นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เปิดเผยผลการศึกษาโครงการ Thailand Digital Outlook ระยะที่ 3 (ปี 2564) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย พบว่าดัชนีชี้วัดสำคัญ ด้านดิจิทัลปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 โดยสัดส่วนของครัวเรือนไทยที่มีอินเตอร์เน็ตเข้าถึงอยู่ที่ 92.5% จาก 80% ในปี 2563 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งอยู่ที่ 88.9%
นอกจากนั้น สัดส่วนผู้ใช้บริการอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ต่อจำนวนประชากร 100 คน อยู่ที่ 85.2% เพิ่มขึ้นจาก 67.7% แต่ต่ำกว่าประเทศ OECD ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 114.6% ขณะที่สัดส่วนประชาชนที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่มีการใช้งานอินเตอร์เน็ตขยับขึ้นมาอยู่ที่ 83.2% จาก 60.8% และยังสูงกว่าประเทศ OECD ที่มีค่าเฉลี่ยที่ 77.6% ด้วย
ด้านภาคธุรกิจที่มีอินเตอร์เน็ตความเร็ว 30 Mbps หรือมากกว่า มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 89.8% จาก 78.4% สูงกว่าประเทศ OECD ที่มีสัดส่วน 73.5% ขณะที่สัดส่วนผู้มีงานทำในภาคธุรกิจดิจิทัลต่อทั้งหมดขยับขึ้นมาเล็กน้อยที่ 34.4% จาก 34% แต่ต่ำกว่าประเทศ OECD ที่มีสัดส่วน 50.2% ด้านมูลค่าการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมไอซีทีต่อจีดีพี เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.02% จาก 1.53% ส่วนประเทศ OECD อยู่ที่ 2.37%
“ในสัดส่วนประชาชนที่ถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลหรือความเป็นส่วนตัวนั้น ตัวเลขในปี 2564 ปรับลดลงเหลือ 6.3% จาก 11.5% ในปี 2563 ขณะที่ประเทศ OECD อยู่ที่ 2.37% ซึ่งการละเมิดความเป็นส่วนตัวจะยังมีให้เห็นทั่วไป แต่จำนวนประชาชนที่หลงเชื่อ ตกเป็นเหยื่อน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด จากความตระหนักรู้ที่เพิ่มมากขึ้น”.