ตามไปดู "ร้านหนังสือ" ยุคโควิด แม้ลุยขายออนไลน์แต่ยอดไม่ดีเท่าหน้าร้าน

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ตามไปดู "ร้านหนังสือ" ยุคโควิด แม้ลุยขายออนไลน์แต่ยอดไม่ดีเท่าหน้าร้าน

Date Time: 26 ก.ค. 2564 11:11 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • ร้านหนังสือกระทบหนักช่วงล็อกดาวน์ ขายออนไลน์แต่ยอดขายไม่ดีเท่าหน้าร้าน คาดอุตสาหกรรมหนังสือไปต่อได้ แต่ต้นทุนสูงปรี๊ด อาจทำนักอ่านปาดเหงื่อ เจียดเงินซื้อสวนทางรายรับ

Latest


  • หนังสือเล่ม VS อีบุ๊ก ยุคสมัยเปลี่ยนทางเลือกเปลี่ยน หลากตัวเลือกสวรรค์ของนักอ่านตัวยง
  • โควิดมา ทำร้านขายหนังสือต้องดิ้น หันมาขายออนไลน์ แต่ยอดขายไม่เท่าหน้าร้าน แม้ทำเป็นส่วนเสริมแต่กลายเป็นรายได้หลักช่วงล็อกดาวน์ 
  • ห่วงอนาคตต้นทุนผลิตหนังสือดีดตัว ไม่สอดคล้องค่าครองชีพ นักอ่านอาจไม่ซื้อ สำนักพิมพ์หันมาขายเอง ไม่พึ่งพาร้านหนังสืออิสระ 

ใครเป็นแฟนตัวยงของร้านหนังสือ หรือ ร้านขายหนังสือ ยกมือขึ้น ปัจจุบันร้านหนังสือ ไม่ใช่แค่สถานที่ขายหนังสือ แต่กลายเป็นแหล่งพูดคุย แลกเปลี่ยนความรู้ และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของเหล่า "หนอนหนังสือ" เลยก็ว่าได้

เราลองนึกภาพตาม ร้านหนังสือที่มีโต๊ะมุมเล็กๆ ข้างกันมีถ้วยกาแฟ มีคนคอเดียวกันพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติ และวิพากษ์งานเขียน หรือตีสัญญะในหนังสือเล่มนั้นที่ต้องการสื่อสาร...จะเห็นได้ว่า ร้านหนังสือก็แทบจะไม่ต่างกับสภากาแฟของเหล่าผู้สูงวัยที่เราเห็นในตามต่างจังหวัด

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป E-Book หรือ อีบุ๊ก ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมาก หนังสือชื่อดังมากมายก็ถูกนำไปทำเป็น อีบุ๊ก วางขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น MEB, Ookbee รวมไปถึง app อ่านนิยายที่เราคุ้นเคยกัน เช่น เด็กดี, readAwrite, จอยลดา รวมไปถึงธัญวลัย ที่มีทั้งแบบฟรีและเสียเงิน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมี E-Book เข้ามา แต่มนตร์เสน่ห์ของ "ร้านหนังสือ" ยังคงอยู่ในใจนักอ่านหลายๆ ท่าน หากว่างเว้นจากกิจกรรมหรือภารกิจใดๆ เหล่าบรรดาหนอนหนังสือก็ยังคงแวะเวียนไปซื้อหนังสือ แต่พอมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลจำเป็นต้องล็อกดาวน์

ส่งผลให้ "ร้านหนังสือ" หลายแห่งจำใจต้องปิดหน้าร้านลงชั่วคราว และหันไปขายหนังสือผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก หรือขายตามแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลส เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้าแทน 

แต่จากสถานการณ์โควิดระบาดที่ลากยาวมาเกือบ 2 เดือน ร้านหนังสือกลายเป็นสถานที่ที่ต้องปิดไปโดยปริยาย ทำให้ยอดขายบางร้านลดฮวบเป็นหลักหมื่นต่อเดือนเลยทีเดียว 

ก้องกานต์ จันทร์อ่อน ผู้ประสานงานร้านหนังสือ "สวนเงินมีมา" ได้บอกกับ "นักล่าฝัน" ว่าช่วงที่เปิดร้านปกติยอดขายที่ได้จากหน้าร้าน รวมกันแล้วประมาณ 100 เล่มต่อเดือน โดยกลุ่มลูกค้าที่มาซื้อหนังสือจะเป็นคนอายุ 30-40 ปี แต่ก็มีวัยรุ่น และนักศึกษาแวะมาที่ร้านบ้าง

หนังสือส่วนใหญ่ของร้านจะเป็นหนังสือประเภทศาสนา ปรัชญา หนังสือสังคมการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่ชื่นชอบหนังสือแนวๆ นี้ แต่พอโควิดเริ่มระบาดช่วงล็อกดาวน์ปี 63 เราต้องปิดหน้าร้านราวๆ 1 เดือน ในเดือน มี.ค.-เม.ย.

และในปี 64 นี้ก็เช่นกัน โควิดก็กลับมาระบาดหนักอีกครั้ง จึงทำให้ต้องปิดหน้าร้านชั่วคราว (อีกแล้ว) ด้วยความที่เราเน้นขายผ่านหน้าร้านเป็นหลัก พอล็อกดาวน์ก็แน่นอนว่ายอดขายหนังสือของร้านลดไปพอสมควร ย้อนกลับไปช่วงปี 63 เราทำยอดขายหนังสือได้มากสุดประมาณเกือบ 1 แสนบาทต่อเดือน

ปัจจุบันยอดขายเหลือเพียงหลักหมื่นบาทต่อเดือน ส่วนตัวคิดว่าถ้ากลับมาเปิดร้านได้ตามปกติ น่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ยอดขายน่าจะกลับมายืนที่หลักแสน ช่วงนี้ร้านจึงหันมาขายหนังสือผ่านออนไลน์แทน ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ก แต่ยอดขายไม่ได้ดีเท่าหน้าร้าน เนื่องจากลูกค้าจะนิยมซื้อทางหน้าร้านมากกว่า

เสน่ห์ร้านหนังสืออยู่ที่หน้าร้าน ไม่ใช่ออนไลน์

ภูมิรพี โรจนะบุรานนท์ ทีมงานร้าน Bookmoby ซึ่งเป็นร้านหนังสือในหอศิลปและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เนื่องจากช่วงล็อกดาวน์ หอศิลปฯ ถูกสั่งปิดชั่วคราวเพราะเป็นพื้นที่สีแดง ทางร้านจึงได้ผลกระทบ ต้องปิดร้านตามไปด้วย

ลูกค้าร้านหนังสือเรา ส่วนใหญ่ที่มามีตั้งแต่วัย 18-35 ปี สนใจการเมืองและวรรณกรรมแปล นวนิยายไทย รวมถึงเรื่องสั้นด้วย หากขายหน้าร้านจะขายได้ 500-600 เล่มต่อเดือน คิดเป็นเงินก็ราวๆ 150,000 บาทต่อเดือน

ตั้งแต่ล็อกดาวน์มายอดขายร้านลดลงถึง 80% เพราะว่าเน้นหน้าร้านเป็นหลัก ขายออนไลน์เป็นรอง และเราก็เพิ่งจะมาจับทางออนไลน์ได้ไม่นาน ยอดขายที่ได้จึงไม่ดีนัก แต่เพื่อความอยู่รอดของร้านเลยต้องปรับตัวตามยุคสมัยและสภาพเศรษฐกิจ

ถ้าเปรียบหน้าร้านกับออนไลน์มาประชันกัน เขาบอกว่า ซื้อหนังสือเล่มของจริงหน้าร้านกับซื้อหนังสือผ่านออนไลน์อารมณ์จะต่างกันลิบลับ แต่ถ้าได้กลับมาเปิดหน้าร้านอีกครั้ง รอบนี้จะหันมาทำหน้าร้านกับขายออนไลน์ควบคู่กัน เพื่อให้ได้รายได้ทั้ง 2 ทาง

"จริงๆ พวกผมก็ยังอยากขายหน้าร้านมากกว่า เพราะลูกค้าจะได้สัมผัสกับหนังสือได้ ซื้อออนไลน์กับการได้จับซื้อมันไม่เหมือนกันจริงๆ ครับ ลูกค้าบางคนมองเห็นแค่หน้าปก แต่ไม่ได้สัมผัสด้านใน ไม่ได้อ่านตัวอย่างพอซื้อไปอาจจะไม่ชอบก็ได้ ส่วนที่ขายในช้อปปี้ ตอนนี้ก็ต้องทำครับ ไม่งั้นร้านจะไม่มีรายได้เข้าเลยครับ เหมือนเป็นภาวะจำยอมต้องทำ" 

ทั้งนี้ ผู้คลุกคลีกับร้านหนังสือทั้ง 2 แห่ง บอกตรงกันว่า อุตสาหกรรมหนังสือที่เป็นกระดาษ ยังคงไปต่อได้ โดยเฉพาะหนังสือเฉพาะกลุ่ม เหล่าหนอนหนังสือคงใจชื้นขึ้นมาได้หน่อย แต่ข่าวร้ายก็คือ ร้านหนังสือส่วนใหญ่จะกังวลต้นทุนการผลิตของสำนักพิมพ์ ที่ปัจจุบันการผลิตหนังสือแต่ละเล่มมีต้นทุนสูงมากขึ้น อาจไม่สอดคล้องกับรายได้มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ

รวมทั้งปัจจุบันทางสำนักพิมพ์ได้ผันตัวมาขายหนังสือของตัวเองผ่านออนไลน์แล้ว ไม่ต้องพึ่งพาหน้าร้านอีกต่อไป ขณะที่หนังสือบางประเภทอาจไม่ตอบโจทย์หนอนหนังสือเท่าที่ควร เหล่านี้ถือว่าเป็นโจทย์ใหญ่ที่ร้านหนังสือขนาดเล็กและขนาดกลางอาจจะต้องหากลยุทธ์มาแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ธุรกิจ "ร้านหนังสือ" ยังคงอยู่ และไม่ถูกกลืนหายไปตามกาลเวลา 

ผู้เขียน : นักล่าฝัน nathaorn.s@thairathonline.co.th 
กราฟิก : sathit chuephanngam


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ