ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 1-16 ม.ค.ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยอยู่ที่ 78 เหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับปีที่แล้วทั้งปี เฉลี่ยอยู่ที่ 95.4 เหรียญ ดังนั้นในปีนี้อัตราเงินเฟ้อน่าจะลดลงและสามารถอยู่ในอัตราที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดไว้ในกรอบ 1-3%
ขณะที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง จะทบทวนคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2566 ใหม่ ซึ่งเป็นการทบทวนทุกรอบ 3 เดือน และจะประกาศอย่างเป็นทางการวันที่ 27 ม.ค.นี้ โดยคาดว่า สศค.จะปรับเป้าจีดีพีไทยปี 66 ขยายตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าคาดการณ์เดิม
ทั้งนี้ ตัวเลขที่ สศค.ได้ทบทวนรอบล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ต.ค.65 โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 65 จะขยายตัวได้ 3.4% และปี 66 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.8% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปในปี 65 คาดว่าอยู่ที่ 6.2% และปี 66 อยู่ที่ 2.9%
สำหรับการทบทวนภาวะเศรษฐกิจในรอบใหม่นี้ จะมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทย โดยปัจจัยบวกนอกจากเรื่องราคาน้ำมันดิบที่ลดลงแล้วคือ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศ ของจีน ที่เปิดให้คนจีนออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศได้ ซึ่งก่อนหน้านี้การคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยในปีนี้ อยู่ที่ 21.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก ปี 65 ที่มีนักท่องเที่ยว 10 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นการคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาเที่ยวในไทยประมาณ 2.8 ล้านคน แต่หลังจากที่จีนเปิดให้คนจีนออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศได้อย่างเต็มที่แล้ว คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวคนจีนน่าจะเดินทางมาเที่ยวไทยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม
ส่วนปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยคือเงินบาทที่คาดว่าจะแข็งค่าขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกสินค้าของไทย ซึ่งหลายแห่งคาดการณ์ว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 66 จะขยายตัว 2.5% เท่านั้น เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว.