สมาคม “ตั้งตระกูล” เตือนรัฐบาลอย่าคาดหวังว่าคนจีนจะเข้าประเทศไทยเป็นสิบล้านคน ในขณะที่ยังไม่ได้ปรับมาตรฐานภาคอุตสาหกรรมการผลิต ย้ำโลกยุคใหม่ ต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดที่สมาคมตั้งตระกูลแห่งประเทศไทย นายสมชาย เวชากร นายกสมาคมตั้งตระกูล และคณะกรรมการบริหารสมาคม ให้สัมภาษณ์
ผู้สื่อข่าวในโอกาสที่รัฐบาลจีนประกาศเปิดประเทศว่า สมาคมตั้งตระกูลยินดีเป็นพี่เลี้ยงให้แก่นักลงทุนจีนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยในฐานะเจ้าบ้านอย่างสุจริตในทุกๆเรื่องนับตั้งแต่เรื่องของวัฒนธรรม จารีตในสังคมไทย ไปจนถึงข้อกฎหมายที่ค่อนข้างมีความซับซ้อนมาก ตลอดจนกฏเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ซึ่งปัจจุบันได้มีการแก้ไขให้การเข้ามาลงทุนของ ต่างชาติในประเทศไทยดำเนินไปด้วยความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นเรื่องการปรับโครงสร้างภาคการผลิตของไทยในเรื่องของการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อรองรับการลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศ และเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ สินค้าไทย เช่น สินค้าเกษตร หากสามารถนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆออกไปขายได้อย่างประเทศญี่ปุ่น การลงทุนจากต่างประเทศก็จะมีมากขึ้น ขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกก็จะสูงตามไปด้วย
“ในโลกยุคใหม่ การปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยี และความต้องการของตลาดเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าผู้ประกอบการยังอยู่ในโลกของตัว หรือสุขสบายอยู่แต่ในโลกของตัวก็พอ (Comfort Zone) โอกาสดีๆ ของคุณจะหมดไปและ ล้มหายตายจากไปในที่สุด”
นายสมชายกล่าวด้วยว่า การทำวิจัยและพัฒนาเป็นความสำคัญมากสำหรับภาคการผลิตเพื่อส่งออก แต่เมื่อการปรับโครงสร้างการผลิตยังไม่เกิดขึ้นครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม ประเทศ ไทยก็คงจะเหลือเครื่องยนต์เดียวที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือรายได้จากธุรกิจการท่องเที่ยวนั่นเอง แต่ก็ยังนับเป็นข่าวดีในแง่ของธุรกิจการท่องเที่ยวที่คาดการณ์ว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาสร้างรายได้ให้แก่คนไทยในประเทศได้อีกมาก หรือมีนักท่องเที่ยวโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 25 ล้านคนในปีนี้
“ย้อนกลับมาดูสิ่งดีๆที่ประเทศไทยมี คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มีอัตราต่ำเพียง 7% ภาษีเงินได้นิติบุคคลก็ไม่ได้สูงเหมือนในสหรัฐฯ หรือยุโรป สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นสำคัญที่จูงใจให้นักลงทุนเดินทางเข้ามายังประเทศไทยมากกว่าจะไปลงทุนในดินแดนที่เก็บภาษีสูงๆ”
แต่กระนั้นก็ยังมีประเด็นที่รัฐบาลต้องดำเนินการเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจเอกชนโดยเฉพาะในเรื่องของการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศต่างๆเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์มากมายจากข้อตกลงที่ทำร่วมกัน ขณะเดียวกันก็ควรพิจารณาด้วยว่า ธุรกิจอุตสาหกรรมใดที่ช่วยเหลือไม่ได้ก็ต้องยอมรับ และปล่อยให้ล้มหาย ตายจากไป ไม่ใช่อุ้มไว้ให้เป็นปัญหาแก่ภาคธุรกิจโดยรวม
ด้านนายชุมพล พรประภา คณะกรรมการบริหารของสมาคม ตั้งตระกูล เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ครอบครัวพรประภา ซึ่งเคยทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายรถยนต์นิสสันของญี่ปุ่น ได้ปรับเปลี่ยนทิศทางการดำเนินธุรกิจสู่การร่วมลงทุนกับกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของจีนอย่างค่าย BYD แล้ว หลังจากวิเคราะห์การเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าพบว่ากำลังมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด
ทั้งนี้ ด้วยเหตุจากข้อห้ามของรัฐบาลจีนเรื่องที่จะไม่ให้มีการขายรถยนต์สันดาปภายในปี 2030 (พ.ศ.2573) ในประเทศจีนอีกต่อไปแล้วนั่นเอง สำหรับประเทศไทย สถิติการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ปี 2565 มีจำนวน 10,000 คันเศษ ส่วนในปี 2566 คาดว่าจะมีการจดทะเบียนเพิ่มเป็น 25,000-30,000 คัน ขณะที่มีการคาดการณ์ว่า ปีถัดไปจะมีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 50% ส่วนยอดการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ในค่ายญี่ปุ่นที่ยังคงยึดการผลิตรถยนต์ที่มีเครื่องยนต์สันดาป และพยายามก้าวสู่การผลิตรถยนต์ไฮโดร เจนนั้น นายชุมพล กล่าวว่า ต้นทุนของรถยนต์ไฮโดรเจนมีราคาแพงเกินกว่าผู้บริโภคจะรับได้
“ปัจจุบัน จีนมีเทคโนโลยีการผลิตที่ไปไกลกว่าประเทศไทยเรามาก โจทย์นี้จึงยากสำหรับ รัฐบาลไทยที่จะตัดสินใจว่า ทำอย่างไรจึงจะสร้างอุตสาหกรรมใหม่ๆที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมาตรฐาน และเป็นพวก Real Sector หรือภาคการผลิตที่แท้จริงสำหรับการสร้างงาน สร้างเงินได้
ขณะที่กลุ่มเศรษฐกิจเก่า หรือการผลิต รุ่นเก่าๆ (Old Economy) ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของประเทศไทยในเวลานี้ จะคงสถานะพวกเขาไว้อย่างไร ที่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญก็คือ ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ประกาศว่า ภายในปี 2035 (พ.ศ.2578) จีนจะสร้างมาตรฐานของจีนให้เป็นมาตรฐานโลก และถึงวันนี้ คนอื่นจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานของจีน ส่วนไทย อย่าเพิ่งวางใจว่าจะมีคนจีนเข้าประเทศไทยเป็นสิบล้านคน ถ้าไม่สร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดีก่อน”.