“รัสเซียบอมบ์ยูเครนยับ รบเดือดตายกว่า 100 ศพ” พาดหัวตัวยักษ์บนหน้า 1 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อวันศุกร์ที่ 25 ก.พ.2565 สะท้อนให้เห็นถึงปฏิบัติการทางทหารครั้งพิเศษของรัสเซียต่อยูเครนอย่างเป็นทางการ หลังจากสถานการณ์ตึงเครียดระหว่าง 2 ประเทศและเหล่ากองเชียร์ดำเนินต่อเนื่องมาสักระยะหนึ่งแล้ว
แถลงการณ์สะเทือนโลกที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ประกาศเมื่อเช้าตรู่ของวันที่ 24 ก.พ. (ตามเวลาท้องถิ่น) ระบุไม่มีทางเลือกอื่นใด นอกจากการเริ่มปฏิบัติการทางทหารต่อยูเครน เพื่อปกป้องผู้คนที่ถูกกลั่นแกล้ง ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากเหตุความรุนแรงในยูเครนตะวันออกที่ดำเนินมากว่า 8 ปี เพื่อลดอิทธิพลทางทหารของยูเครน ทำให้การเมืองยูเครนหลุดพ้นจากรัฐบาลเผด็จการขวาจัด
โดยระหว่างการออกแถลงการณ์ เสียงระเบิดในเมืองยูเครนนับ 10 เมืองได้ดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แรงระเบิดไม่เพียงคร่าชีวิต-ทรัพย์สินของประชาชน แต่ยังกระทบชิ่งไปถึงตลาดเงิน-ตลาดทุนทั่วโลกที่หวั่นวิตกว่าความขัดแย้งจะลุกลามบานปลาย ตลาดหุ้นไทยระหว่างการเปิดซื้อขายวันที่ 24 ก.พ. ลดลงต่ำสุดเกือบ 40 จุด จนปิดตลาดขยับขึ้นมาเหลือติดลบ 33 จุด ขณะที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นทะลุ 101 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลไปเรียบร้อย ส่วนราคาทองในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงถึง 17 รอบ ทองแท่งราคาขายบาททองคำแตะ 30,000 บาท
ในโลกที่เชื่อมต่อกันเสมือนเป็นหนึ่งเดียว แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินยูเครน-รัสเซีย กระทบชิ่งมายังประเทศไทยที่อยู่ห่างไกลกว่า 7,000 กิโลเมตรอย่างไร เชิญติดตามจากบทวิเคราะห์ประจำสัปดาห์นี้
สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน จนถึงขณะนี้ยังไม่น่าวิตกมากนัก เพราะยังไม่ได้ถล่มกันหนัก การค้าขายของไทยและทั่วโลกกับรัสเซียยังดำเนินการได้ตามปกติ และหากความรุนแรงมากขึ้นกว่านี้ก็จะกระทบทั่วโลก ไม่ใช่แค่ไทยที่เดียว เช่น ถ้าสหรัฐฯและพันธมิตรใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างเต็มพิกัด อย่างห้ามทำการค้ากับรัสเซีย เหมือนที่ทำกับอิหร่าน ทุกประเทศที่ค้าขายกับรัสเซียก็จะได้รับผลกระทบเหมือนกัน หรือถ้าใช้มาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี เช่น เซมิคอนดักเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ประเทศที่ส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปรัสเซียก็จะได้รับผลกระทบ
แต่เชื่อว่าสหรัฐฯและพันธมิตรจะไม่ใช้มาตรการห้ามรัสเซียเข้าถึงการโอนเงินระหว่างประเทศ (SWIFT) ที่จะมีผลทำให้รัสเซียไม่สามารถใช้เงินรูเบิลทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศได้เลย และจะกระทบต่อการค้าทันที เนื่องจากการตัดรัสเซียออกจาก SWIFT จะส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯและพันธมิตรด้วย เหมือนหยิกเล็บเจ็บเนื้อ เพราะจะไม่ได้รับการชำระเงินจากรัสเซียเลย
ขณะนี้ กำลังจับตาดูอยู่ว่าสหรัฐฯและพันธมิตรจะใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซียอย่างไรบ้าง จากก่อนหน้านี้ ได้คว่ำบาตรเฉพาะบุคคล และห้ามทำธุรกิจกับธนาคารรัสเซีย 2 แห่งที่ให้การ สนับสนุนด้านกลาโหม และการพัฒนาเทคโนโลยี ยังไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
“ถ้าใช้มาตรการบีบธนาคารพาณิชย์ของรัสเซียก็จะกระทบต่อการค้าขายแน่นอน แต่ รมว.พาณิชย์ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ตั้งวอร์รูมเกาะติดเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งหารือกับภาคเอกชน เพื่อประเมินสถานการณ์และเตรียมหามาตรการลดผลกระทบให้กับผู้ประกอบการไทยแล้ว เช่น เตรียมการด้านโลจิสติกส์ หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นจนถึงกับปิดเส้นทางขนส่งสินค้า แต่เชื่อว่าสถานการณ์ไม่น่ายืดเยื้อ เพราะนาโต (Nato-องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ กลุ่มพันธมิตรด้านการทหารมีสมาชิกได้แก่ สหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, แคนาดา, สเปน) ไม่ได้ร่วมรบกับยูเครน ถ้ายูเครนถูกโดดเดี่ยว ไม่นานก็น่าจะหมดแรงสู้”
อย่างไรก็ตาม มองว่าทุกครั้งที่รัสเซียถูกคว่ำบาตร รัสเซียมักจะตอบโต้ อย่างครั้งที่รัสเซียเข้ายึดไครเมีย นานาชาติก็คว่ำบาตรรัสเซีย แต่รัสเซียตอบโต้ด้วยการไม่นำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากยุโรปตะวันตก ซึ่งเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่เข้าไปขยายตลาดในรัสเซีย ทั้งอาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ผลไม้กระป๋อง น้ำผลไม้
สำหรับธุรกิจไทยที่ลงทุนในรัสเซีย มีเพียง 2 รายเท่านั้น และไม่ได้รับผลกระทบอะไร ส่วนผู้ส่งออก-นำเข้ายังไม่ตื่นตระหนกใดๆ เพราะมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติยังไม่ชัดเจน มีเพียงความกังวลที่ค่าเงินรูเบิลร่วงลงกว่า 10% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโร ทำให้ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้น และขายยาก แต่สินค้านำเข้าจากทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด สินค้าไทยจึงยังไม่เสียศักยภาพด้านการแข่งขัน ที่ห่วงอีกอย่างคือ ราคาน้ำมันตลาดโลกปรับขึ้นทะลุ 100 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลแล้ว ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า การขนส่งทั่วโลก แต่จะกระทบกับทั่วโลก
ทันทีที่รัสเซียบุกยูเครน ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของ สศช.ทำการรวบรวมผลกระทบต่างๆที่จะมีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะเกิดขึ้น 2 วันภายหลังจากที่ สศช.เพิ่งประกาศคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของปี 2565 ที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.5-4.5% โดยมีค่ากลางที่ 4% จึงต้องติดตามว่าจะมีประเด็นใดบ้างที่ส่งผลกระทบ ในตอนนี้ยังเร็วไปที่จะประเมินผลกระทบตลอดทั้งปี แต่ยังเชื่อว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยจะไม่หลุดไปจากฐานล่างที่ขยายตัวได้ 3.5%
ประเด็นที่ต้องจับตา คือ สถานการณ์ที่ตึงเครียดอยู่นี้จะยาวนานเท่าใด ถ้าจบเร็วก็เกิดผลกระทบน้อย แต่ถ้ายืดเยื้อก็จะเกิดผลกระทบมาก จึงต้องเก็บข้อมูลว่า มาตรการแซงก์ชันของสหภาพยุโรป สหรัฐฯ และประเทศอื่นๆต่อรัสเซียจะมีผลต่อเนื่องถึงเรื่องใดบ้าง รวมทั้งมาตรการกีดกันทางการค้าและมาตรการอื่นๆในปีนี้จะมีอะไรที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ในการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจ สศช.ได้ประเมินภายใต้ปัจจัยสนับสนุน รวมกับข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งภายใต้การประเมินครั้งล่าสุดที่แถลงไป สศช.มองว่ามาตรการที่จะสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้อยู่ที่กรอบที่วางไว้ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยภายนอกประเทศ จะมีเรื่องของการฟื้นตัวภาคท่องเที่ยวที่ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาประเทศไทย 5.1 ล้านคน และการขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกที่เริ่มผ่อนคลายจากการกระจายวัคซีนและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก โดยคาดว่าปีนี้มูลค่าการส่งออกของไทยจะขยายตัวได้ 4.9% ซึ่งใน 2 เรื่องนี้ต้องดูเป็นพิเศษว่าจะสะดุดและไม่เป็นไปตามเป้าหมายจากเหตุการณ์ของรัสเซียและยูเครนในสัดส่วนเท่าใด
ส่วนในด้านข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง สิ่งที่จะกระทบมากยิ่งขึ้นจากที่ประเมินเอาไว้คือ การเพิ่มขึ้นของแรงกดดันด้านเงินเฟ้อตามการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก เพราะรัสเซียผลิตน้ำมัน 11% ของความต้องการในตลาดโลก ซึ่งแน่นอนว่าราคาน้ำมันจะสูงขึ้นไปอีกระยะหนึ่ง พร้อมกับราคาของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่จะส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของไทยสูงขึ้น ตรงนี้ทางกระทรวงพลังงาน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จะต้องร่วมกันพิจารณาว่าบางส่วนจะต้องปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ LNG มาเป็นน้ำมันหรือไม่ โดยขณะนี้สต๊อกน้ำมันในไทยมีอยู่ 60 วัน ที่จะต้องทำการจัดหาเพิ่มเติมด้วย
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทันทีจากวิกฤติรัสเซีย-ยูเครน คือการปรับเพิ่มของราคาพลังงาน ดังจะเห็นได้จากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่พุ่งทะลุระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลไปแล้ว ขณะที่ยังมีความเสี่ยงว่าราคาน้ำมันอาจจะขยับขึ้นได้อีก ยกตัวอย่างเช่น หากราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปี 2565 มีค่าเฉลี่ยที่ 100 ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 70 ดอลลาร์ฯในปี 2564 ก็เท่ากับว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นกว่า 40% จากปีก่อนหน้า ซึ่งจะทยอยมีผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการไปจนถึงอัตราเงินเฟ้อของประเทศ
โดยหากราคาน้ำมันมีน้ำหนัก 10% ในตะกร้าเงินเฟ้อ ราคาเฉลี่ยของน้ำมันที่เพิ่มขึ้นกว่า 40% จะทำให้อัตราเงินเฟ้อที่ผู้บริโภคเผชิญ มีโอกาสที่จะอยู่สูงกว่ากรณีที่ไม่เกิดวิกฤติราว 2-3% ซึ่งเท่ากับว่ามีผลบั่นทอนต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นนั่นเอง นอกจากนี้ มาตรการคว่ำบาตรที่อาจจะลากยาว เนื่องจากทางการรัสเซียคงจะไม่เปลี่ยนแนวทางการดำเนินการในเวลาอันใกล้ ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่หลายประเทศต้องเผชิญอาจจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งทีเดียว
สำหรับมาตรการคว่ำบาตรที่หลายประเทศนำมาใช้กับรัสเซีย คงจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างรัสเซียโดยเฉพาะสหภาพยุโรป (EU) และสหราชอาณาจักร (UK) อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯและยุโรป ขยายตัวต่ำกว่า 4%ในปีนี้ ส่วนเศรษฐกิจรัสเซียเอง คงจะขยายตัวต่ำกว่า 2.8% ที่ไอเอ็มเอฟเคยประเมินหรืออาจหดตัว ติดลบด้วยซ้ำ ขณะที่ผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยและรัสเซีย ในปี 2564 การส่งออกไปยังรัสเซีย ลดลงไปอยู่ที่ 725 ล้านดอลลาร์ฯ ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 1,700 ล้านดอลลาร์ฯ เทียบกับก่อนโควิดในปี 2562 ทำให้ไทยขาดดุลการค้ารัสเซียราว 1,000 ล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ สินค้านำเข้าหลักของไทยจากรัสเซียคือน้ำมัน ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญนั้น ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋อง และเครื่องปรับอากาศ สำหรับในปี 2565 นี้ วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน คาดว่าจะทำให้การส่งออกของไทยลดลงจากปี 2564 ส่วนการนำเข้านั้น ราคาน้ำมันจากที่ปรับตัวขึ้นอาจทำให้ไทยมียอดขาดดุลการค้ากับรัสเซียเพิ่มมากขึ้นกว่าในปี 2564
ด้านผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน หากเทียบกับปลายปี 2564 แล้ว เงินบาทยังแข็งค่าถึงเกือบ 3% ทิศทางของเงินบาทในช่วงข้างหน้า น่าจะมีประเด็นหลักอยู่ที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยว่าเป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่ หากสถานการณ์สู้รบในยูเครนสามารถยุติลงเร็ว เงินบาทก็อาจจะกลับไปมีแรงหนุนได้อีก ทั้งนี้ แม้ห้องค้าธนาคารกสิกรไทย จะมองค่าเงินบาท ณ ปลายปีนี้ที่ 32.0-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็ยังต้องติดตามตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะราคาน้ำมัน จำนวนนักท่องเที่ยว และฐานะดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศ
เมื่อเกิดสถานการณ์สงคราม นักลงทุนจะหนีจากสินทรัพย์เสี่ยง เพื่อโยกเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยหรือมีความมั่นคงมากกว่า ซึ่งในโลกของการลงทุน เงินที่ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเพื่อหวังเก็งกำไรระยะสั้นๆ
ตลาดนี้จึงเป็นตลาดเก็งกำไร ซึ่งมีความเสี่ยงและความผันผวนสูง ดังนั้นเมื่อเกิดความรุนแรงในยูเครน-รัสเซีย จึงมีการป้องกันความเสี่ยงขาลง โดยขายออกมาเพื่อโยกเงินลงทุนในทองคำและสินทรัพย์ในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งพันธบัตรและเงินดอลลาร์ จึงทำให้ราคาสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งบิทคอยน์และคริปโตต่างๆราคาลดลง แต่ที่แตกต่างคือ ในโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล เงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดนี้ มีบิทคอยน์เป็นเงินพิเศษต่างจากเหรียญคริปโตอื่นๆ คือ บิทคอยน์ไม่มีศูนย์กลาง ไม่มีใครควบคุมได้ ไม่อยู่ภายใต้รัฐบาลประเทศไหน หรือองค์กรเอกชนคนใด บิทคอยน์จึงเป็นระบบการเงินที่ยับยั้งไม่ได้ แทรกแซงไม่ได้ เราจึงเห็นความต้องการบิทคอยน์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ เพราะถูกใช้เป็นสินทรัพย์เพื่อการเก็บรักษามูลค่า ป้องกันความเสี่ยงจากการถูกแทรกแซงหรือควบคุมโดยรัฐบาล
ดังนั้น หลังราคาบิทคอยน์ลดลงในช่วงแรกที่เกิดการโจมตียูเครน ราคาก็กลับเด้งขึ้นมาสูงกว่าที่ลดลงไป ขณะที่ราคาคริปโตหรือเหรียญอื่นๆที่ไม่ได้มีคุณสมบัติเหมือนบิทคอยน์ราคายังคงลดลง จึงอาจเรียกได้ว่าบิทคอยน์ถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในโลกของการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลก็ได้
“ล่าสุด จากการโจมตีในยูเครน ประชาชนทั้งยูเครน-รัสเซียพากันถอนเงินออกจากธนาคาร เพื่อแลกเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จนยูเครนต้องระงับ/จำกัดการถอนเงิน รวมทั้งระงับโอนเงินผ่านอินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง ขณะที่รัสเซียห้ามไม่ให้แลกเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้หลายคนพยายามถือบิทคอยน์แทน เพราะซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ตลอด”
“รัสเซียเป็นเหมืองขุดบิทคอยน์ อันดับต้นๆ ของโลกมีสัดส่วน 10-20% ขณะที่สหรัฐอเมริกามีสัดส่วน 20-30% ประธานาธิบดีปูตินได้ออกมาบอกว่ารัสเซียอาจหันมาใช้บิทคอยน์ในระบบการเงิน ซึ่งมองว่าเพราะไม่ต้องการให้สหรัฐฯมาแทรกแซงระบบเศรษฐกิจและการเงินของรัสเซีย โดยไม่ถูกแทรกแซงหรือคว่ำบาตรใดๆ คาดว่าขณะนี้คนรัสเซียมีการถือครองบิทคอยน์มากเป็นอันดับต้นๆของโลก”.
ทีมเศรษฐกิจ