ผลสำรวจ ม.หอการค้าไทย คาดกินเจปี 65 เงินสะพัด 42,235 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน 5.2% พบ 66% คนเลือกไม่กินเจเพราะแพง ไม่อร่อย
เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 65 นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลการสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนจำนวน 1,250 ตัวอย่าง พบว่า เทศกาลกินเจในปี 2565 จะมีเงินสะพัด หรือมูลค่าการใช้จ่ายราว 42,235 ล้านบาท ขยายตัวจากปีก่อน 5.2% ที่มีเงินสะพัดราว 40,147 ล้านบาท (-14.5%) โดยมีมูลค่าการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 4,185.88 บาท (ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว และเดินทางไปต่างจังหวัด)
ทั้งนี้ จากการสอบถามประชาชนว่า ในปี 65 จะกินเจในช่วงเทศกาลกินเจหรือไม่ พบว่า ประชาชน 66% ระบุว่า จะไม่กินเจ สาเหตุหลัก คือ อาหารเจแพง เศรษฐกิจไม่ดี และรสชาติไม่อร่อย ขณะที่ประชาชนอีก 34% ระบุว่า กินเจ เพราะตั้งใจทำบุญ ชอบอาหารเจ และกินตามคนที่บ้าน หรือคนรอบข้าง ส่วนพฤติกรรมการกินเจในครั้งนี้ ประชาชน 81.2% ระบุว่า จะกินตลอดช่วงเทศกาล ขณะที่ประชาชนอีก 18.8% ระบุว่า จะกินเจเฉพาะบางมื้อ โดยช่องทางในการเลือกซื้ออาหารเจ ส่วนใหญ่ตอบว่าเป็นการซื้อด้วยตนเอง 91.8%
"มูลค่าการใช้จ่ายปีนี้เพิ่มขึ้น มาจากราคาสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งมูลค่าการจับจ่ายใช้สอยยังคงอยู่ในระดับต่ำ ไม่กลับมาอยู่ในระดับปกติ หรือเท่ากับมูลค่าในปี 58 ที่ 42,209 ล้านบาท หรือเรียกว่ายังไม่คึกคักในรอบ 7 ปี สรุปคือ กินเจปีนี้ค่อนข้างคึกคัก คนพร้อมจับจ่ายใช้สอยในสัดส่วนที่มากขึ้น ซึ่งเศรษฐกิจจะฟื้นตัวแบบอ่อนๆ จะเห็นได้จากพฤติกรรมการกินเจปีนี้ คนเริ่มกลับมากินเจตลอดเทศกาลมากขึ้น หรือ 81.2% จากปีก่อนที่ 62.9% ซึ่งถือว่าปีนี้สูงสุดในรอบ 4 ปี"
สำหรับราคาวัตถุดิบ ประชาชน 62.2% มองว่าราคาจะแพงกว่าปีที่แล้ว ในขณะที่อีก 37.8% มองว่าราคาจะเท่ากับปีที่แล้ว นอกจากนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ 81% ระบุว่า ไม่ได้เดินทางไปทำบุญตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ขณะที่อีก 19% ระบุว่า จะเดินทางไปทำบุญ ส่วนของค่าใช้จ่ายโดยรวม พบว่า 55.1% ตอบว่า ปริมาณของกินของใช้สำหรับกินเจมีปริมาณเท่าเดิม และ 33.7% ระบุว่ามีปริมาณลดลง ส่วนมูลค่าที่ใช้ในการกินเจ ประชาชน 53.9% ตอบว่า มีเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ประชาชนมองว่าสินค้ามีราคาแพงขึ้น จึงเตรียมเงินเพื่อใช้จ่ายในปริมาณที่มากขึ้น แต่ปริมาณของกินของใช้เท่าเดิมถึงลดน้อยลง ค่าใช้จ่ายจะบริโภคเพิ่มไม่มาก แต่เตรียมเงินไว้พอสมควร ดังนั้น มองว่าประชาชนมีกำลังจ่าย แต่ยังคงใช้อย่างระมัดระวัง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจกำลังเริ่มฟื้น
จากการสอบถามเรื่องความคึกคักของเทศกาลกินเจ คาดว่า ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน 53.5% ในขณะที่ 26.2% มองว่าจะลดลงจากปีก่อน เนื่องจากปัญหาค่าครองชีพสูง เศรษฐกิจไม่ดี และรายได้ลด สำหรับแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้จ่ายช่วงกินเจ 56.9% มาจากรายได้ประจำ และ 39.7% มาจากเงินช่วยเหลือของรัฐ (ปี 64 ที่ 0.4%).