ร่วมเสวนาคิดพลิกฟื้นเศรษฐกิจ สังคม การเมืองไทย THAIRATH FORUM 2022 “ตื่น ฟื้น ฝัน”

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ร่วมเสวนาคิดพลิกฟื้นเศรษฐกิจ สังคม การเมืองไทย THAIRATH FORUM 2022 “ตื่น ฟื้น ฝัน”

Date Time: 17 ต.ค. 2565 06:48 น.

Summary

  • ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก ได้ออกมาเตือนถึงภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปีหน้าที่หลายประเทศหลักๆของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก ได้ออกมาเตือนถึงภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปีหน้าที่หลายประเทศหลักๆของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเมืองทั่วโลกมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน

ประเทศไทยของเรา แม้ว่าจะอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังมีความเสี่ยงมากมาย ทั้งจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงมาก ค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากราคาสินค้าและพลังงาน และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ขณะที่ “คลื่นใต้น้ำ” ทางการเมืองเริ่มกระเพื่อมแรงขึ้นๆ เมื่อใกล้เข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง

และเพื่อให้ฝ่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาหลายปีนี้ และเข้าสู่การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของไทยให้เข้าสู่การเติบโตที่ยั่งยืน จำเป็นต้องเปลี่ยน “สิ่งแวดล้อม” ของประเทศใหม่ เพื่อให้สังคมไทยเข้าสู่การตื่นรู้ เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ และการเมืองไทยเป็นการเมืองในฝัน

และวันที่ 19 ต.ค.นี้แล้ว ที่ “ไทยรัฐ” ของเรา จะมีงานเสวนาประจำปี THAIRATH FORUM 2022 “ตื่น ฟื้น ฝัน” ภายใต้แนวคิด สังคมไทยต้องตื่น เศรษฐกิจต้องฟื้น การเมืองในฝัน “ร่วมปลุกประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน”

โดยมีวิทยากรชั้นนำระดับประเทศ ประกอบด้วย “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร “ม.ล.ชโยทิต กฤดากร” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และผู้แทนการค้าไทย (TTR) “เศรษฐา ทวีสิน” ประธานอํานวยการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จํากัด (มหาชน)

“ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล “ไดอาน่า จงจินตนาการ” นักแสดง พิธีกร และ “ธนา เธียรอัจฉริยะ” ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จํากัด มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแรงบันดาลใจ โดยงานเสวนาจะเริ่มใน เวลา 14.00 น. ที่โรงแรม Nikko ทองหล่อ

ต่อเนื่องจาก EP.1 “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ความคิดความเห็นของภาคเอกชนที่ร่วมเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยว่า “สังคมไทยต้องตื่น เศรษฐกิจต้องฟื้น และการเมืองในฝัน” ควรเป็นอย่างไร เริ่มต้นจากภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ต่อด้วยภาคการค้า และภาคการเงินธนาคาร

เกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

สำหรับผม “สังคมไทย” ต้องตื่นตัวในเรื่องใดนั้น ผมมองว่า “ในช่วงเวลาที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆในโลกหลายกระแส ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งโอกาสและอุปสรรคต่างๆที่เราต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อมรับมือ”

และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การเข้าสู่ยุค Digital Disruption ที่เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาทำให้การใช้ชีวิตมีความสะดวกสบาย และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เช่น ธุรกิจ E-Commerce, แพลตฟอร์มให้บริการต่างๆ แต่ในทางกลับกัน เทคโนโลยีดิจิทัลก็ทำให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไป บางอุตสาหกรรมจำเป็นต้องหยุดกิจการเนื่องจากไม่สามารถปรับตัว หรือ Transform ธุรกิจให้หลุดพ้นจากการ Disrupt ของเทคโนโลยีได้

เรื่องที่ 2 ที่สังคมไทยต้องตื่นคือ การที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งสวนทางกับอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง ผู้สูงอายุจะมากขึ้น ประชากรวัยทำงานเท่าเดิมหรือลดลง เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน และอาจส่งผลให้ค่าแรงสูงขึ้น ภาคการผลิตต้องปรับตัว โดยนำเอาเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนแรงงานคน

นอกจากนี้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ก็เป็นอีกหนึ่งในความท้าทายที่ทุกประเทศทั่วโลก กำลังเผชิญทั้งจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และมาตรการทางการค้าใหม่ๆที่ถูกนำมาบังคับใช้ โดยประเทศไทยก็จะต้องเร่งเตรียมความพร้อมในทุกมิติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ประกาศไว้

ส่วนการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตไปข้างหน้านั้น นายเกรียงไกร เห็นว่า สิ่งสำคัญที่ภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการ คือ การยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในทุกมิติ ตั้งแต่การปฏิรูปกฎหมาย ลด ละ เลิกกฎหมายที่ไม่มีความจำเป็น ล้าสมัย ไม่สะดวก และสร้างภาระต่อการปฏิบัติของประชาชน

ขณะที่เร่งรัดให้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัล หรือใช้แพลตฟอร์มต่างๆมาอำนวยความสะดวกในการอนุญาตของราชการ ส่งเสริมการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) สนับสนุน Soft Power และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย รวมทั้งพัฒนากำลังคน โดยเฉพาะการปรับระบบการศึกษาให้ตอบโจทย์ความต้องการด้านกำลังคนในอนาคต

“ผมเห็นว่า ภาครัฐต้องส่งเสริมให้เกิดการ Upskill-Reskill แรงงานให้สามารถทำงาน ควบคู่กับเทคโนโลยีและเครื่องจักรได้ รวมทั้งการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านให้มีความยืดหยุ่นสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต และสามารถใช้จุดแข็งและอัตลักษณ์ของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย”

ทั้งนี้ ส.อ.ท. ในฐานะตัวแทนของภาคอุตสาหกรรม ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้นโยบาย ONE FTI หรือการหลอมรวมทุกภาคส่วนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้อุตสาหกรรมไทยเพื่อประเทศไทยที่เข้มแข็งกว่าเดิม (Strengthen Thai Industries for Stronger Thailand) โดยการส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) โดยเน้นการสร้างและยกระดับมูลค่าของอุตสาหกรรม และการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model ซึ่งไทยเรามีความหลากหลายทางชีวภาพสูงระดับต้นๆของโลก สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรได้หลายมิติ

ขณะที่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ควรเริ่มจากการสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก ทำให้มีการกระจายความเจริญเติบโตไปสู่ภูมิภาค เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การลงทุน และการจ้างงาน

ส่วน “การเมืองในฝัน” นั้น ตนเห็นว่า การเมืองการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย จะสมบูรณ์ได้ จะต้องส่งเสริมให้มีการพัฒนาทั้งระบบ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ประชากรให้มีเสถียรภาพ

ที่สำคัญต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในรูปแบบการร่วมคิด ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมดำเนินการทุกๆเรื่องที่มีผลกระทบต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน รวมทั้งต้องเพิ่มการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ขณะที่การดำเนินนโยบายต่างๆต้องมีความชัดเจน ทำได้จริง มีการสื่อสารให้ประชาชนรับทราบการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

“นักการเมืองที่ดีจะต้องมีความรู้ความสามารถ ความซื่อสัตย์ สุจริต น่าเชื่อถือ เข้าถึงประชาชน ทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ เป็นปากเป็นเสียง เพื่อสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ ซึ่งในปัจจุบันเรายังหานักการเมือง ที่มีคุณสมบัติที่ครบถ้วนดังกล่าวได้น้อยมาก การเมืองในฝันของประเทศไทยจึงยังเป็นเพียงความฝัน ที่คนไทยต้องเฝ้ารอคอยให้เป็นจริงต่อไป”

นาวา จันทนสุรคน
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน)

วันนี้ ผมมองว่า “สังคมไทย” ต้องไม่ประมาท และเตรียมความพร้อมที่จะบริหารจัดการ และลดความเสี่ยงผลกระทบจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกะทันหัน เช่น ภัยจากโรคระบาด ภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ปีที่แล้วเราประสบภัยแล้ง ขาดน้ำ แต่ปลายปีนี้กลับประสบภัยน้ำท่วม

นอกจากนั้น เรากำลังเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงวัยประเทศแรกในอาเซียน และมีแนวโน้มที่สวัสดิการของรัฐจะไม่สามารถรองรับให้ประชากรกลุ่มผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีพอ จึงควรเร่งเตรียมระบบสวัสดิการและโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมรองรับประชากรสูงวัยที่มีสัดส่วนมากขึ้น ขณะที่ภาคเอกชนอาจจะต้องเร่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

ส่วนการที่เศรษฐกิจฟื้นตัว ขยายตัวและเติบโตไปข้างหน้า ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล คือ การสานต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ของประเทศ ทั้งในด้านคมนาคมขนส่ง พลังงาน สาธารณูปการ และด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ด้วยงบประมาณต่อเนื่องที่รัฐบาลนี้ตั้งไว้แล้วกว่า 3 ล้านล้านบาท ซึ่งจะมีส่วนช่วยทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะสั้น และพัฒนาทางเศรษฐกิจในระยะยาว

นอกจากนั้นยังต้องเร่งแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ซึ่งรัฐบาลดำเนินการมาหลายปีแล้ว แต่ยังล่าช้าอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายจำนวนมากเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ถ้ายกเลิกหรือแก้ไขได้จริง จะช่วยต้นทุนจากภาระที่ไม่จำเป็นของประชาชน ภาคเอกชน และแม้กระทั่งภาครัฐเองได้นับแสนล้านบาทต่อปี และจะเป็นแรงขับเคลื่อนช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณลงทุนแต่อย่างใด

อีกเรื่องที่สำคัญมากเช่นกัน คือ กำกับดูแลต้นทุนพลังงานของประเทศ ไม่ให้สูงมากจนเกินไป แม้ประเทศไทยยังต้องพึ่งพิงพลังงานนำเข้าในสัดส่วนสูงมาก แต่หากปล่อยให้ต้นทุนพลังงานสูงมากเกินไป นอกจากจะเป็นภาระของประชาชน ยังมีผลกระทบเป็นลูกโซ่บั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย

ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กของไทยต้องเร่งปรับตัวอย่างจริงจังใน 3 ด้านสำคัญ เพื่อที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเหล็กให้เติบโตแบบยั่งยืน สร้างงาน สร้างรายได้ และช่วยเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป

1.สร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้รองรับการบริโภคเหล็ก และอุตสาหกรรมต่อเนื่องของประเทศราว 18-20 ล้านตันต่อปี 2.ปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กให้มีความสมดุล เน้นเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเหล็กที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้า และลดกำลังการผลิตสินค้าเหล็กที่มีกำลังการผลิตเกินความต้องการในประเทศ หรือหาตลาดส่งออกใหม่ๆมากขึ้น และ 3.พัฒนากระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์สินค้าเหล็ก โดยมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน ลดปัญหาโลกร้อน

ส่วน “การเมืองในฝัน” นั้น หากเปรียบเทียบการปรับเปลี่ยน Transformation ในภาคเศรษฐกิจมีความก้าวหน้ามากกว่า แต่ Political Transformation ของไทยค่อนข้างช้า จึงอยากเห็นมีการเมืองเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนอย่างน้อยในเรื่องเหล่านี้

เริ่มแรกคือการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนและภาคเอกชนที่ต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง แต่เฝ้าติดตามประเมินผลงาน และช่วยกันเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ ที่สำคัญคือมีคุณธรรม

ขณะเดียวกัน อยากเห็นการเมืองที่มีสมดุลระหว่างนักการเมืองรุ่นใหม่ที่มีมุมมองใหม่ และนักการเมืองที่มีประสบการณ์ โดยต่างฝ่ายเปิดกว้างรับฟังเสียงประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ และแม้กระทั่งฝ่ายตรงข้าม เพื่อชั่งน้ำหนัก และเมื่อถึงเวลาต้องกล้าตัดสินใจ ต้องตอบโจทย์เพื่อประเทศชาติส่วนรวม บางเรื่องไม่จำเป็นต้องคำนึงหรือห่วงคะแนนเสียง แต่คำนึงถึงอนาคตของประเทศไทยในภายภาคหน้า

“นักการเมืองและคนไทยอาจมีความเชื่อ ความเห็นที่แตกต่างกัน แต่ต้องพร้อมรับฟังอีกฝ่าย ไม่ขัดแย้งความฝันของผมก็ตามพระราชดำรัสของพ่อ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดชฯ เรื่อง “รู้ รัก สามัคคี” คาดหวังให้สถาบันการเมืองเสนอนวัตกรรมในการทำงาน อยากให้นักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมหน่วยงานภาครัฐ เพื่อรองรับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของภาคเอกชน”

สนั่น อังอุบลกุล
ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในขณะนี้ “สิ่งที่หลายภาคส่วนเห็นตรงกัน คือ ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้ากว่าคาดการขาดแคลนพลังงาน และราคาที่อยู่ในระดับสูง เงินบาทอ่อนค่า แม้ส่งผลดีต่อการส่งออก แต่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ทำให้ต้นทุนธุรกิจสูงขึ้น นำมาซึ่งเงินเฟ้อสูง กำลังซื้อในประเทศลดลง”

ยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยสูงขึ้น และปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ จากนโยบายและความขัดแย้งของขั้วมหาอำนาจ ก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ไทยกำลังเผชิญปัญหาต่างๆมากมาย แต่ไทยยังมีโอกาสอีกมากภายใต้ความท้าทาย และวิกฤติเหล่านี้ เช่น การเป็นศูนย์กลางผลิตอาหารเพื่อการส่งออกที่ถือเป็นจุดแข็ง ต่างประเทศต้องการอาหารของไทยมาก อีกทั้งไทยยังมีความน่าสนใจด้านการท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในแง่ความคุ้มค่าและการลงทุนระยะยาว

“ยังเชื่อว่าปี 65 เราจะโตได้ 3-3.5% แม้ขณะนี้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหลายพื้นที่ แต่มีอานิสงส์จากการท่องเที่ยวในไตรมาส 4 และราคาสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับสูง ส่วนปี 66 คาดจะโตได้ 3.5-4%”

และเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และเติบโตไปข้างหน้า นายสนั่นมองว่า รัฐบาลควรดำเนินการใน 3 ด้าน 1.ด้านการท่องเที่ยว ให้ความสำคัญกับเรื่อง Ease of Traveling (การอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว) และควรขยายตลาดไปตะวันออกกลาง เช่น ซาอุดีอาระเบีย หรืออินเดีย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพใช้จ่ายสูง โดยคาดว่าปี 66 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20 ล้านคน ส่วนจีน หากผ่อนคลายมาตรการซีโรโควิด น่าจะมาไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน

ส่วนตลาดในประเทศคาดว่าจะกลับมาเท่าปี 62 ก่อนโควิด โดยจากนี้หอการค้าไทยจะร่วมกับการท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทย (ททท.) ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองผ่านแนวทาง Happy Model เน้นการยกระดับการท่องเที่ยวคุณภาพสูง และใช้โอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปก ซึ่งสร้างภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวได้มาก

2.ด้านการลงทุน ต้องเร่งปรับปรุงสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยหอการค้าไทยจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐ และช่วยเร่งโปรโมตด้วย ควบคู่กับการชูภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่รัฐบาลควรปรับปรุงกฎหมายให้อำนวยความสะดวกและดึงดูดนักลงทุน และกลุ่ม Talent ที่มีศักยภาพ ให้เข้าลงทุนและอยู่อาศัยระยะยาว เพราะจะช่วยให้เกิดการจ้างงาน และการใช้จ่ายในประเทศ

ในส่วนของหอการค้าไทยยังได้จัดตั้งคณะทำงาน Task Force ไทย-จีน เพื่อศึกษาการค้า-การลงทุนของ 2 ประเทศ น่าจะช่วยให้เกิดการลงทุนเพิ่มเติมจากจีนได้ และด้านที่ 3.ที่ต้องทำคือ ยกระดับขีดความสามารถ SMEs ที่ต้องดำเนินการเป็นวาระจำเป็นเร่งด่วน และต้องดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

พร้อมกันนั้น ยังสนับสนุนให้ภาครัฐลดความเหลื่อมล้ำของไทย โดยทำให้ประชาชนเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ปรับปรุงกฎระเบียบที่เอื้อให้สตาร์ตอัพเติบโต เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่นำเสนอความเห็นและความต้องการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานรัฐ เพื่อแก้ปัญหาแต่ละพื้นที่ได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว

ขณะเดียวกัน ควรขับเคลื่อนภาคเกษตรไปสู่เกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการท้องถิ่น พร้อมกับบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าและน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ภาคเกษตรและธุรกิจใช้ได้อย่างเพียงพอในต้นทุนที่เหมาะสม และช่วยให้สินค้าและวัตถุดิบของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

“แม้เศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนด้วยความเข้มแข็งของภาคเอกชน แต่การสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้น ภาคเอกชนจึงต้องการเห็นการเมืองมีเสถียรภาพ เพราะจะช่วยปลดล็อก และเปิดประตูให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างสะดวก และที่สำคัญ คือ การแสดงศักยภาพด้านต่างๆ เพื่อให้นานาประเทศเชื่อมั่น และมาลงทุนในไทยมากขึ้น”

รักษ์ วรกิจโภคาทร
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)

“โลกยุค Next Normal เปลี่ยนไปจากเดิมและเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้อยู่รอดและอยู่ได้ในระยะยาว การสร้างความยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์ จากการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัลควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงองค์กรหรือธุรกิจ เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จในการสร้างความยั่งยืนดังกล่าว”

นายรักษ์มองว่ากุญแจสำคัญคือ การเข้าถึง (Accessibility) โดยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมและส่งเสริมให้คนไทยควรเข้าถึงโอกาสในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยเท่าเทียมกัน การเข้าใจ (Acknowledgement) เราต้องรู้เท่าทัน เข้าใจ และปรับตัวให้สามารถรับมือกับความไม่แน่นอนรอบด้าน บริหารจัดการความเสี่ยงและปรับโมเดลธุรกิจให้เชื่อมโยงการพัฒนาด้านเศรษฐกิจกับด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และ การเข้ากัน (Alliance) สานพลังเดินหน้าประเทศไทยอย่างไร้รอยต่อ ทั้งหน่วยงานรัฐด้วยกัน ภาครัฐ-เอกชน ตลอดจนภาคประชาชน

ในช่วงที่ผ่านมา EXIM BANK จึงมุ่งดำเนินภารกิจ “ซ่อม สร้าง เสริม สานพลัง” การพัฒนาอย่างยั่งยืน ในวันนี้เราใช้ความ “กล้า” บุกเบิกและพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เพื่อสร้างแนวทางลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างโอกาสให้คนตัวเล็กเข้าสู่ Supply Chain ของโลก รวมถึงการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในโลกยุคใหม่

อาทิ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อเอ็กซิมสร้างธุรกิจเพื่อบุคคลธรรมดา” ปลดล็อกให้บุคคลธรรมดากู้เงินได้สูงสุด 2 ล้านบาทต่อราย เพื่อเริ่มต้นหรือขยายกิจการการส่งออก รวมทั้ง “สินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan” เพื่อใช้ปรับปรุงโรงงาน เครื่องจักร หรือซอฟต์แวร์ ยกระดับประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าส่งออก

“เศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาเหมือนกรำศึกรอบด้าน ทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างที่เรื้อรังและเศรษฐกิจโลกที่ไม่แน่นอน ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐและภาคเอกชนต้องร่วมมือกันแก้เกมโดย “สร้างเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่ม” ซึ่งตัวแปรหลักน่าจะอยู่ที่การผสมผสานการวิจัยและพัฒนา (R&D) กับเมกะเทรนด์ของโลกและการเล่าเรื่องสินค้าที่น่าสนใจ ควบคู่ไปกับการสอดแทรก Soft Power ที่เป็นอัตลักษณ์ของไทยเพื่อเน้นขาย “คุณค่า” ซึ่งในที่สุด “ราคา” ก็จะตามมาเอง”

นอกจากนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการสร้าง “Ecosystem ด้านการค้าการลงทุน” สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมแห่งการเกื้อกูล เปิดโอกาสให้คนตัวเล็กอย่าง SMEs เชื่อมโยงกับผู้ประกอบการรายใหญ่ และกล้าที่จะทะยานออกไปสู่เวทีการค้าการลงทุนโลก ซึ่ง EXIM BANK กำลัง Transform องค์กรไปสู่การเป็น “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย” อย่างเต็มตัว พร้อมเสริมทัพใหญ่ของรัฐบาลเพื่อสร้างฐานการค้าการลงทุนให้กับประเทศรวมทั้งยังส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยงและเสริมแกร่งให้ Supply Chain เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว สานพลัง ทั้งภาครัฐและเอกชนไปกันเป็นองคาพยพ แบ่งหน้าที่กันตามความชำนาญ โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

สำหรับ “การเมืองในฝัน” ผมคาดหวังจะเห็นคนตัวเล็กหรือกลุ่มคนฐานรากได้เข้าถึงมีสิทธิ์ มีเสียง และได้โอกาสผลักดันนโยบายต่างๆเท่ากับคนตัวใหญ่ ลดความเหลื่อมล้ำทางการเมืองซึ่งเป็นต้นตอของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาอย่างยาวนาน

ผมยังอยากเห็นการเมืองที่ทุกคนสามารถพูดคุยและแลกเปลี่ยนกันได้ด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตรและสร้างสรรค์ โดยทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือ อยากเห็นประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ดีขึ้น และสุดท้ายในฐานะที่ผมเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจคนหนึ่ง ผมอยากเห็น DNA การเมืองแบบมืออาชีพ คือ สิ่งไหนดีอยู่แล้วต้องสานต่อ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง สร้างอนาคตที่ดีและสวยงามของลูกหลานเราในวันข้างหน้า

@@@@@@@@

เชื่อว่าความคิดเห็นของภาคเอกชน และหน่วยงานราชการที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ทั้ง EP.1 ที่ได้อ่านกันไปแล้วเมื่อวันที่ 14 ต.ค.ที่ผ่านมา และ EP.2 ที่ได้อ่านกันในครั้งนี้ น่าจะสะท้อนให้เห็นโอกาส ความเป็นจริง และความฝันที่คนไทยทุกคนต้องการให้สังคมไทยตื่น เศรษฐกิจไทยฟื้น และสร้างการเมืองในฝัน

แต่ไฮไลต์ทั้งหมดคงต้องติดตามความคิดความเห็นของวิทยากรชั้นนำของประเทศ จากงานเสวนา THAIRATH FORUM 2022 “ตื่น ฟื้น ฝัน” ในวันที่ 19 ต.ค.นี้ ณ โรงแรมนิกโก้ ทองหล่อ ตั้งแต่เวลา 14.00 น.เป็นต้นไป และติดตามรับฟังรับชมสดได้ผ่าน Facebook และช่อง Youtube ของไทยรัฐ ออนไลน์.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ