ของแพง-หนี้ท่วม-คนไทยจนเพิ่ม ธนาคารโลก-กกร.ลดโตเศรษฐกิจเซ่นพิษยูเครน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ของแพง-หนี้ท่วม-คนไทยจนเพิ่ม ธนาคารโลก-กกร.ลดโตเศรษฐกิจเซ่นพิษยูเครน

Date Time: 6 เม.ย. 2565 06:50 น.

Summary

  • ธนาคารโลก–กกร.พาเหรดปรับลดเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ลง เวิลด์แบงก์ลดเหลือ 2.6–2.9% กกร.คาดโต 2.5–4% เหตุน้ำมันพุ่ง สงครามยูเครนช็อกเศรษฐกิจ ซ้ำเติมโควิด–19 ห่วงสุดๆหนี้ครัวเรือนสูง สินค้าแพง

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ธนาคารโลก–กกร.พาเหรดปรับลดเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้ลง เวิลด์แบงก์ลดเหลือ 2.6–2.9% กกร.คาดโต 2.5–4% เหตุน้ำมันพุ่ง สงครามยูเครนช็อกเศรษฐกิจ ซ้ำเติมโควิด–19 ห่วงสุดๆหนี้ครัวเรือนสูง สินค้าแพง คนไทยจนลง ชี้นโยบายการคลังใช้เงินไปมากแล้วก็จริง แต่ต้องใช้ต่อไป ขณะที่นโยบายการเงินอย่าเพิ่งขึ้นดอกเบี้ย ด้าน กกร.ขอต่อคนละครึ่ง–เราเที่ยวด้วยกัน เลิก Test & GO

นางเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้จัดทำรายงานตามติดเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เดือน เม.ย.2565 โดยในส่วนของประเทศไทย เนื่องจากภาวะช็อกของเศรษฐกิจโลกจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ราคาพลังงาน และอาหารเพิ่มขึ้นรวดเร็ว ธนาคารโลกจึงปรับลดประมาณการการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้ลงเหลือ 2.9% ลดลงมากจากประมาณการในเดือน ม.ค.ที่ 3.9% อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัว

“ราคาน้ำมันและอาหารที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนให้ลดลง ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น ความเชื่อมั่นลงทุนลด ขณะที่เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอลงจะมีผลกระทบต่อภาคส่งออก และหากเกิดกรณีเลวร้าย เช่น สงครามยูเครนรุนแรงและสร้างภาวะช็อกให้กับตลาดการเงินทั่วโลก หรือการใช้มาตรการของรัฐบาลบรรเทาภาระค่าครองชีพมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจน้อยกว่าที่คาดไว้ เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ลดลงเหลือ 2.6%”

สำหรับการใช้นโยบายการคลังของรัฐบาลนั้น นางเบอร์กิทมองว่าแม้ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลจะใช้เงินเพื่อเยียวยาผลกระทบของประชาชนจากโควิด-19 หลายมาตรการและสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูงกว่า 60% และมีการขาดดุลการคลังต่อเนื่อง แต่มองว่ายังมีพื้นที่ให้ใช้นโยบายการคลังเพื่อที่จะเยียวยาและบรรเทาค่าครองชีพของประชาชนได้อีก ซึ่งยังมีความจำเป็นต้องทำ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรจะใช้มาตรการเยียวยาอย่างเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ทั้งในการช่วยเหลือภาคประชาชนในกลุ่มเปราะบางจริงๆ และการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่จะต้องมีเพิ่มขึ้น เพื่อให้เงินทุกบาททุกสตางค์ที่ออกไปได้ประโยชน์อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

“สิ่งที่ธนาคารโลกเป็นห่วงมากในขณะนี้ คือหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง โดยขณะนี้ครัวเรือนจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่าช่วงโควิด-19 และธนาคารโลกประเมินว่ากว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับไปสู่ช่วงโควิด-19 จะเป็นช่วงปีหน้า และอัตราเงินเฟ้อของไทยที่สูงกว่าที่คาดกระทบต่อรายได้ของกลุ่มคนเปราะบาง และทำให้ความสามารถที่จะจ่ายเงินต้น หรือดอกเบี้ยน้อยลงอีก และจากการสำรวจของธนาคารโลก กรณีที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ครัวเรือนที่ยากจน ยากจนมากขึ้นอีก เพราะรายจ่ายด้านพลังงานและอาหารเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้”

ทั้งนี้ ในรายงานการประเมินเศรษฐกิจไทยของธนาคารโลกมีความเห็นว่าในส่วนของนโยบายการเงินน่าจะยังต้องผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% ต่อไป เพื่อให้เศรษฐกิจไทยที่อยู่ในช่วงฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง เพราะหากอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นในขณะนี้ จะยิ่งกระทบต่อความสามารถในการใช้จ่ายและชำระหนี้ของครัวเรือนไทยมากขึ้น ขณะเดียวกันยังต้องพิจารณาการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นของภาคธุรกิจต่อราคาสินค้าในอนาคตด้วย

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะทำหน้าที่ประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือน เม.ย.เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนหมดวาระการดำรงตำแหน่งประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า กกร.ได้พิจารณาปรับอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศไทยในปีนี้ใหม่ โดยให้เป็นขยายตัว 2.5-4% จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายว่าจะมีอัตราการขยายตัว 2.5-4.5% พร้อมกับปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อ เป็น 3.5-5.5% จากเดิม 2-3% ส่วนการส่งออกยังคงเป้าหมายเดิมที่ 3-5% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงรอบด้าน โดยเฉพาะแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป

“หากรัฐบาลมีการยกเลิก Test & GO ก็จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ในยามที่เครื่องยนต์ตัวอื่นๆ มีข้อจำกัด และจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เกิน 3% นอกจากนี้ กกร. มีความเห็นว่าในภาวะที่เศรษฐกิจยังต้องการแรงกระตุ้นจากกำลังซื้อของประชาชน รัฐบาลควรต้องพิจารณาต่ออายุโครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ