สภาพัฒน์ เผยเศรษฐกิจไทยปี 64 โต 1.6% ดีกว่าที่คาดไว้ 1.2% อานิสงส์เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้าไทยโดยไม่กักตัว คาดปี 65 โตได้ 3.5–4.5% ชี้ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐใช้งบประมาณ และเงินกู้ รักษาผู้ป่วยโควิด 460,000 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าซื้อวัคซีน และค่าเสี่ยงภัยบุคลากรทางการแพทย์อีก 1 แสนล้านบาท
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.หรือสภาพัฒน์) แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ว่า ไตรมาส 4/64 ขยายตัว 1.9% ทำให้ตลอดปี 64 ขยายตัว 1.6% มูลค่า 16.2 ล้านล้านบาท (506,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) จีดีพีต่อหัวเฉลี่ย 232,176 บาทต่อคนต่อปี (7,255.5 เหรียญฯ ต่อคนต่อปี) ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 1.2% และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 2.2% ของจีดีพี
ส่วนปี 65 คาดขยายตัว 3.5-4.5% มีค่ากลางที่ 4% โดยเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้นในปี 65 ไม่ได้มีตัวขับเคลื่อนตัวใดตัวหนึ่งเป็นพระเอก แต่ดีขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ควบคู่กับการกระจายวัคซีน ขณะที่การส่งออก การเบิกจ่ายภาครัฐขยายตัว มีภาคท่องเที่ยวเข้ามาเติมเต็ม และการบริโภคในประเทศ ตลอดจนการลงทุนภาครัฐและเอกชนดีขึ้น แต่มีปัจจัยเสี่ยงจากการกลายพันธุ์ของไวรัส แรงกดดันเงินเฟ้อสูง ภาระหนี้สินเอกชนและหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องแก้ไขอย่างจริงจังตั้งแต่ขณะนี้ และแก้ไขให้ตรงกลุ่มมากขึ้น
สำหรับเศรษฐกิจปี 64 ที่ขยายตัว 1.6% ดีกว่าที่คาดการณ์ในการแถลงจีดีพีครั้งก่อนที่คาดขยายตัว 1.2% และดีขึ้นจากปี 63 ที่ลดลงถึง 6.2% เพราะไตรมาส 4/64 มีการเปิดประเทศแบบไม่กักตัว และไม่จำกัดพื้นที่ (Test & Go) ทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทย 342,024 คน มูลค่าส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 18.8% การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่ม 0.3% และการลงทุนเพิ่ม 3.4% ส่วนด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมงเพิ่ม 1.4% สาขาการผลิตอุตสาหกรรม เพิ่ม 4.9% และสาขาการขายส่งและการขายปลีก เพิ่ม 1.7% ขณะที่สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขนส่ง เพิ่ม 14.4% และ 2.9% ตามลำดับ
สำหรับปี 65 ที่คาดขยายตัว 3.5-4.5% ได้ประมาณการมูลค่าส่งออกขยายตัว 4.9% การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% และ 3.8% ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐขยายตัว 4.6% เงินเฟ้อ 1.5-2.5% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล คาดลดลง 0.2% เพราะการใช้จ่ายจำนวนมากเกิดจากการรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในปี 64 วงเงิน 270,000 ล้านบาท สัดส่วน 1.7% ของจีดีพี ซึ่งมาจากเงินกู้โควิด รวมกับงบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินและจำเป็น และงบกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่รวมเงินกู้โควิดที่นำไปซื้อวัคซีน ค่าเสี่ยงภัยบุคลากรทางการแพทย์ และอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อีกกว่า 100,000 ล้านบาท ส่วนปี 63 ใช้ค่ารักษาผู้ป่วยโควิด 190,000 ล้านบาท เมื่อรวม 2 ปี ใช้ค่ารักษา 460,000 ล้านบาท
นายดนุชา กล่าวต่อถึงการบริหารเศรษฐกิจในปี 65 ว่า ต้องให้ความสำคัญกับประเด็นอุปสรรค ทั้งหนี้ครัวเรือน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ซึ่งธนาคารกลางหลายประเทศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอเงินเฟ้อ ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงพิจารณาปัจจัยเสี่ยงจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจไทยด้วย สำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาระดับการบริโภคในประเทศ ส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่ม เร่งรัดโครงการขอส่งเสริมการลงทุนให้เกิดการลงทุนจริง มีมาตรการรักษาระดับการจ้างงานเพื่อช่วยสร้างอาชีพให้กับแรงงาน เป็นต้น
ด้านนายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า กรณีที่สภาพัฒน์เป็นห่วงหนี้ครัวเรือนและจะหารือกับ สศค.นั้น ขณะนี้ ยังไม่ได้รับการ ติดต่อมา อย่างไรก็ดี หนี้ ครัวเรือนสูง ต้องพิจารณาจีดีพีทั้งปีด้วย โดยหนี้ครัวเรือน ไตรมาส 3/64 อยู่ที่ 14.35 ล้านล้านบาท คิดเป็น 89.3% ของจีดีพี ขยายตัวเพียงเล็กน้อยหรือ 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ฉะนั้น หนี้ครัวเรือนไม่ได้ขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ.