บาทอ่อนสะท้อนเศรษฐกิจเปราะบางยุคโควิด-19

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

บาทอ่อนสะท้อนเศรษฐกิจเปราะบางยุคโควิด-19

Date Time: 2 ส.ค. 2564 05:10 น.

Summary

  • ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ยอดคนติดเชื้อ-คนตายพุ่งทำลายสถิติทุกวัน จนระบบสาธารณสุขของไทย เกือบจะไม่สามารถรองรับสถานการณ์ได้

Latest

Credit Scoring กับการเติบโตของเศรษฐกิจ

ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ยอดคนติดเชื้อ-คนตายพุ่งทำลายสถิติทุกวัน จนระบบสาธารณสุขของไทย เกือบจะไม่สามารถรองรับสถานการณ์ได้

ในฝั่งของเศรษฐกิจไทย เจอผลกระทบเป็นลูกโซ่ ความเชื่อมั่นหดหาย การจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนหยุดชะงัก ฉุดให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว สัปดาห์ที่ผ่านมาค่าบาทลงไปแตะที่ 32.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าที่สุดในรอบ 15 เดือน นับตั้งแต่เดือน เม.ย.63 ที่เงินบาทเคยอ่อนค่าแตะ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

หากมองย้อนหลังนับจากต้นปี เศรษฐกิจสหรัฐฯฟื้นตัว หลังจากปูพรมฉีดวัคซีน เกิดกระแสเงินลงทุนไหลกลับสู่สหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาครวมถึงค่าเงินบาทอ่อนค่าลง แต่ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่ามากที่สุดจากต้นปี อ่อนค่าไปแล้ว 9.2%

ทำไมบาทไทยจึงอ่อนค่าลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค ขณะเดียวกันอานิสงส์บาทอ่อนในรอบนี้ ส่งผลดีต่อตัวเลขส่งออกและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกหรือไม่ อย่างไร วันนี้ “ทีมเศรษฐกิจ” มีคำตอบ

ดร.เชาว์ เก่งชน
ประธานกรรมการบริหาร บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

นับตั้งแต่ปลายปี 2563 จนถึงขณะนี้ เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วกว่า 9.0% เป็นผลมาจากเงินดอลลาร์ฯที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะที่เงินบาทยังถูกกดดันจากฐานะที่ถดถอยของดุลบัญชีเดินสะพัด อันสืบเนื่องมาจากรายได้จากการท่องเที่ยว ที่ถูกกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สำหรับแนวโน้มเงินบาทในช่วงที่เหลือของปี 2564 ปัจจัยหลักที่ต้องติดตาม ยังน่าจะเป็นทิศทางของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ สามารถขยายตัวได้ดีอย่างที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ประเมินไว้ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ก็คงจะได้รับแรงหนุนต่อเนื่อง จากการคาดการณ์ของนักลงทุนในเรื่องการปรับนโยบายการเงินของเฟด โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า เฟดอาจจะทยอยปรับลดขนาดการอัดฉีดเงินเข้าระบบ QE ในช่วงต้นปี 2565 ตามมาด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในปี 2566

ในทางตรงกันข้าม หากสหรัฐฯเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกระลอก จนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสะดุดลง เฟดก็คงจะต้องเลื่อนการปรับนโยบายการเงินออกไป ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯกลับมาอ่อนค่าลงได้

โดยห้องค้าเงินของธนาคารกสิกรไทย ได้คาดการณ์ว่าเงินบาทอาจจะปิดระดับ ณ สิ้นปี 2564 นี้ที่ 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนมุมมองที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะขยายตัวได้ไม่แข็งแกร่งอย่างที่ตลาดคาดหวังกันไว้ โดยอาจจะถูกถ่วงโดยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน แต่ก็คงจะไม่รุนแรงเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 โดยในกรณีเลวร้าย เฟดอาจจะเลื่อนการปรับนโยบายการเงินออกไป 6-9 เดือน จากที่ตลาดเคยคาดการณ์เอาไว้

นอกจากประเด็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯแล้ว ปัจจัยภายในประเทศเอง ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท/ดอลลาร์ฯด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดที่ยังคงมีความรุนแรง การท่องเที่ยวไม่สามารถฟื้นตัวได้ทันในปีนี้และนำไปสู่การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจ รวมไปถึงประเด็นฐานะการคลังของรัฐบาล ที่เผชิญกับการขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องและการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหนี้สาธารณะ

“อย่างไรก็ดี ผมมองว่าแม้เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับปัจจัยลบต่างๆ อันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่เงินบาทคงจะอ่อนค่าลงไปอีกไม่มากนัก จากระดับในปัจจุบันที่ 32.97 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้เนื่องจากฐานะที่แข็งแกร่งของทุนสำรองระหว่างประเทศไทย ล่าสุดอยู่ที่ราว 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”

“มองว่าในปี 2564 นี้ เรื่องของค่าเงินบาทยังไม่มีอะไรที่น่าวิตก เพราะได้รับแรงหนุนจากฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง แม้เกิดกรณีเลวร้ายที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าคาดหรือถึงกับหดตัว เงินดอลลาร์สหรัฐฯเองก็คงจะถูกกดดันจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในสหรัฐฯเช่นกัน ส่วนเมื่อผ่านปีนี้ไปแล้ว ทิศทางของเงินบาทจะเป็นเช่นไรนั้น คงจะขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯหรือไทย ใครจะสามารถฟื้นตัวจากไวรัสโควิด-19 ได้เร็วกว่ากัน”

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์
นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย

ตามทฤษฎี การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมาก ถือว่าเป็นผลดีกับการส่งออกสินค้าไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ที่จะทำให้การแข่งขันด้านราคาดีขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง คือทำให้ราคาข้าวของไทยไม่แพงมากนัก เมื่อเทียบกับข้าวของประเทศคู่แข่ง จากก่อนหน้านี้ราคาข้าวไทยสูงกว่ามาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะค่าเงินบาทแข็ง แต่ค่าเงินคู่แข่งอ่อนค่ามากกว่า

แต่ประเด็นสำคัญคือ การอ่อนค่าของเงินบาท มาจากเงินเหรียญสหรัฐฯแข็งค่า จึงทำให้ค่าเงินทั่วโลกอ่อนค่าลง รวมถึงค่าเงินเวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน คู่แข่งสำคัญของไทย ดังนั้น การส่งออกข้าวแทบไม่ได้ประโยชน์จากการที่เงินบาทอ่อนค่าเลย เพราะค่าเงินคู่แข่งก็อ่อนเหมือนกัน ที่สำคัญ ตอนนี้ แม้มีคำสั่งซื้อเข้ามา ก็ยังส่งออกได้น้อย

ปัญหาใหญ่คือ ไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ และไม่มีเรือมารับสินค้า เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ขาดแคลน ผู้ส่งออกทั่วโลกแย่งกันจองเรือ จองตู้ ผลักดันให้ค่าระวางเรือปรับขึ้นหลายเท่าตัว โดยเฉพาะเส้นทางอเมริกาและยุโรป เพิ่มขึ้นถึง 5-6 เท่าตัว มาอยู่ที่กว่า 12,000 เหรียญฯต่อตู้ 20 ฟุต จากเดิม 2,500 เหรียญฯ

“ตอนนี้ ค่าเรือแพงกว่าราคาข้าวอีก แต่ถึงแม้มีตู้คอนเทนเนอร์ แต่ก็ไม่รู้จะมีเรือเข้ามารับสินค้าได้เมื่อไร ลูกค้าเลยหันไปซื้อจากประเทศอื่นที่อยู่ใกล้ๆแทน ส่วนกรณีที่ภาครัฐบอกว่า มีเรือ และตู้สินค้าเข้ามาไทยมากขึ้นแล้วนั้น เป็นเพราะไทยมีการส่งออกมากขึ้น แต่จะรับเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าสูง มีน้ำหนักน้อย บรรทุกได้ครั้งละมากๆ แต่ใช้พื้นที่น้อย แต่สินค้าเกษตร อย่าง ข้าว หรือมันสำปะหลัง ที่มีน้ำหนักมาก ใช้พื้นที่มาก แทบหาตู้และเรือไม่ได้เลย”

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในอุตสาหกรรมข้าวอีก เพราะแรงงานบางส่วนกลับประเทศ และยังไม่ได้กลับมา ส่วนที่ยังอยู่ก็หมดอายุการทำงาน หรือบางส่วนติดโควิด-19 ก็ต้องรักษา และมีบางส่วนกักตัวอีก แรงงานหายไปมากกว่าครึ่ง อีกทั้งยังมีกฎเกณฑ์เยอะมากที่จะต้องปฏิบัติตาม เช่น รถบรรทุกที่จะเข้ามารับสินค้า กำหนดให้คนขับต้องฉีดวัคซีนแล้ว มีการตรวจหาเชื้ออย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ทำให้การทำงานของผู้ส่งออกล่าช้ามาก

ปัญหาเหล่านี้ ทำให้ในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ ไทยส่งออกข้าวได้เพียง 2.5 ล้านตัน เฉลี่ยเดือนละ 400,000 ตัน จากช่วงปกติส่งออกได้เดือนละกว่า 800,000–1 ล้านตัน และทั้งปีนี้ น่าส่งออกได้ประมาณ 5 ล้านตันเท่านั้น แต่ก็ยังหวังว่า ถ้าในช่วงไตรมาส 4 สถานการณ์เรือและตู้คอนเทนเนอร์คลี่คลาย อาจจะทำให้ส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 700,000–1 ล้านตัน และทั้งปีจะได้มากกว่า 5 ล้านตัน แต่ต้องรอดูว่าอินเดียจะลดราคาข้าวลงมาแข่งขันในตลาดหรือไม่ ถ้าลดลงมา ไทยจะส่งออกยากขึ้นอีก

เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

มี 3 เหตุผลหลักๆที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 15 เดือนครั้งใหม่ หรือเกือบหลุด 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ นับตั้งแต่ต้นปี 2564 ที่เงินบาททรุดตัวลงเกือบ 10% ส่งผลให้เงินบาทกลายเป็นสกุลเงินที่อ่อนแอที่สุด ในปีนี้เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศอื่นๆในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งผมมองว่ามาจากเหตุผลดังต่อไปนี้

1.รายได้ในรูปเงินบาทที่หายไป โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยว ที่มีอัตราการเติบโตมาตลอดหลายปี จนถึงปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยมากถึง 39.9 ล้านคน ทำรายได้ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12% ของอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพราะการที่มีนักท่องเที่ยวนำเงินตราต่างประเทศ เข้ามาเที่ยวในเมืองไทยและนำมาแลกเงินบาทเพื่อใช้จ่ายจำนวนมาก ส่งผลทำให้เกิดความต้องการ (Demand) เงินบาทเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้เงินบาทเป็นที่นิยมและแข็งค่าขึ้น

2.ความเชื่อมั่นและความกังวลของต่างชาติต่อเศรษฐกิจไทย ต่อการแก้ไขปัญหาโควิด-19 เนื่องจากความล่าช้า ในการจัดหาวัคซีนให้เพียงพอ และอัตราการฉีดที่น้อย ประกอบกับการกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์เดลตา ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก แม้รัฐบาลจะประกาศล็อกดาวน์ใน 13 จังหวัด แต่มีผู้ติดเชื้อสูงขึ้นตลอดเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 15,000 คน และล่าสุดเป็น 18,000 คน ถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ อาจทำให้ติดเชื้อสูงกว่า 20,000 คนต่อวัน และจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และล่าสุดสื่อยักษ์ใหญ่ของโลก นิเคอิ (Nikkei) ยังจัดอันดับประเทศที่จะฟื้นตัวจากโควิด -19 ให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 119 จาก 120 ประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจและตลาดเงินของไทยในสายตานักลงทุนต่างประเทศ ทำให้เกิดแรงเทขายหุ้นสุทธิ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน 70,000 ล้านบาท สร้างแรงกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปด้วย

3.การฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มดีขึ้นมาก ภาคธุรกิจสหรัฐฯที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งภาคการผลิตและบริการ ทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มทำให้มีรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้กลับมาแข็งแรง ล่าสุดประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ออกมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่อีกครั้ง ด้วยวงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือคิดเป็นเงินไทย 60 ล้านล้านบาท ทั้งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศทั้งหลาย ครอบคลุมการลงทุนการสร้างถนน สะพาน ทางรถไฟ รถยนต์ไฟฟ้า ระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศ

“กรณีดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสโยกเม็ดเงินลงทุนกลับสู่สหรัฐฯมากขึ้น เพราะโอกาสในการสร้างผลตอบแทนได้มากกว่าภูมิภาคอื่นๆของโลก ทำให้ความต้องการดอลลาร์สหรัฐฯมากขึ้น ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นตาม”

อย่างไรก็ตาม มุมมองของ ส.อ.ท.ต่อค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ประเมินว่าจะส่งผลดีต่อผู้ส่งออกของไทย ทำให้สินค้าของไทยราคาถูกลง สามารถแข่งขันได้ และช่วยให้ยอดการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนได้จากยอดการส่งออกในเดือน พ.ค.-มิ.ย.ที่ขยายตัวขึ้น 41.59% และ 43.82% ตามลำดับ ส่งผลให้ 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) มีมูลค่า 132,334 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัว 15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“หลังจากนี้ไป ถ้าสถานการณ์ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ตลอดทั้งปีนี้ การส่งออกอาจขยายตัวมากกว่า 10% ยกเว้นแต่ถ้าการระบาดหนักของโควิด-19 เข้าไปยังคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะเพื่อการส่งออก ก็อาจทำให้การผลิตหยุดชะงัก ต้องปิดสายการผลิต หรืออาจต้องปิดโรงงานชั่วคราว ย่อมส่งผลกระทบที่ทำให้ยอดการส่งออกช่วงครึ่งปีหลังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย”

ไพบูลย์ นลินทรางกูร
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้

ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวตลอดทั้งปีนี้ จนแตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นทิศทางที่น่ากังวลมากสำหรับตลาดหุ้น เพราะหนึ่งในสาเหตุของการอ่อนตัวของเงินบาทในรอบนี้ เกิดจากการที่นักลงทุนไทยนำเงินไปลงทุนในตลาดทุนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งไปลงทุนตรงในตลาดหุ้น และลงทุนผ่านกองทุนรวม FIF (Foreign Investment Funds) ประเภทต่างๆ ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทย

ยอดรวมของเงินลงทุนทั้งหมดใน FIF ในปัจจุบัน สูงถึงกว่า 1 ล้านล้านบาท และยังมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีก จากสถานการณ์โควิดในประเทศที่น่าจะใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าจะสามารถควบคุมได้ ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจยังคงย่ำแย่ ดังนั้น การลงทุนในตลาดทุนต่างประเทศจึงเป็นทางออกในการสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่า เงินทุนที่มีแนวโน้มไหลออกอีกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งน่าจะทำให้ทิศทางค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าได้อีกในระยะสั้น

ทิศทางค่าเงินบาทที่ยังคงอ่อนตัว แปลว่าโอกาสที่จะเห็นเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ อีกทั้งตลาดหุ้นไทยยังไม่มีความน่าสนใจในระดับมหภาค เพราะเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวเพียงราว 1% ในปีนี้ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำที่สุดในเอเชีย และอาจะย่ำแย่ที่สุดในโลก ถ้าไม่รวมประเทศขนาดเล็กๆ

ถึงแม้ค่าเงินบาทที่อ่อนลงมาก จะช่วยทำให้ภาคส่งออกได้เปรียบจากราคาสินค้าที่ถูกลง แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวได้มากนัก เพราะความล่าช้าในการจัดหาวัคซีนและมาตรการล็อกดาวน์ที่น่าจะยังคงต้องใช้ไปอีกระยะหนึ่ง จะยังคงทำให้การบริโภคและการลงทุนสูงหดตัวต่อไป

ถ้าเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างตลาดหุ้นไทยและค่าเงินบาทในอดีต จะพบว่าตลาดหุ้นไทยมัก perform ได้ดีในช่วงบาทแข็งค่า มากกว่าในช่วงบาทอ่อนค่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะหุ้นส่งออกที่อยู่ในตลาดหุ้นมีจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับหุ้น Domestic Plays นอกจากนั้น นักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 35-40% ของการซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ยังมักนิยมเข้าลงทุนในช่วงทิศทางบาทขาขึ้น มากกว่าทิศทางบาทขาลง เพราะจะทำให้ขาดทุนค่าเงิน

ผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทในรอบนี้ น่าจะทำให้ตลาดหุ้นไทยอยู่ในแนวโน้ม sideways ไปอีกระยะหนึ่งจนกว่าค่าเงินบาทจะเริ่มนิ่งและมีแนวโน้มแข็งตัวขึ้น ซึ่งก็น่าจะเกิดขึ้นหลังจากเราสามารถควบคุมการระบาดของโควิดรอบนี้ได้ และอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 35-40% ของประชากร.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ