รัฐบ่ยั่นโอมิครอน! ลั่น “เอาอยู่” คลังเร่งรัดเบิกจ่ายงบลุยขับเคลื่อนประเทศกระหึ่ม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

รัฐบ่ยั่นโอมิครอน! ลั่น “เอาอยู่” คลังเร่งรัดเบิกจ่ายงบลุยขับเคลื่อนประเทศกระหึ่ม

Date Time: 3 ธ.ค. 2564 06:45 น.

Summary

  • “สุพัฒนพงษ์” มั่นใจรับมือ “โอมิครอน” อยู่ ตอนนี้มีพร้อมทั้งยา วัคซีน ไม่เหมือนปีก่อน ย้ำเปิดประเทศถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด “คลัง” พร้อมเร่งรัดเบิกจ่ายงบปี 65 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

“สุพัฒนพงษ์” มั่นใจรับมือ “โอมิครอน” อยู่ ตอนนี้มีพร้อมทั้งยา วัคซีน ไม่เหมือนปีก่อน ย้ำเปิดประเทศถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด “คลัง” พร้อมเร่งรัดเบิกจ่ายงบปี 65 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เปิดเผยในงานในหัวข้อ “มุมมองใหม่ฝ่าเศรษฐกิจไทยปี 2022” ในงาน INTANIA DINNER TALK จัดโดยสมาคมนิสิตเก่าวิศว กรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ปัจจัยเสี่ยงจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอมิครอน เชื่อว่าน่าจะรับมืออยู่จากการเตรียมความพร้อมวัคซีน และยาต่างๆที่นักวิทยาศาสตร์มีพัฒนาการที่ดีมาอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้จัดการกับโรคระบาดครั้งนี้ โดยรัฐบาลเองที่ผ่านมาก็ได้เตรียมความพร้อมรองรับการระบาดอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยใช้บทเรียนที่ผ่านมา มาปรับใช้ป้องกันการแพร่ระบาดให้กับประชาชน พร้อมทั้งหาทางแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆที่กระทบกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อไม่ให้ห่วงโซ่การผลิตต้องหยุดชะงักจนส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศ

“ในระยะสั้นอยากให้ทุกคนมั่นใจว่าจะช่วยกันดูแลการแพร่ระบาดให้ได้เป็นอย่างดี หลังจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมาเกิดการระบาดอย่างรวดเร็วของสายพันธุ์เดลตา จนทำให้ประชาชนรู้สึกขุ่นเคืองกับเรื่องวัคซีนมาช้า แต่ยืนยันว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจะไม่มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก เพราะรัฐบาลได้พยายามเต็มที่ โดยเฉพาะการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งในปีหน้าจากบทเรียนที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้จองวัคซีนเอาไว้ถึง 120 ล้านโดส ตอนนี้เข้าเป้าแล้ว 90 ล้านโดส เช่นเดียวกับจัดเตรียมยาทุกประเภท ดังนั้น เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ไม่มีวัคซีนและยา แต่ปีหน้าจะมีครบหมด ดูแลทุกคนได้”

ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคนรักษาบรรยากาศ และความรู้สึกในตอนนี้ต่อไปเรื่อยๆ และหวังว่าโอมิครอนคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เพราะที่ผ่านมาจากการเปิดประเทศถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเหมือนปกติ อีกทั้งยังช่วยให้กลุ่มคนเปราะบางที่ได้รับผลกระทบกลับมามีรายได้ มีการจ้างงาน ส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน ซึ่งขณะนี้เห็นสัญญาณที่ดีจากไตรมาสที่ 3 ปี 64 ต่อเนื่องถึงปีหน้า ส่วนในอนาคตประเทศไทยยังมีโอกาสต่างๆ เช่น การลงทุนในด้านดิจิทัล การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Bangkok Post International Forum 2021 “Unleashing The Future: A Glimpse into 2022 and Beyond” ว่า ขณะนี้ทุกฝ่ายอยู่ระหว่างการติดตามและรอผลการศึกษาความรุนแรงของการแพร่ระบาด ไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนต้องรอประเมินความรุนแรงของเชื้อจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลไม่ได้ประมาทและได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคัดกรองนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทย โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงแล้ว

นายอาคมกล่าวต่อว่า ภายใต้ความเสี่ยงของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกหรือไม่นั้น ขณะนี้ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรัฐบาลได้พยายามสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นในประเทศ ทั้งการป้องกันการแพร่ระบาดโควิดและมาตรการด้านเศรษฐกิจควบคู่กัน ซึ่งจากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่ลดลง ถือว่าดีขึ้นตามลำดับ ส่วนวงเงินงบประมาณที่จะนำมาใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิดนั้น ยังเหลือวงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มอีก 250,000 ล้านบาท ที่เตรียมไว้เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูผลกระทบทางเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบ ประมาณรายจ่ายปี 2565 ของส่วนงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ให้เบิกจ่ายตามแผนงานงบประมาณรายจ่ายวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบลงทุน ราว 600,000 ล้านบาท งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 300,000 ล้านบาท และยังมีเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงินอีก 250,000 ล้านบาท หากจำเป็นสามารถโยกการใช้จ่ายเงินได้ อย่างไรก็ตาม ได้เร่งรัดหน่วยงานให้มีการเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามแผนงานนั้น เพื่อจะทำให้มีเม็ดเงินทยอยหมุนเวียนลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้

นายอาคมกล่าวต่อว่า สำหรับการขยายตัว เศรษฐกิจ ในปีนี้ยังมั่นใจว่าจะขยายตัวได้ 1% ซึ่งเป็นระดับการเติบโตที่สมเหตุสมผล ส่วนปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวได้ 4% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลัก จากภาคการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และการท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัว รวมไปถึงการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐด้วย อีกทั้งยังมีนโยบายการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถอีวี นำร่องการใช้งานในส่วนงานราชการก่อน ขณะเดียวกันต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยเฉพาะการลงทุนในกลุ่ม New S curve และเศรษฐกิจดิจิทัล.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ