ผู้ผลิตอาหารกระป๋องเฮลั่น! พาณิชย์ไม่เก็บภาษีเอดีทินเพลต-ทินฟรีอีก 6 เดือน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ผู้ผลิตอาหารกระป๋องเฮลั่น! พาณิชย์ไม่เก็บภาษีเอดีทินเพลต-ทินฟรีอีก 6 เดือน

Date Time: 17 พ.ค. 2565 05:06 น.

Summary

  • พาณิชย์ต่ออายุยกเว้นเก็บอากรเอดีเหล็กทำกระป๋อง “ทินเพลต-ทินฟรี” จากจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน อียูอีก 6 เดือน หลังสิ้นสุดยกเว้นครั้งแรก 6 เดือนเมื่อ 12 พ.ค.65 หวังลดภาระผู้ใช้

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

พาณิชย์ต่ออายุยกเว้นเก็บอากรเอดีเหล็กทำกระป๋อง “ทินเพลต-ทินฟรี” จากจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน อียูอีก 6 เดือน หลังสิ้นสุดยกเว้นครั้งแรก 6 เดือนเมื่อ 12 พ.ค.65 หวังลดภาระผู้ใช้ โดยเฉพาะผู้ผลิตอาหารกระป๋อง หวั่นเก็บภาษี ดันต้นทุนพุ่งจนอาจขึ้นราคาขาย กระทบผู้บริโภคยุคข้าวยากหมากแพง

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่าคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน (ทตอ.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายก รัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน มีมติให้ขยายระยะเวลาการยกเว้นเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) เหล็กแผ่นชุบหรือเคลือบด้วยโครเมียมทั้งชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน (ทินฟรี) ที่มีแหล่งกำเนิดจากจีน เกาหลีใต้ และสหภาพยุโรป (อียู) และเหล็กแผ่นชุบหรือเคลือบด้วยดีบุกทั้งชนิดเป็นม้วนและไม่เป็นม้วน (ทินเพลตที่ใช้ทำกระป๋องบรรจุอาหาร) จากจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอียู ต่อไปอีก 6 เดือน สิ้นสุดเดือน พ.ย.65 หลังจากยกเว้นเก็บอากรเอดีครั้งแรกเป็นระยะเวลา 6 เดือน ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 12 พ.ค.65

สำหรับเหตุผลที่ให้ต่ออายุ เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนให้กับผู้ใช้สินค้าทั้ง 2 รายการ และผู้บริโภค เพราะหากเก็บอากรเอดี จะทำให้ต้นทุนของผู้ใช้ที่มี จำนวนมาก ในหลากหลายอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร จนอาจต้องปรับขึ้นราคาขาย และกระทบต่อผู้บริโภค เพราะปัจจุบันต้นทุนหลายด้านเพิ่มขึ้นมากอยู่แล้ว ทั้งต้นทุนค่าแรงงาน เพราะขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการป้องกันโควิด-19 ต้นทุนการออกเรือจับปลา จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ต้นทุนราคาวัตถุดิบสินค้าเกษตรสูงขึ้น จากราคาปุ๋ยเคมีที่สูงขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทตอ.ได้เปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการเอดีตามที่ผู้ผลิตสินค้าไทยยื่นคำร้องว่า สินค้า 2 รายการจาก 4 ประเทศมีการทุ่มตลาดในไทย หรือตั้งราคาขายในไทยต่ำกว่าราคาขายในประเทศผู้ผลิต จนทำให้ผู้ผลิตสินค้าไทยได้รับความเสียหาย เช่น ส่วนแบ่งตลาด ยอดขาย กำไรลดลง และจากการไต่สวน พบว่ามีการทุ่มตลาดจริง จึงเรียกเก็บอากรเอดีสินค้า 2 รายการจาก 4 ประเทศเป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่เดือน พ.ย.64-พ.ย.69

แต่เนื่องจากมีผู้ใช้สินค้าทั้ง 2 รายการจำนวนมาก การเรียกเก็บอากรเอดีอาจกระทบต่อผู้ใช้ และผู้บริโภค โดยเฉพาะในช่วงที่ต้นทุนการผลิตต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น ทตอ.จึงได้ยกเว้นการเก็บอากรเป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.64- 12 พ.ค.65 และได้พิจารณายกเว้นเป็นครั้งที่ 2 ต่ออีก 6 เดือน

อย่างไรก็ตาม หากพ้นระยะเวลายกเว้นแล้ว ทตอ.จะพิจารณาว่า ยังจำเป็นต้องต่อเวลาอีกหรือไม่ หากไม่จำเป็นจะเก็บอากรเอดีทินฟรีจากจีน 4.53-24.73% ของราคาซี ไอ เอฟ (ราคาสินค้ารวมค่าประกันภัยและค่าขนส่ง) เกาหลีใต้ 3.94-17.06% และยุโรป 18.52% เป็นเวลา 5 ปี จนถึงเดือน พ.ย.69 เมื่อครบระยะเวลา จะพิจารณาทบทวนใหม่ว่ายังจำเป็นต้องเก็บอากรเอดีต่ออีกหรือไม่ ถ้าไม่จำเป็นก็จะยกเลิก ส่วนทินเพลตจากจีน ให้เก็บ 2.45-17.46% เกาหลีใต้ 8.71-22.67% ไต้หวัน 4.28-20.45% และยุโรป 5.82% เป็นเวลา 5 ปี จนถึงเดือน พ.ย.69 และจะทบทวนใหม่เช่นกัน

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ต้องขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ที่ยอมขยายเวลาให้อีก 6 เดือน เพราะจะทำให้ผู้ใช้มีโอกาสเลือกซื้อเหล็กกระป๋องจากหลายแหล่งมากขึ้น และต่อรองราคาได้ จากปัจจุบันที่จำกัดอยู่ไม่กี่แหล่ง หลังจากจีน ผู้ผลิตรายใหญ่ปิดโรงงานเหล็กหลายแห่ง เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่วนรัสเซีย และยูเครน แหล่งผลิตใหญ่ของโลกเช่นกัน มีปัญหาสู้รบจนกระทบต่อการผลิตและการส่งออก จากทั้ง 2 ปัจจัย ทำให้เหล็กหายไปจากตลาดโลกจำนวนมาก ผู้ซื้อต้องแย่งซื้อจากผู้ผลิตรองๆลงไป ส่งผลให้ราคาสูงขึ้นมาก

“ราคาแผ่นเหล็กทำกระป๋องปรับขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ไตรมาส 4/63 ถ้านับรวม 7 ไตรมาสจนถึงไตรมาส 2/65 ราคาขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 40,500 บาท จาก 20,000 กว่าบาท ทำให้ราคากระป๋องเพิ่มขึ้นแล้ว 60% คาดว่า ไตรมาส 3/65 ราคาแผ่นเหล็กจะขึ้นอีกตันละ 5,800-7,500 บาท หรือถ้านับรวม 8 ไตรมาสราคาจะขึ้นมาอยู่ที่ตันละ 48,000 บาท ราคากระป๋องเพิ่มขึ้นเป็น 70% ถ้ากระทรวงพาณิชย์ เก็บอากรเอดีอีก ผู้ผลิตอาหารกระป๋องคงอยู่ไม่ได้แน่ เพราะต้นทุนต่างๆสูงขึ้นมากเฉลี่ย 10-15% แต่ยังขึ้นราคาขายไม่ได้ ต้องขออนุญาตกระทรวงพาณิชย์ก่อน หรือหากได้รับอนุญาตแล้ว การขึ้นราคาขาย ก็อาจกระทบต่อยอดขาย เพราะกำลังซื้อผู้บริโภคยังมีน้อย”

อย่างไรก็ตาม ต้องการให้กระทรวงพาณิชย์ยกเลิกเก็บอากรเอดีทินเพลต และทินฟรี เพราะสถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนไปแล้วจากการเปิดไต่สวนใช้มาตรการนี้มาตั้งแต่ปี 62 โดยขณะนี้ เหล็กทั่วโลกขาดแคลน และราคาสูงขึ้นมาก การยังคงเก็บอากรเอดีต่อ จะยิ่งทำให้ต้นทุนผู้ประกอบการสูงขึ้นอีก จากปัจจุบันที่ต้นทุนด้านต่างๆสูงขึ้นมากอยู่แล้ว.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ