จีน แผ่อิทธิพลด้วยกับดักหนี้ 13 ปี ปล่อยกู้กว่า 8 ล้านล้านบาท ผ่าน BRI เส้นทางสายไหม

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จีน แผ่อิทธิพลด้วยกับดักหนี้ 13 ปี ปล่อยกู้กว่า 8 ล้านล้านบาท ผ่าน BRI เส้นทางสายไหม

Date Time: 31 มี.ค. 2566 10:07 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนปล่อยกู้เงินจำนวนมหาศาลแก่รัฐบาลทั่วเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ขยายอิทธิพลไปทั่วโลกผ่านโครงการขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน จนก้าวสู่ตำแหน่งเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลก

Latest


ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนปล่อยกู้เงินจำนวนมหาศาลแก่รัฐบาลทั่วเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ขยายอิทธิพลไปทั่วโลกผ่านโครงการขนาดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน จนก้าวสู่ตำแหน่งเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของโลก ข้อมูลล่าสุด ระบุว่า ภายในระยะเวลา 13 ปี จีนทุ่มเงินไปแล้วถึง 2.4 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 8.22 ล้านล้านบาท เพื่อสนับสนุนเงินกู้สำหรับโครงการ Belt-Road Initiative ช่วยเหลือ 128 รายใน 22 ประเทศตั้งแต่ปี 2551-2564 เบื้องหลังการทุ่มเงินมหาศาลตลอดช่วงที่ผ่านมามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

ย้อนดูโครงการ Belt and Road Initiative

โครงการจีนเชื่อมโลกหรือที่เรารู้จักกันในชื่อ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ที่ประกาศครั้งแรกในปี 2556 ภายใต้การนำของรัฐบาลสี จิ้นผิง ที่มีเป้าหมายฟื้นเส้นทางสายไหมเดิมสู่ “เส้นทางสายไหมใหม่” ทางบก (One Belt) และทางทะเล (One Road) เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาเข้าด้วยกัน เส้นทางดังกล่าวจะครอบคลุม 65 ประเทศ ใน 6 ภูมิภาค ได้แก่ เอเชียตะวันออก, เอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชียกลาง, ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ, เอเชียใต้ และยุโรป

สำหรับ BRI ถือเป็นโครงการที่ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระดับโลกที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีจีน เป็นผู้อำนวยความสะดวกด้วยการเสนอเงินกู้มหาศาลแก่ประเทศที่เข้าร่วมในตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เกิดโครงการใหม่จำนวนมากในบรรดาประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นการปักเสาเข็มยกระดับเส้นทางสัญจร ปูทางหลวง สร้างท่าเรือ จัดหาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและโทรคมนาคม กว่าทศวรรษโครงการนี้มีประเทศที่ลงนามแล้วกว่า 139 ประเทศ ซึ่งคิดเป็น 40% ของ GDP โลก

ความกังวลของประเทศตะวันตกที่มีต่อจีน นอกจากปัจจัยภายในทางการเมือง การทุจริต ภัยพิบัติ ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม การละเมิดแรงงาน ยังมีประเด็นหนี้ส่วนเกินและอิทธิพลของจีน ซึ่งได้ยกให้ Belt and Road เป็น “กับดักหนี้” ที่ออกแบบมาเพื่อควบคุมโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น ทำให้บางโครงการหยุดชะงักและบางโครงการได้รับเงินไม่เต็มจำนวน

อย่างไรก็ตาม แม้การให้สินเชื่อระหว่างประเทศเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสำหรับจีน เพราะจีนในฐานะผู้กู้เองก็เผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจโลกและปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะยอดหนี้โดยตรงของรัฐบาลท้องถิ่นจีนที่สูงกว่า 120% ของรายได้ในปี 2565 แต่ยังมีข้อมูลที่ชี้ให้เห็นว่า จีนกำลังสร้างช่องทางธนาคารและระบบการเงินของตนเองไปพร้อมๆ กันด้วย 

ข้อตกลงเงินกู้จีน พบดอกเบี้ยสูงกว่า IMF เน้นช่วยเหลือประเทศรายได้ปานกลาง

World Bank ร่วมกับสถาบันศึกษา Harvard Kennedy School สถาบัน Kiel Institute for the World Economy และบริษัทวิจัยด้านข้อมูลสหรัฐฯ AidData ได้เผยแพร่ข้อมูลที่ระบุว่า ในปี 2565 สินเชื่อที่จีนปล่อยกู้ของพอร์ตสินเชื่อในต่างประเทศ เพิ่มขึ้นถึง 60% จากปี 2553 ที่มีอยู่เพียง 3%

คาร์เมน ไรน์ฮาร์ต อดีตหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ World Bank หนึ่งในทีมวิจัย ระบุว่า การให้กู้ยืมของจีนมุ่งเป้าไปที่ประเทศที่มีหนี้จีนอยู่ในระดับสูงอยู่แล้ว ประเทศส่วนใหญ่ที่ได้รับเงินจากระบบ Swap Line ล้วนเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเกินวิกฤติทางการเงินและคาดจะทวีความรุนแรงขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นักวิจัยอื่นๆ แสดงความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของเงินกู้เพื่อการช่วยเหลือของจีนอยู่ที่ 5% สูงกว่าเงินกู้เพื่อการช่วยเหลือทั่วไปจาก IMF ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 2%

เงินกู้ยืมทั้งหมด 2.4 แสนล้านดอลลาร์นั้น มีที่มาจากระบบเครือข่าย Swap line ของธนาคารกลางจีนที่ได้ทำข้อตกลงระหว่างการแลกเปลี่ยนสกุลเงินหยวนกับธนาคารกลางในประเทศนั้นๆ จำนวน 170,000 ล้านดอลลาร์ และอีก 70,000 ล้านดอลลาร์ มีที่มาจากการให้กู้โดยธนาคารและรัฐวิสาหกิจของจีน รวมถึงบริษัทน้ำมันและก๊าซจีน

โดยเงินกู้ส่วนใหญ่จะขยายไปยังประเทศที่มีรายได้ปานกลางซึ่งมีสัดส่วนถึง 4 ใน 5 ของสินเชื่อทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีความสำคัญต่อภาคการธนาคารของจีนมากกว่า ในขณะที่ประเทศที่มีรายได้ต่ำจะได้รับเงินเพียงเล็กน้อยหรือไม่ได้เลย และได้รับข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างหนี้

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศลูกหนี้ทั้งหลายมีแนวโน้มที่จะได้รับการเสนอปรับโครงสร้างหนี้จากจีน และถูกหลายฝ่ายวิจารณ์และเรียกร้องให้ World Bank และ IMF เข้ามามีส่วนร่วมเสนอมาตรการบรรเทาหนี้บรรดาประเทศลูกหนี้ของจีนอีกด้วย

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลใหม่ที่แสดงให้เห็นว่าจีนให้เงินกู้ฉุกเฉินแก่ประเทศต่างๆ มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่มีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ หรือครอบครองทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก

เมื่อเทียบกันแล้ว IMF ให้กู้ยืมเงินจำนวน 6.86 หมื่นล้านดอลลาร์แก่ประเทศต่างๆ ที่ประสบปัญหาทางการเงินในปี 2564 ซึ่งเป็นอัตราที่ค่อนข้างคงที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยกเว้นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2563 ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่

และในหลายๆ ทาง จีนได้เข้ามาแทนที่สหรัฐฯ ในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ความเคลื่อนไหวทางการเงินดังกล่าวทำให้ประเทศต่างๆ ใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามจะเห็นว่า การกระทำของจีน มีความคล้ายคลึงกันทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนกับตอนที่สหรัฐฯ เริ่มผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางการเงินของโลกและจัดวางให้ IMF เคยเป็นที่พึ่งสุดท้ายของโลกมานานหลายทศวรรษ นอกจากการประสานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว การเข้าสู่ระบบปล่อยกู้เพื่อช่วยเหลือข้ามพรมแดนยังสะท้อนให้เห็นว่า จีนหวังชิงสถานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และตั้งใจก้าวเข้ามามีบทบาทในระบบการเงินการธนาคารโลกมากยิ่งขึ้นในอนาคต

อ้างอิง nytimesreuterscnn


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ