นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยผลการสำรวจ “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม” ประจำเดือน ส.ค.64 จัดทำโดยสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า มีโรงแรมตอบแบบสำรวจ 234 แห่ง โดยเป็นโรงแรมสถานกักกันทางเลือก (ASQ) 14 แห่ง และฮอสพิเทล 5 แห่ง ระหว่าง 13-28 ส.ค.ที่ผ่านมา ชี้ว่าผู้ประกอบการที่พักแรมยังคงได้รับผลกระทบจากโควิด สะท้อนจากอัตราการเข้าพักยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มปรับตัวแย่ลง ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีสภาพคล่องลดลงมาก หากสถานการณ์โควิดยืดเยื้อกว่าที่คาด พบว่า 52% เลือกปิดกิจการชั่วคราว ขณะที่ 9% อาจตัดสินใจปิดกิจการถาวร ส่วน 30% จะชะลอลงทุนออกไปก่อน และ 9% ปรับตัวไปทำธุรกิจอื่น
“สถานะกิจการของโรงแรมจำนวน 215 แห่ง ไม่รวมโรงแรมที่เป็น ASQ และฮอสพิเทล เปิดกิจการปกติ 48.4% เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.ค.ที่เปิดกิจการ 40.1% จากโรงแรมในภูเก็ตที่เปิดรับนักท่องเที่ยว และโรงแรมในกรุงเทพฯที่ลูกค้าพักระยะยาวเป็นหลัก ขณะที่มีโรงแรมเปิดกิจการบางส่วนตั้งแต่ 50% ขึ้นไป 9.8% ลดลงจากเดือน ก.ค.ซึ่งอยู่ที่ 11% และที่เปิดกิจการบางส่วนแต่ไม่เกิน 50% มีสัดส่วน 25.1% ลดลงจากเดือน ก.ค.ซึ่งอยู่ที่ 27.2% และปิดกิจการชั่วคราว 16.7% ลดลงจากเดือน ก.ค.ซึ่งอยู่ที่ 21.7% คาดว่าจะกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งในไตรมาส 4 นี้”
อย่างไรก็ตาม พบว่าส่วนใหญ่ 58% ของโรงแรมที่เปิดกิจการอยู่ทั้งหมด มีรายได้ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาไม่ถึง 10% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดวิกฤติโควิด ด้านโรงแรมที่มีรายได้กลับมา 11-30% มีสัดส่วน 17%, รายได้กลับมา 31-50% มีสัดส่วน 6%, รายได้กลับมา 51-70% มีสัดส่วน 7% และรายได้กลับมามากกว่า 70% มีสัดส่วน 12% โดย 70% ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด มีสภาพคล่องลดลงมากกว่า 20% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา และ 65% มีสภาพคล่องเพียงพอสำหรับดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน โดยครึ่งหนึ่งมีสภาพคล่องเพียงพอไม่ถึง 1 เดือน กระจายอยู่ทุกภูมิภาค ด้านอัตราการเข้าพักของเดือน ส.ค.เฉลี่ยอยู่ที่ 10.6% ทรงตัวจากเดือน ก.ค. โดยหากไม่รวมกลุ่มโรงแรมที่รับลูกค้าตามโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” และลูกค้าที่เข้าพักระยะยาวเป็นหลัก อัตราเข้าพักเฉลี่ยจะอยู่ที่ 7.5% เท่านั้น.