1 ทศวรรษธุรกิจไทยที่สูญหาย มนุษย์เงินเดือนแบกภาระภาษี 80%

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

1 ทศวรรษธุรกิจไทยที่สูญหาย มนุษย์เงินเดือนแบกภาระภาษี 80%

Date Time: 19 เม.ย. 2566 06:57 น.

Summary

  • ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้เผยแพร่บทความ “16 ความคิดเพื่อชีวิตคนไทย : สิ่งที่เป็น ปัญหาที่เห็น และประเด็นชวนคิด”

Latest

ย่ำแย่ ปีการศึกษา 2567 กู้ "กยศ." พุ่งเป็นประวัติการณ์

ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้เผยแพร่บทความ “16 ความคิดเพื่อชีวิตคนไทย : สิ่งที่เป็น ปัญหาที่เห็น และประเด็นชวนคิด” เพื่อให้คนไทยได้เห็นปัญหาในอดีตและปัจจุบันและข้อจำกัดมากมายจากภาครัฐที่ไม่มีการแก้ไข ทำให้เกิดความเหลื่อมลํ้าสูงทุกระบบ ส่งผลต่อความยั่งยืนของคนไทยและชาติในระยะยาว

บทความนี้ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยฯ คาดหวังว่า จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ในข้อเท็จจริงและจุดประเด็นให้สาธารณชนได้ฉุกคิด (ก่อนจะเข้าคูหาเลือกตั้ง) ผมขอนำบางประเด็นสำคัญมาเล่าต่อ เพราะปัญหาเชิงระบบของไทย 10 ปีที่ผ่านมามีมากมายจริงๆ

เรื่องแรก “ภาคธุรกิจไทย : ทศวรรษที่สูญหาย” อ่านแค่ชื่อเรื่องผมก็ใจหายแล้ว แต่มันเป็นความจริง 10 ปีที่ผ่านมาไทยไม่ก้าวหน้าไปไหน นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง 2540 อัตราการขยายตัวของจีดีพีการส่งออก อัตราการลงทุนต่อจีดีพี ลดลงอย่างต่อเนื่อง โครงสร้างการส่งออกของไทยยังพึ่งพา “อุตสาหกรรมโลกเก่า” เช่น อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ชิ้นส่วน ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี หากยังไม่มีการปรับตัว คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะลดลงในอนาคต ปัจจุบันไทยมีข้อตกลง FTA เพียง 18 ประเทศ น้อยกว่า เวียดนาม 54 ประเทศ อินโดนีเซีย 22 ประเทศ มาเลเซีย 21 ประเทศ อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกไทยในอนาคต

เมื่อพิจารณาข้อมูล “ระดับบริษัท” ก็พบว่า การขยายตัวของภาคธุรกิจ (วัดจากรายรับ) ลดลงจาก 6.5% ในช่วงปี 2548-2551 เหลือเพียง 1.4% ในช่วงปี 2557-2560 โดยตัวขับเคลื่อนของภาคธุรกิจเดิม คือ การเริ่มธุรกิจใหม่และบริษัทอายุน้อยที่ส่วนมากเป็น SMEs ขยายตัวลดลงจาก 20% เหลือเพียง 11% สถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับโครงสร้างภาคธุรกิจไทยที่มีการ “กระจุกตัวสูง” โดย บริษัทขนาดใหญ่ที่สุด 5% มีรายรับคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 85% ของรายรับรวมของภาคธุรกิจทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (ธุรกิจเล็กจะไปรอดได้อย่างไร)

สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจไทย ที่บริษัทขนาดใหญ่มีข้อได้เปรียบบริษัทขนาดเล็ก ไม่ว่าความสามารถในการทำกำไร การเข้าถึงสินเชื่อได้มากกว่า การลงทุนในระยะยาว อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ นโยบายภาครัฐ เช่น การลดภาษีเงินได้ให้บริษัทที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท เป็นการบิดเบือนแรงจูงใจ ทำให้เอสเอ็มอีจำกัดขนาดของตนเองเพื่อรักษาสิทธิ และ การกำหนดให้ธุรกิจที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้มีการอั้นรายรับมากผิดปกติ

บทความระบุว่า นโยบายรัฐที่เน้นการสนับสนุนให้ธุรกิจคงอยู่ แต่ไม่สร้างแรงจูงใจในการยกระดับการผลิตและการเติบโต อาจส่งผลให้เกิด “บริษัทผีดิบ” (Zombie Firms) หรือบริษัทเก่าแก่ที่ขาดความสามารถในการแข่งขัน ไม่สามารถทำกำไรได้ ควรปิดกิจการ แต่ยังอยู่รอดในระบบเศรษฐกิจ บริษัทผีดิบเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อการเติบโตโดยรวม และขัดขวางการเริ่มธุรกิจของผู้ประกอบการรายใหม่ และลดแรงจูงใจในการลงทุนของบริษัทอื่นที่มีศักยภาพ

อีกบทความเรื่อง “ภาษี : ความรับผิดชอบของพรรคการเมือง” ระบุว่า นโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองจะเพิ่มภาระการคลังอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกิดคำถามว่า จะเอาเงินมาจากไหน เพราะ รายได้ ภาษีของไทยลดลงต่อเนื่องในช่วงทศวรรษ (10 ปี) ที่ผ่านมารายได้ภาษีลดลงจาก 16% ของจีดีพีในปี 2556 (ก่อนปฏิวัติ) เหลือ 14% ต่อ จีดีพีในปัจจุบัน แต่พรรคการเมืองกลับเลี่ยงที่จะพูดถึง “ภาษี VAT” ที่หลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ขึ้นไปแล้ว เพื่อรองรับภาระ การคลังที่เพิ่มขึ้น

ยิ่งน่าตกใจคือ ทุกวันนี้ “มนุษย์เงินเดือน” เป็นผู้แบกรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาถึง 80% ไม่ใช่มหาเศรษฐีไทยที่รวยล้นฟ้า ขณะที่ ผู้เสียภาษีทั้งประเทศมีเพียง 10% เท่านั้น

คนไทยทั้งประเทศ กำลังถูกนักการเมืองหลอกแจกเงิน เพื่อเอาคะแนนของเราไป “ซื้ออำนาจรัฐ” แล้วกลับมาขูดรีดภาษีจากเราอีกทอดหนึ่งเมื่อได้เป็นรัฐบาล.

“ลม เปลี่ยนทิศ”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ