เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ประกาศทิศทางการส่งเสริมการตลาดของ ททท.ในปี 2566 ว่าประเทศไทยจะกลับไปเป็นประเทศที่มีรายได้จากนักท่องเที่ยว ต่างประเทศสูงสุด 1 ใน 5 ของโลก หลังจากในปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยเคยอยู่ในอันดับที่ 4 ของโลกมาแล้ว
โดยวางเป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวจากตลาดในประเทศและต่างประเทศรวมกัน 1.25-2.38 ล้านล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 11-30 ล้านคน มีเป้าหมายรายได้ตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 580,000- 1.5 ล้านล้านบาท
ส่วนตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ ในปี 2566 วางเป้าหมายไว้ที่ 117-135 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 670,000-880,000 ล้านบาท
ขณะที่ 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้ว 2.7 ล้านคน และมั่นใจว่าตลอดปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 10 ล้านคนแน่ เพราะช่วงครึ่งปีหลังจะมีการเดินทางมากขึ้น แต่เป้ารายได้ที่วางไว้ที่ 1.5 ล้านล้านบาท จะหย่อนลงมาอยู่ที่ 1.2 ล้านล้านบาท จึงอยู่ระหว่างวิ่งหางบประมาณเพิ่มเติม เป็นเสมือนวัคซีน “บูสเตอร์ โดส” ผลักดันรายได้ให้ได้ตามเป้า
ด้านตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศใน 6 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 74-75 ล้านคน-ครั้ง จากเป้าตลอดปีที่ 160 ล้านคน-ครั้ง โดยมีเป้าหมายรายได้อยู่ที่ 656,000 ล้านบาท ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่จึงต้องส่งเสริมให้คนไทยท่องเที่ยวในประเทศอีกร่วม 90 ล้านคน-ครั้ง
พร้อมๆกับโจทย์ที่ว่าเมื่อเมืองท่องเที่ยวหลัก 22 จังหวัดเริ่มฟื้นตัวขึ้นบ้าง จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามา จึงต้องกระจายให้คนไทยท่องเที่ยวไปในเมืองท่องเที่ยวรองอีก 55 จังหวัดให้ได้ เพื่อให้เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวกระจายไปทั่วประเทศ อีกทั้งแหล่งท่องเที่ยวใดที่คนไทยไปก่อน เมื่อมีชื่อเสียงมากขึ้นชาวต่างชาติก็จะตามมา
ในปี 2565 ททท.มีแคมเปญส่งเสริมการตลาดเมืองรอง ว่า “เมืองรอง ที่ต้องลอง” ขณะที่ในปี 2566 มีแคมเปญใหญ่ “365 มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน” มาพร้อมกับ “เปิดประสบการณ์ใหม่ เมืองรองมิรู้ลืม” เมืองรอง 55 จังหวัด น่าเที่ยวขนาดไหน คนไทยสนใจไปเที่ยวเมืองรองจริงหรือเปล่า “ทีมเศรษฐกิจ” ไปหาข้อมูลมาให้ติดตามกัน
ในฐานะ รองผู้ว่าการ ททท.รับผิดชอบการส่งเสริมตลาดคนไทยเที่ยวภายในประเทศ “ฐาปนีย์” กล่าวว่า “ชอบทำงานอย่างท้าทาย และมั่นใจว่าในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2565 จะผลักดันให้คนไทยเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 90 ล้านคน-ครั้ง เพื่อเป็นไปตามเป้าทั้งปีที่ 160 ล้านคน-ครั้งได้อย่างแน่นอน”
เธอบอกว่า ใน 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) คนไทยเที่ยวในประเทศ 31-32 ล้านคน-ครั้ง จากนั้นในเดือน เม.ย.-มิ.ย. ได้มาอีกกว่า 30 ล้านคน-ครั้ง ดังนั้น จากนี้ไปต้องทำให้ได้เดือนละ 15 ล้านคน-ครั้ง รวม 6 เดือนที่เหลือก็จะเติมเต็มได้ตามเป้า
พร้อมกับจะนำแคมเปญ “365 มหัศจรรย์เมืองไทยเที่ยวได้ทุกวัน” ที่ใช้สำหรับปี 2566 มาเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 ซึ่งเป็นวันเริ่มปีงบประมาณ 2566 ทันที
“ที่สำคัญจะต้องหากิจกรรม จัดโปรโมชัน ออกแคมเปญการตลาด เพื่อเพิ่มจำนวนวันพักค้างคืนของนักท่องเที่ยวชาวไทย เพื่อให้รายได้จากการท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นไปตามเป้าด้วย จึงต้องส่งเสริมให้นักทัศนาจร ซึ่งไปแค่เที่ยวแต่ไม่พักค้างคืน ได้กลายเป็นผู้เยี่ยมเยือน คือพักค้างคืนด้วย”
โดยอัตราการเข้าพักในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ 41.9% ฉะนั้นเดือนหลังต้องให้เพิ่มขึ้นเป็น 58-63% ของจำนวนห้องพักเพื่อให้ค่าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 50-55% อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงจะอยู่รอดได้ทั้งปี
สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองนั้น “ฐาปนีย์” บอกว่า เมืองรอง 55 จังหวัดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่เกิดโควิด-19 ได้รับผลกระทบ แต่ไม่มากเท่าเมืองหลัก เมื่อคนไทยเริ่มกลับมาเที่ยวได้ ก็ยังไปท่องเที่ยวเมืองหลักก่อน ที่นิยมสูงสุดใกล้ๆ กรุงเทพฯ ก็มี ชะอำ หัวหิน พัทยา
“ททท.ยังคงส่งเสริมเมืองท่องเที่ยวหลัก เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหญ่ในการหารายได้ ขณะเดียวกันก็ละเลยเมืองรองไม่ได้ และมีข้อมูลน่าสนใจว่า ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือ ในช่วงที่เริ่มผ่อนคลาย คนไทยจำนวนมาก ไปเสาะหาแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง ที่ไม่ต้องไปพบปะผู้คนมากนัก”
จากการสำรวจพฤติกรรมนักท่องเที่ยว พบว่า มากกว่า 98% คนไทยตั้งใจไปเมืองรอง เป็นจุดหมายปลายทาง หลัก เพราะผู้คนอยากหาอะไรใหม่ๆ ต้องการพักผ่อน ไหว้พระ ปฏิบัติธรรม ขณะที่นักท่องเที่ยวในรูปแบบ workation หรือทำงานในขณะท่องเที่ยว เลือกที่จะไปเมืองรองเช่นกัน
ในการเก็บสถิติการท่องเที่ยวเมืองรองในปี 2565 จากที่วางเป้าหมายไว้ทั้งปี 170,000 ล้านคน-ครั้ง ตอนแรกคิดว่าจะได้ 85,000 คน-ครั้ง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแค่ครึ่งปีแรก คนไทยเดินทางไปเมืองรอง 149,000 คน-ครั้ง เพิ่มขึ้น 176% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และตรงนี้เป็นตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเฉพาะภายใต้แคมเปญที่ ททท.ดำเนินการ
เมื่อดูในภาพรวมการเดินทางไปเมืองรอง พบว่า ไม่ต่ำกว่า 20% ของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางไปแล้วเดินทางไปอีก โดยถ้าดูตั้งแต่ ม.ค.-มิ.ย. 2565 มีการเดินทางของคนไทย 113 ล้านคน-ครั้ง ซึ่งเป็นตัวเลขรวมผู้เยี่ยมเยือน (พักค้างคืน) และนักทัศนาจร (ไม่พักค้างคืน) พบว่า เป็นผู้เยี่ยมเยือน 74 ล้านคน-ครั้ง และนักทัศนาจร 48 ล้านคน-ครั้ง ถือว่าเกินเป้าหมายมาก
“ปกติเวลาเก็บตัวเลข ททท.นับแต่นักท่องเที่ยวหรือผู้เยี่ยมเยือน แต่กรณีของเมืองรองต้องดูตัวเลขนักทัศนาจรด้วย เพราะที่พักของเมืองรองยังมีไม่เพียงพอ บางครั้งนักท่องเที่ยวจะไปเที่ยวเมืองรองแล้วมาพักค้างคืนในเมืองหลัก”
ทั้งนี้ สำหรับ “เมืองรอง” ที่ได้รับความนิยมสำหรับคนไทยในขณะนี้ เป็นเมืองที่ตอบโจทย์สายศรัทธาแรงกล้า สายมู สายบุญ เช่น นครศรีธรรมราช มี “ไอ้ไข่” หรือเส้นทางท่องเที่ยวบึงกาฬ-นครพนม-หนองคาย ก็ได้รับความนิยมโดดเด่นของสายมู โดยเฉพาะบึงกาฬ ที่มี “ถ้ำนาคา”
ขณะที่ร้อยเอ็ด มี “หอโหวด” ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว unseen new series ส่วนบุรีรัมย์ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในรูปแบบ sport tourism และมีกิจกรรมตลอด 365 วัน
ส่วนภาคใต้แหล่งท่องเที่ยวที่ ททท.ผลักดันอย่างมาก คือ เบตง จ.ยะลา ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่เดือน พ.ค.-ก.ค.มีความต้องการเดินทางของนักท่องเที่ยวสูงมาก และ 3 เดือนจากนี้ ตั้งแต่เดือน ส.ค.-ต.ค.จะเร่งสนับสนุนกิจกรรมให้เกิดการเดินทางต่อเนื่อง
“ในขั้นตอนต่อไปจะต้องผลักดันเมืองรองให้ขึ้นเป็นเมืองหลักให้ได้ โดยแผนปี 2566 ได้ออกแคมเปญ “เปิดประสบการณ์ใหม่ เมืองรองมิรู้ลืม” เพื่อให้คนไทยเที่ยวเมืองรองให้ครบ 5 ภาค ทำเมืองรองให้น่าเที่ยวโดยคำนึงถึงสถานที่ท่องเที่ยว ที่พักสะดวกสบาย สามารถไป workation ได้ มีร้านอาหาร มีกิจกรรมซอฟต์ เพาเวอร์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันซีนใหม่ๆ
โดยเจ้าหน้าที่ของ ททท.สำนักงาน ทั่วประเทศ ต้องปรับการทำงานให้เป็น “นักออกแบบสร้างประสบการณ์” เสาะหาเรื่องราวเพื่อให้คนที่เดินทางไปแล้วได้รู้สึกว่าเป็นความประทับใจที่ไม่รู้ลืมของชีวิต เพื่อที่นักท่องเที่ยว “มาวันไหน ก็ไม่พลาดของดี ถ้ามาทั้งปี ก็ได้ประสบการณ์ดีๆ กลับไปทุกวัน” เพราะ “โมเมนต์ที่ใช่ สร้างได้ ไม่ต้องรอ”
จาก ททท.ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลัก มาลองสัมผัสความรู้สึกของภาคผู้ประกอบการท่องเที่ยวดูบ้างว่า รู้สึกอย่างไรกับเมืองรอง นำไปเสนอขายกับนักท่องเที่ยวแล้วมีการตอบรับที่ดีหรือไม่
“ชัยพฤกษ์” บอกกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่า ตอนนี้การเที่ยวเมืองรองได้รับความนิยม แต่ปัญหาที่จำกัดของเมืองรองคือ เรื่องที่พัก และสถานที่บางแห่งยังไม่พร้อม
อย่างที่นำนักท่องเที่ยวไป จ.พิจิตร มีแหล่งชุมชนเป็นตัวดึงดูดอยู่แล้ว แต่นักท่องเที่ยวไม่ประทับใจนัก ทำให้เวลาขายเส้นทางท่องเที่ยวเมืองรอง ต้องออกแบบให้ไปเที่ยวเมืองรอง และไปพักเมืองหลัก เช่น ไป พิจิตร ก็ไปพักที่ พิษณุโลก นครสวรรค์ที่เดินทางไปไม่ไกลมากนักและตอบโจทย์ได้ ทั้งยังสามารถรองรับตลาดประชุมและสัมมนาได้ รองรับนักท่องเที่ยวได้ 100-200 คน
การจะผลักดันเมืองรองให้ขึ้นมาเป็นเมืองหลักได้ จะต้องมีที่พักรองรับนักท่องเที่ยวในจำนวนมากๆได้ด้วย จากตอนนี้สถานที่พักในเมืองรอง ยังมีขีดจำกัดรองรับนักท่องเที่ยวที่ไปเป็นกรุ๊ปทัวร์อยู่ที่ 30-60 คน ก็ต้องค่อยๆ พัฒนาขึ้นไปตามดีมานด์และซัพพลาย
สำคัญที่สุดคือ ความน่าสนใจของแหล่งท่องเที่ยว ยิ่งได้มีการนำกระแสซอฟต์ เพาเวอร์เข้ามาใช้ และนำบล็อกเกอร์ไปรีวิว ก็จะได้รับการตอบรับมากขึ้น
“ต้องบอกว่า ผู้ประกอบการที่พานักท่องเที่ยวไปเที่ยวเมืองรอง มีต้นทุนถูกกว่าเที่ยวเมืองหลัก เพราะที่พักราคาถูกกว่า ยกเว้นเมืองรองยอดฮิต อย่างที่ อ.ปัว จ.น่าน มียอดจองที่พักถึง 80% ของจำนวนห้องพักทีเดียว ราคาที่พักก็ขยับขึ้นตามความต้องการมาเที่ยว”
สำหรับ เมืองรองเด่นๆ ที่น่าสนใจท่องเที่ยวในขณะนี้มีหลายจังหวัดมาก ถ้าเป็นภาคกลาง เริ่มตั้งแต่ ชัยนาท อุทัยธานี พิจิตร ขณะที่ในภาคเหนือ ลำปาง เริ่มพัฒนาขึ้นมาเรื่องโรงแรมใหม่ๆที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีโรงแรมที่เป็นออนเซ็น รวมทั้งมีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ วัดพระธาตุดอยพระฌาน มีพระใหญ่ไดบุตซึ องค์พระสีเขียวขนาดใหญ่ เป็นจุดแลนด์มาร์กที่ไม่ต้องไปไกลถึงญี่ปุ่น
“ชัยพฤกษ์” เล่าให้ฟังด้วยว่า เมื่อต้นปีได้พาผู้ประกอบการท่องเที่ยวของ สทน.ไป ปรากฏว่าได้รับการตอบรับอย่างดีมาก เป็นอะไรที่ว้าว และมีที่พักรองรับหลากหลายที่ หรือจะขึ้นเหนือไปเรื่อย ก็มี พะเยา แพร่ น่าน
ส่วนที่ ททท.ประสานมาที่ สทน.อยากพัฒนาเมืองรองใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ นราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี โดยมีจุดขายอยู่แล้วที่เบตง ถ้าให้ขยับการท่องเที่ยวเพิ่มอีก 1 คืน ไปนอนเมืองรองแล้วนั่งรถหรือบินออกจากหาดใหญ่ก็สามารถเที่ยวได้ หรือบินตรงที่เบตงก็ทำได้
ขณะที่ภาคอีสานมีหลากหลายที่ จากเดิมที่คนไปเที่ยวแค่ อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี ตอนนี้สามารถขยับไปเที่ยวเมืองรองได้ตามเส้นทางเลียบแม่น้ำโขง นครพนม เป็นเส้นทางดูพญานาคที่มีหลายองค์ และเส้นทางความเชื่อที่ถ้ำนาคี นครพนม ไปสู่ถ้ำนาคา บึงกาฬ แต่จุดนี้มีโรงแรมน้อยอยู่ ยังมีแค่ 3-4 แห่งที่รองรับนักท่องเที่ยวได้
นอกจากนั้นยังมีชุมชนที่น่าสนใจ มีกิมมิค “จิบกาแฟ แลกระบือ” ชมดวงอาทิตย์ตก ที่บ้านนาเชือก สกลนคร จุดนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักท่องเที่ยว และไปต่อที่บ้านนายฮ้อย สามารถลงแช่ออนเซ็น หรือสปาสมุนไพรกระทะร้อน
“ตอนนี้บริษัททัวร์ทำเส้นทางเมืองรองกันจำนวนมากแล้ว นักท่องเที่ยวไทยสามารถเลือกหาได้ตามความสนใจ และเป็นการไปพบกับแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ กระจายรายได้ให้กับชุมชนชาวบ้านด้วย”
*************
ท้ายที่สุด สำหรับใครที่กำลังสนใจอยากเที่ยวเมืองรอง นอกเหนือจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมืองรอง ของ ททท. และภาคเอกชน เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงเมืองรองมากขึ้น กระทรวงคมนาคมยังได้เร่งพัฒนาเส้นทางเข้าเมืองรอง 30 เส้นทาง ครอบคลุม 20 จังหวัด เสร็จแล้ว 10 เส้นทาง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการท่องเที่ยว
ขณะที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ช่วยกันสร้างความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว ด้านกระทรวงวัฒนธรรม ได้เข้าไปส่งเสริมให้เมืองรองน่าท่องเที่ยวมากขึ้น ส่วนกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทย เข้าไปดูแลการจดทะเบียนที่พักให้ถูกต้อง และมีกรมการท่องเที่ยว เข้าไปพัฒนามาตรฐานที่พัก
ทั้งหมดนี้ เพื่อสร้างประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบใหม่ให้คนไทย “ต้องลอง เที่ยวเมืองรอง”.
ทีมเศรษฐกิจ