสมอ ส่วน 22.6% มีพฤติกรรมออมก่อนใช้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเสริมทักษะความรู้ เกี่ยวกับการออมให้กับประชาชน
ประเด็นที่ 4 จากผลสำรวจของหลายหน่วยงานเกี่ยวกับทักษะทางการเงินของไทย พบว่า คนไทยมีทักษะความรู้ทางการเงินต่ำมาก เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ปัญหาเหล่านี้สะท้อนจากโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และปัจเจกบุคคล ซึ่งการแก้ไขปัญหาต้องทำอย่างต่อเนื่องและบูรณาการ เห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ปี 60-64 ได้มียุทธศาสตร์ คือ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และสร้างความเข้มแข็งการเงินฐานราก ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
ส่วนนโยบายต่อไปภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ที่ต้องดำเนินการ คือ การสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค มุ่งเป้าลดความเหลื่อมล้ำ กระจายโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจ ลดความยากจนข้ามรุ่น เพื่อให้ประชาชนสามารถขยับฐานะ มีภูมิคุ้มกัน และได้รับการคุ้มครองทางสังคมอย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน
นายอาคม กล่าวต่อว่า การสร้างความรู้ ความเข้าใจทางการเงิน ต้องทำอย่างต่อเนื่องและบูรณาการ ให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน ที่เน้นให้ความสำคัญ 5 เรื่อง ได้แก่ 1.การสร้างโครงสร้างและกลไกเพื่อเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ 2.การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ให้มีทักษะจำเป็นที่สามารถดูแลรับผิดชอบตนเองได้ และหนึ่งในทักษะดังกล่าว คือการเพิ่มพูนความรู้การเงิน การออม
3.การสร้างการตระหนักรู้ของประชาชน ให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการความเสี่ยงในชีวิตจากการวางแผนที่ดีและมีข้อมูลความรู้ที่เพียงพอ 4.การเร่งฟื้นฟูและสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงิน เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในเชิงบวกต่อเรื่องการเงินและการออม และ 5.ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ความรู้ทางการเงิน ดังนั้น โครงการ “Happy Money สุขเงิน สร้างได้” จึงเป็นโครงการที่เกิดขึ้นในช่วงที่เหมาะสม เพราะการจะฟื้นฟูเศรษฐกิจจะต้องทำควบคู่กับการสร้างศักยภาพของประชาชน โดยร่วมมือกันทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดผลในวงกว้างและรวดเร็ว เพื่อให้คนไทยสามารถบริหารจัดการชีวิตจากนี้ไป ที่วิถีชีวิตไม่เหมือนเดิม ได้อย่างเหมาะสมท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคตได้.