ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้มว่าจะยืดเยื้อ ขณะที่การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้การบริโภค และการใช้จ่ายในประเทศไทยลดลงนั้น ทำให้กระทรวงการคลังจะต้องทบทวนการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.5-4.5% คาดว่าจะประกาศตัวเลขการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจใหม่ในเดือน เม.ย.2565 ทั้งนี้ การปรับประมาณการทางเศรษฐกิจครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของปี และเป็นไปตามรอบทุกๆเดือนจะมีการทบทวนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย
สำหรับการประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจครั้งนี้ จะนำปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น มาปรับการคาดการณ์ใหม่ จากเดิมคาดว่าราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 100 เหรียญต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30- 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ โดยราคาน้ำมัน ถือเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญ ที่ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้สถาบันการเงินได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจแล้ว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดลงเหลือ 2.5% จากเดิม 3.7% เช่นเดียวกับคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับลดจีดีพี เหลือ 2.5-4.5% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3-4.5%
ด้านนายกิตตินันท์ ยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมอสโก รัสเซีย กล่าวว่า ขณะนี้ นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลก รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารโลก ฯลฯ กังวลว่าผลจากมาตรการคว่ำบาตรที่สหรัฐฯและพันธมิตรชาติตะวันตกมีต่อรัสเซีย จะทำให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงต่อภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลก ซึ่งไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อมได้
“ผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรที่จะเกิดขึ้นกับไทย เช่น ราคาพลังงาน และค่าขนส่งเพิ่มขึ้น, ขาดแคลนวัตถุดิบในห่วงโซ่การผลิต และราคาสินค้าแพงขึ้น, ปัญหาส่งออกสินค้าไปรัสเซีย ดังนั้น แนะนำให้ผู้ส่งออกไทยชะลอทำการค้ากับรัสเซีย เพื่อป้องกันความเสี่ยง และรอดูสถานการณ์จนกว่าปัจจัยต่างๆจะมีความชัดเจน”.