เผย 2 สาเหตุทำ "หมูราคาแพง" จนเกษตรกรถอดใจปล่อยเล้าร้างเลิกเลี้ยง

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เผย 2 สาเหตุทำ "หมูราคาแพง" จนเกษตรกรถอดใจปล่อยเล้าร้างเลิกเลี้ยง

Date Time: 28 ธ.ค. 2564 15:06 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เผย 2 สาเหตุสำคัญทำหมูราคาแพง ขาดตลาด หลังเกษตรกรขาดทุนสะสม 3 ปี แบกต้นทุนอาหารและการป้องกันโรคเข้ม จนหลายคนถอดใจเลิกเลี้ยง

สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เผย 2 สาเหตุสำคัญทำหมูราคาแพง ขาดตลาด หลังเกษตรกรขาดทุนสะสม 3 ปี แบกต้นทุนอาหารและการป้องกันโรคเข้ม จนหลายคนถอดใจเลิกเลี้ยง

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.64 นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงกำลังประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทุกประเภทปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ภาคปศุสัตว์ทั่วโลกกำลังประสบอยู่

โดยเฉพาะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศเพื่อนบ้านทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนาม ที่ราคาปรับขึ้นไปอยู่ในระดับ 11.20-12.20 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 10 กว่าปี ขณะที่จีนราคาสูงถึง 12.80 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนประเทศไทยเคยมีราคาสูงถึง 12.50 บาทต่อกิโลกรัม กลายเป็นต้นทุนสะสมที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกันตั้งแต่ต้นปี 64 ที่ผ่านมาผู้เลี้ยงต้องประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก จากการขายหมูต่ำกว่าต้นทุนเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องโรค กระทั่งเคยขายสุกรราคาต่ำสุดเพียง 50 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ต้นทุนสูงถึง 80 บาท เป็นการซ้ำเติมภาวะขาดทุนจากที่ต้องแบกรับมาตลอด 3 ปี เพื่อประคับประคองอาชีพเดียวนี้ไว้

"ปัจจุบันผู้เลี้ยงสุกรในภาคเหนือหายไปจากระบบแล้วมากกว่า 50% จากผลกระทบของโรคในหมูและภาวะขาดทุนสะสม ทำให้ต้องหยุดเลี้ยงหมูปล่อยเล้าว่างเพื่อรอดูสถานการณ์ ขณะที่เกษตรกรที่ยังเดินหน้าเลี้ยงต่อไปต้องแบกภาระต้นทุนที่สูงขึ้น จากราคาวัตถุดิบที่พุ่งไม่หยุดทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กากถั่วเหลืองนำเข้า และปลายข้าว ซึ่งวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นต้นทุนหลักคิดเป็น 60-70% ของการเลี้ยงสัตว์ รวมถึงต้องยกระดับระบบป้องกันโรคให้เข้มแข็งขึ้นทำให้มีต้นทุนเพิ่มเกือบ 500 บาทต่อตัว และยังต้องเตรียมเงินทุนจำนวนมาก เพื่อปรับเข้าสู่ระบบมาตรฐานทั้ง GFM และ GMP แม้รู้ว่าต้นทุนต้องเพิ่มขึ้น แต่เกษตรกรยินดีทำเพื่อรักษาความมั่นคงทางอาหารโปรตีนให้ผู้บริโภคในประเทศ"

สำหรับการบริโภคของประชาชนในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากห้างร้านต่างๆ กลับมาเปิดดำเนินการได้ตามปกติ ไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนนี้ โรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอน และยังเข้าสู่ช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ส่งผลในเชิงจิตวิทยาทำให้คนเริ่มออกมาจับจ่ายมากขึ้น สวนทางกับปริมาณผลผลิตสุกรขุนลดลงมากกว่า 30% ราคาสุกรจึงเป็นไปตามกลไกตลาด

อย่างไรก็ตามพบว่าประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาขาดแคลนสุกรระดับราคาต่างปรับขึ้นต่อเนื่อง อย่างเช่น จีนราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มอยู่ที่ 90-103 บาทต่อกิโลกรัม และฟิลิปปินส์ ราคา 137-147 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ เกษตรกรจึงขอความเห็นใจในปัญหาที่ต้องเผชิญกับภาวะราคาหมูตกต่ำมานานกว่า 3 ปี ขอให้กลไกตลาดได้ทำงานเสรี เพื่อให้สามารถไปต่อในอาชีพนี้ได้ ขณะที่ประชาชนยังมีทางเลือกบริโภคอาหารอื่นทดแทน ทั้งปลา ไข่ ไก่ ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างแท้จริง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ