ส.อ.ท.เผยวิกฤติขาดแคลนแรงงาน 7 แสนคน หวังภาครัฐเร่งแก้ไขก่อนส่งผลกระทบเศรษฐกิจ ร่อนหนังสือถึงกระทรวงแรงงานหนุนนำเข้าแรงงานภายใต้ MOU เสนอให้มีการเจรจาระดับรัฐมนตรีกับเมียนมา และเพิ่มความสะดวกและลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้า รวมถึงกลับมาเปิดนิรโทษกรรมแรงงานและนายจ้างที่เคยทำผิดกฎหมายอีกครั้ง
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานแรงงาน เปิดเผยว่า แม้รัฐบาลเปิดให้มีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แต่ขณะนี้ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้นทั้งภาคการผลิต ส่งออก และก่อสร้างยังคงประสบกับภาวะการขาดแคลนแรงงานโดยรวม 700,000 คน โดย ส.อ.ท.ได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงแรงงานเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อให้เร่งแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด เนื่องจากหากภาคการท่องเที่ยวและบริการฟื้นตัว จะกดดันต่อปัญหานี้มากขึ้นและที่สุดจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้
“เราทำหนังสือถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน แล้ว และเมื่อมีการประชุมที่เกี่ยวข้องต่างๆก็ได้นำเสนอปัญหานี้มาตลอดว่าต้องเร่งแก้ไข เพราะขนาดภาคบริการและท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว ยังขาดแคลนแรงงานสูง หากกลุ่มนี้ฟื้นตัวปัญหาจะวิกฤติขึ้น โดยแรงงานที่ต้องการเพิ่มส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตของภาคส่งออก ขณะที่งานที่ใช้แรงงานเข้มข้นคนไทยส่วนใหญ่ไม่ทำ จึงต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวเป็นหลักและก่อนหน้านี้ไทยมีแรงงานต่างด้าวกว่า 2 ล้านคนแต่มีวิกฤติโควิด แรงงาน 500,000-600,000 คน ได้กลับประเทศและยังไม่เข้ามา”
นายสุชาติกล่าวต่อว่า ส.อ.ท.ได้เสนอแนวทางการแก้ไขที่สำคัญคือ 1.เปิดให้นำเข้าแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติซึ่งถูกกฎหมาย (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ภายใต้ MOU โดยเร็วและสะดวกที่สุด โดย ส.อ.ท. ได้เสนอให้มีการเจรจาระดับรัฐมนตรีไทยกับเมียนมา ในประเด็นนี้ เพราะที่ผ่านมาเป็นเพียงการเจรจาระดับเจ้าหน้าที่เท่านั้น เนื่องจากพบว่าการนำเข้าแรงงานจากเมียนมาค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกัมพูชา และลาว
2.ขอให้เพิ่มความสะดวกในการนำเข้าแรงงานต่างด้าวและลดค่าใช้จ่าย ที่ปัจจุบันการนำเข้าต้องให้แรงงานตรวจหาไวรัสโควิด-19 แบบ RT-PCR (Real Time PCR)โดยเสนอเปลี่ยนเป็นการตรวจแบบเร่งด่วน หรือ ATK รวมถึงการที่ต้องกักตัวแรงงาน 7-14 วัน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นเพียง Test and Go แทน 3.ให้มีการประกาศนิรโทษกรรมแรงงานผิดกฎหมายและนายจ้างแรงงานผิดกฎหมายอีกครั้ง เพื่อนำแรงงานต่างด้าวที่เคยผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบแรงงานถูกกฎหมาย “โดยธรรมชาติเมื่อขาดแคลนแรงงานและไม่สามารถนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมายจะมีกระบวนการนำเข้าผิดกฎหมาย เมื่อเรานำเข้าภายใต้ MOU ที่ถูกกฎหมายยังไม่สะดวกก็ควรเปิดนิรโทษกรรม แต่ยืนยันว่าไม่ได้สนับสนุนแรงงานผิดกฎหมาย” นายสุชาติกล่าว
สำหรับกรณีที่ไทยกำลังประสบภาวะค่าครองชีพสูง ทำให้มองว่ารายได้ของลูกจ้างไม่เพียงพอกับรายจ่าย ส่งผลให้มีแรงงานบางกลุ่ม เสนอให้พิจารณาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไปสู่ระดับ 492 บาทต่อวันนั้น นายสุชาติกล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงมีกฎหมายรองรับโดยมีคณะกรรมการไตรภาคีเป็นผู้พิจารณา และการพิจารณาเปลี่ยนแปลงหรือปรับขึ้นจะคำนึงองค์ประกอบต่างๆที่สำคัญได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อ ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้าง การเติบโตเศรษฐกิจ ความสามารถการแข่งขันของประเทศ ประสิทธิภาพแรงงาน ซึ่งหากการขึ้นค่าแรงตอบโจทย์ทั้งหมดไม่มีปัญหาสามารถดำเนินการได้ทันที เพราะทุกอย่างต้องมีหลักเกณฑ์การพิจารณาไม่ใช่อยากขึ้นเท่านั้นเท่านี้ แต่ไม่มีข้อมูลสนับสนุนก็คงไม่ได้.