ประกันโควิด ซื้อแบบไหน เคลมอย่างไร ให้ครอบคลุมไม่ต้องควักเงินมาจ่ายอีก

Economics

Analysis

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ประกันโควิด ซื้อแบบไหน เคลมอย่างไร ให้ครอบคลุมไม่ต้องควักเงินมาจ่ายอีก

Date Time: 2 พ.ค. 2564 08:30 น.

Video

คนไทยจ่ายภาษีน้อย มนุษย์เงินเดือนรับจบ ปัญหาอยู่ที่ระบบหรือคนกันแน่ ? | Money Issue

Summary

  • วิธีเคลมประกันโควิด-19 ทั้งแบบ เจอ จ่าย จบ และแบบคุ้มครองค่ารักษาพยาบบาล เคลมอย่างไร ให้ครอบคลุม ไม่ต้องควักเงินมาจ่ายอีก

Latest


  • รู้จักประกันชีวิต ประกันวินาศภัย  
  • 2 วิธีต้องรู้ก่อนซื้อประกัน 
  • 4 เรื่องเกี่ยวกับประกันโควิด-19 ที่เราต้องรู้ 

โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง โดยเฉพาะเดือน เม.ย. 64 หรือที่ใครหลายคนชอบเรียกว่า "โควิดระบาดรอบ 3" ซึ่งรอบนี้เรามีคนไข้วิฤกติสูง และมีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ "เศรษฐินีศรีราชา" ก็ได้แต่ภาวนาให้วัคซีนโควิด-19 เข้ามาเร็วๆ นาทีนี้ วัคซีน คือ ความหวัง ที่จะพาประเทศออกจากวิฤกติโควิด-19 ได้

ตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นมา "ประกันโควิด" ได้รับความนิยมจากคนไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งการซื้อประกัน ถือเป็นการป้องกันความเสี่ยงอย่างหนึ่ง เรียกง่ายๆ ว่า ประกันช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะช่วยจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลให้นั่นเอง

หลายคนมีคำถามเกี่ยวกับการซื้อประกันโควิด เข้ามาเป็นจำนวนมาก และมีหลายคนสงสัยวิธีการเคลมประกันโควิด "เศรษฐินีศรีราชา" จึงขอรวบรวมข้อสงสัยมาอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราต้องทำความเข้าใจประกันชีวิต และประกันภัยเสียก่อน 

รู้จักประกันชีวิต ประกันวินาศภัย

ประกันชีวิต คือ วิธีการที่บุคคลกลุ่มหนึ่งร่วมกันเฉลี่ยภัยอันเนื่องจากการตาย การสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ และการสูญเสียรายได้ในยามชรา โดยที่เมื่อบุคคลใดต้องประสบกับภัยเหล่านั้น ก็ได้รับเงินเฉลี่ยช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ตนเองและครอบครัว โดยบริษัทประกันชีวิตจะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการนำเงินก้อนดังกล่าวไปจ่าย ให้แก่ผู้ได้รับภัย (ตามนิยามของ คปภ.)

อ่านตรงนี้หลายคนอาจจะงง ก็ขอยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ประกันอุบัติเหตุ ประกันโรคร้าย ประกันชีวิตที่นอนโรงพยาบาลแล้วไม่ต้องจ่ายเงิน ประกันสะสมทรัพย์ที่ส่งเงินแค่ 20 ปีแต่คุ้มครองถึงอายุ 99 ปี เหล่านี้เป็นต้น

ประกันวินาศภัย คือ การประกันภัยทุกประเภทที่นอกเหนือจาก การประกันชีวิต โดยผู้รับประกันภัยตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ให้ผู้เอาประกันภัยหากทรัพย์สินที่ทําประกันภัยเอาไว้เกิดความสูญเสีย หรือเสียหายจากภัยต่างๆ ซึ่งความเสียหายนั้นสามารถประเมินค่าเป็นตัวเงินได้ (ตามนิยามของ คปภ.)

ยกตัวอย่างง่ายๆ ได้แก่ ประกันไฟไหม้ ประกันรถยนต์ ประกันการเดินทาง ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง และประกันภัยเบ็ดเตล็ด ก็เช่น ประกันน้องหมา น้องแมว เป็นต้น ซึ่ง ประกันโควิด-19 ก็รวมอยู่ในประกันวินาศภัย นี้

2 วิธีควรรู้ก่อนซื้อประกัน

เมื่อเราแยกประเภทประกันได้แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดของการซื้อประกัน ไม่ว่าจะเป็นประกันประเภทไหนต้องคำนึง 2 สิ่งนี้ก่อนซึ่ง เศรษฐินีศรีราชา ขอแนะนำสูตรของตัวเองดังนี้

1. มีเงินพอซื้อประกันไหม ข้อนี้สำคัญมาก โดยเฉพาะประกันชีวิตที่พ่วงมากับสัญญาเพิ่มเติม คิดไปคิดมากลายเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ผูกพันระยะยาว เช่น หมูหยกต้องจ่ายค่าประกันชีวิตปีละ 35,000 บาท ส่ง 20 ปี คุ้มครองต่ออีก 20 ปี โดยจะได้เงินปันผลทุก 3 ปี และเงินส่วนนี้เอาไปลดหย่อนภาษี

แต่สิ่งที่ต้องคิดตามคือ เรามีความสามารถส่งประกันปีละ 35,000 บาท ประมาณ 20 ปีได้อย่างไร อย่าลืมว่า เรามีรายจ่ายประจำอยู่แล้ว โดยเฉพาะมนุษย์เงินผ่อนทั้งหลาย นี่คือโจทย์สำคัญ ถ้าคิดแล้วว่าไม่ไหวก็จะถอย เพราะอนาคตการเงินไม่แน่ไม่นอนจริงๆ โดยเฉพาะในประเทศไทย ถ้าเกิดตกงานขึ้นมาเงินเก็บที่มีก็คงไม่พอแน่ๆ 

ส่วนประกันภัย เช่น ประกันภัยรถยนต์ ประกันไฟไหม้ ประกันเดินทาง ก็จะเลือกจ่ายเบี้ยที่เหมาะสมกับความคุ้มครอง เพราะประกันประเภทนี้ จ่ายแล้ว จ่ายเลย ไม่เคลม ก็ไม่คืน

2. ประกันที่ซื้อครอบคลุมอะไรบ้าง เชื่อว่าหลายคนที่ซื้อประกัน ไม่ค่อยได้อ่านกรมธรรม์ หรือสัญญาต่างๆ ตัวแทนขายประกันว่าอย่างไร ก็ว่ากันตามนั้น แต่จริงๆ แล้วข้อมูลที่อยู่ในกรมธรรม์สำคัญมาก บางคนซื้อประกันหลายฉบับแต่ไม่รู้ว่าความคุ้มครองซ้ำซ้อนกัน ไม่ครอบคลุมความเสี่ยงในอนาคตเลย เช่น ซื้อประกันคุ้มครองโรคร้าย 2 กรมธรรม์ แต่คนละบริษัท ปรากฏว่าตอนเคลมดันมีปัญหา เพราะประกัน 2 ตัวนี้ให้ความคุ้มครองเหมือนกัน ทำให้ต้องควักเงินจ่ายส่วนต่างเอง เป็นต้น

ฉะนั้น ศึกษาข้อมูลประกันชีวิต และประกันภัย ให้ดีก่อนซื้อทุกครั้ง สำรวจประกันเก่าๆ ที่เคยทำไปแล้วว่ายังขาดการคุ้มครองส่วนไหนบ้าง จากนั้นก็มองหาบริษัทประกันดีๆ หรือ ตัวแทนประกันดีๆ หรือไม่ก็โทรเข้าไปที่บริษัทประกันเพื่อขอข้อมูลประกอบการตัดสินใจก่อนซื้อ และ คำเตือนเดิมๆ ที่ยังใช้ได้เสมอ อย่าซื้อประกันเพราะความเกรงใจ

4 เรื่องเกี่ยวกับประกันโควิด-19 ที่เราต้องรู้ 

1. ประกันโควิด-19 มีกี่ประเภท

มี 2 ประเภท 1.แบบ เจอ จ่าย จบ ที่เคยซื้อกันเมื่อปี 63 แต่ปัจจุบันประกันโควิดแบบนี้บางบริษัทไม่ขายแล้ว หลังโควิดระบาดหนัก หรือบางเจ้าก็ใช้วิธีปรับแผนความคุ้มครองใหม่ และ 2. ประกันโควิดแบบมีค่ารักษาพยาบาล ที่กำลังขายอยู่ในขณะนี้ ซึ่งปัจจุบันประกันโควิด ครอบคลุมเรื่องการแพ้วัคซีนแล้วด้วย

ส่วนที่ว่าซื้อประกันโควิด-19 ได้แค่ 1 กรมธรรม์ต่อ 1 บริษัทนั้นส่วนใหญ่จะใช้กับประกันโควิดแบบเจอ จ่าย จบ แต่ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริษัทนั้นๆ ด้วย เช่น บางบริษัทสามารถซื้อได้มากกว่า 1 กรมธรรม์ แต่ต้องซื้อต่างแผนความคุ้มครอง เช่น ซื้อเจอ จ่าย จบ แล้ว ไปซื้อแผนแบบคุ้มครองค่ารักษาก็ย่อมได้ แต่ทางที่ดี คือ สอบถามเงื่อนไขของบริษัทนั้นๆ ก่อน 

2. เบี้ยประกันแพงไหม

- ส่วนใหญ่ที่ขายกันราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 100-2,000 บาท โดยประมาณ

3. เคลมประกันโควิด-19 อย่างไร

- กรณีประกันโควิด เจอ จ่าย จบ  ให้เตรียมเอกสารดังนี้ แบบฟอร์มการเรียกร้องค่าสินไหมทดทนจากบริษัทประกัน, ผลวินิจฉัยของแพทย์ และโรงพยาบาล หรือผล lap, ใบรับรองแพทย์, เอกสารอื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายของสถานพยาบาล พร้อมรายการยา สำเนาบัตรประชาชน เป็นต้น จากนั้นก็ส่งเคลม ซื้อไว้กี่ฉบับก็เคลมได้ตามนั้น

- กรณีประกันโควิดแบบมีค่ารักษาพยาบาล ต้องเช็กให้ดีว่า เราต้องสำรองเงินจ่ายไปก่อนหรือไม่ อันนี้ต้องย้อนกลับไปดูในสัญญา หรือ กรมธรรม์ก่อน เพราะบางบริษัทให้ลูกค้าสำรองจ่ายไปก่อน แล้วค่อยเอาบิลมาเบิกทีหลัง หรือหากไม่ต้องสำรองจ่าย แต่จะแนะนำให้ไปรักษาที่โรงพยาบาลคู่สัญญาของบริษัทประกันนั้นๆ

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทประกัน A เป็นคู่สัญญากับ โรงพยาบาล B ถ้าเราไม่มีเงินสำรองจ่ายก็ต้องไปรักษาที่โรงพยาบาล B แต่มีเงินเพียงพอก็ไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นๆ ได้ แต่แค่เก็บเอกสาร มาทำเรื่องเคลมกับบริษัทประกัน A ทีหลัง

- กรณีมีประกันชีวิต และประกันโควิด-19 ด้วย ตอนนี้บริษัทประกันชีวิตหลายแห่ง ให้ความคุ้มครองโรคโควิด-19 ด้วยฉะนั้นคนที่ถือประกันชีวิตควรเช็กกับตัวแทน หรือบริษัทประกันก่อนว่า ให้ความคุ้มครองในรูปแบบไหนบ้าง เช่น ค่ารักษาพยาบาลกรณีเป็นผู้ป่วยใน หรือไม่ เมื่อเช็กแล้วก็สามารถเคลมค่ารักษาพ่วงกับประกันภัยโควิด-19 ได้ทันที

ยกตัวอย่างเช่น คุณหมูหยก มีประกันชีวิตของบริษัท A และซื้อประกันภัยโควิดจากบริษัท B ครอบคลุมค่ารักษาพยาบาล 100,00 บาท ต่อมาพอรู้ว่าติดโควิดก็เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชน C ซึ่งโรงพยาบาลนี้เป็นคู่สัญญาของบริษัทประกัน A และ B

เมื่อต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด 200,000 บาท แน่นอนว่า บริษัท B จ่ายให้ 100,000 บาท ส่วนประกันชีวิตที่ซื้อนั้นครอบคลุมค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่เป็นโควิดด้วย บริษัท A ก็จ่ายตามจริง 100,000 บาท เท่ากับคุณหมูหยกไม่ต้องเสียสักบาท

ปัจจุบันการเคลมค่ารักษาครอบคลุมทั้ง โรงพยาบาลสนาม และ Hospitel แล้ว แต่สิ่งที่อยากให้ใส่ใจมากที่สด คือ ควรอ่าน และทำความเข้าใจกับเงื่อนไขของประกันก่อนจะส่งเคลม โดยเฉพาะสัญญาที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ เพื่อป้องกันปัญหาการเคลม แต่หากมีข้อสงสัย และคุยกับบริษัทประกันไม่เคลียร์ แนะนำให้โทรไปคุยกับสายด่วน  คปภ.1186

4. มีประกันภัยโควิด-19 หลายกรมธรรม์ เคลมอย่างไรดี 

เชื่อว่าหลายคนซื้อประกันภัยโควิด-19 คนละ 2 ฉบับขึ้นไปแน่นอน เพราะเบี้ยประกันไม่แพง ที่สำคัญในสถานการณ์เช่นนี้ ค่ารักษาน่าจะแพงกว่าที่ประกันคุ้มครอง หากซื้อแค่ฉบับเดียว อย่างเช่น เศรษฐินีศรีราชา ที่มีประกันภัยโควิด-19 และประกันชีวิตที่คุ้มครองโควิด ทั้งซื้อเอง และบริษัทซื้อให้ประมาณ 5 ฉบับ...เอาเป็นว่าไม่เคลมจะดีกว่า

แต่หากใครอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเคลมประกันโควิด-19 หลายกรมธรรม์ ก็สามารถเคลมค่าใช้จ่ายได้ตามจริง ยกตัวอย่างเช่น คุณหมูหยก ทำประกันโควิด-19 ไว้ 5 ฉบับ แบบเจอ จ่าย จบ 1 ฉบับ และแบบคุ้มครองค่ารักษาอีก 4 ฉบับ โดยมีค่ารักษาสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท ต่อมาโรงพยาบาลเรียกเก็บค่ารักษาโควิด-19 เป็นเงินทั้งสิ้น 200,000 บาท

ขั้นตอนการเคลมจะมีดังนี้ คุณหมูหยกจะได้เงินจากประกันโควิด เจอ จ่าย จบ จำนวน 100,000 บาทตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ ซึ่งต้องทำเรื่องเบิกหลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว ส่วนเงินค่ารักษาจำนวน 200,000 บาท ก็เคลมตามวงเงิน ฉบับละ 50,000 บาท แต่ถ้าวงเงินค่ารักษาไม่ถึงก็เคลมตามจริง แต่ถ้าค่ารักษาเกินวงเงินก็เท่ากับ คุณหมูหยกต้องจ่ายส่วนต่างเอง

ส่วนปัญหาเคลมยาก เคลมง่าย หรือ การอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า รวมไปถึงการดูแลลูกค้าในด้านต่างๆ นั้นก็ขึ้นอยู่กับบริษัทนั้นๆ....ตรงนี้แหละถือเป็นบทพิสูจน์ว่า บริษัทประกันเจ้าไหนที่จะได้ไปต่อในใจเรา

ผู้เขียน : เศรษฐินีศรีราชา kamonthip.h@thairathonline.co.th 
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ