“คลัง” จ่อลดมาตรการเยียวยา ธปท. ห่วงธุรกิจสายป่านสั้นทรุด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“คลัง” จ่อลดมาตรการเยียวยา ธปท. ห่วงธุรกิจสายป่านสั้นทรุด

Date Time: 25 พ.ย. 2564 06:30 น.

Summary

  • มาตรการดูแลเศรษฐกิจระยะต่อไปโดยการเยียวยาด้วยการโอนเงินเข้าแอปเป๋าตังจะทยอยลดลง เพราะถือเป็นมาตรการเฉพาะหน้าช่วยคนตกงาน แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะต้องทำให้ทุกคนมีรายได้ของตัวเอง

Latest

HSBC ชี้เศรษฐกิจไทยโตกว่าที่คิด หลังรัฐเร่งลงทุน กระตุ้นบริโภค ต่างชาติเชื่อมั่น จ่อลงทุนไทยเพิ่ม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยในงานเสวนา Thailand 2022 : Unlock Value สู่เส้นทางใหม่ไร้ขีดจำกัด ในหัวข้อการเงิน-การคลังกู้วิกฤติเศรษฐกิจไทยว่า มาตรการดูแลเศรษฐกิจระยะต่อไปโดยการเยียวยาด้วยการโอนเงินเข้าแอปเป๋าตังจะทยอยลดลง เพราะถือเป็นมาตรการเฉพาะหน้าช่วยคนตกงาน แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะต้องทำให้ทุกคนมีรายได้ของตัวเอง โดยเน้นมาตรการสร้างงานมาตรการลดค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน เช่น การเปิดให้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ต้นปี 65

“มาตรการเศรษฐกิจในอนาคตจะต้องกระจายเข้าถึงเป็นรายบุคคล เพราะช่วงการระบาดโควิดพบว่าคนออกจากงานเยอะ เห็นได้จากมีอาชีพอิสระที่เดือดร้อนได้รับเยียวยาจากประกันสังคมมาตรา 40 ถึง 7-8 ล้านคน การแก้ปัญหาเศรษฐกิจจะต้องลงไปถึงระดับชุมชน หากมีวิกฤติรอบใหม่ผลกระทบจะเบาลงได้ โดยไทยต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหันมาพึ่งพาในประเทศ และปรับแรงงานจากภาคบริการสู่ภาคการผลิต อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโยบายการคลัง คงทำแบบไร้ขีดจำกัดไม่ได้ เพราะมีกรอบวินัยการเงินการคลังคลุมไว้”

ด้านนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนาเดียวกัน ว่า พระเอกของนโยบายในช่วงนี้ยังเป็นนโยบายการคลัง โดยประเมินว่า การใช้นโยบายการเงินในมาตรการเยียวยาที่ผ่านมาปีที่แล้ว ปีนี้ และต่อเนื่องในปีหน้าช่วยให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยถึง 10.8% โดยหากปีที่แล้วไม่มีมาตรการคลังเศรษฐกิจจากติดลบ 6.1% จะติดลบ 9% ปีนี้จากที่คาดโต 1% จะติดลบ 4% ขณะที่นโยบายการเงินที่ผ่านมาเป็นตัวช่วยประคองในภาพรวม ช่วยเรื่องดอกเบี้ย และปรับลดภาระหนี้เพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

“วิกฤติโควิดมีผลกระทบต่อแต่ละภาคธุรกิจที่แตกต่างกัน ทำให้การฟื้นตัวของแต่ละภาคธุรกิจไม่เหมือน และที่เราคาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยจะกลับขึ้นไปอยู่ในช่วงก่อนโควิด-19 ในไตรมาสแรกปี 66 แต่ในความจริงการฟื้นตัวเป็นแค่ตัวเลข เพราะคนส่วนใหญ่ยังไม่รู้สึกว่ากลับไปที่จุดนั้น เนื่องจากรายได้และการจ้างงานยังไม่กลับมาเท่าเดิม โดยต้องจับตาความเสี่ยงคือ ในประเทศว่า จะมีการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่หรือไม่ แต่ข้อดีคือ ถึงแม้จะมีการระบาดแต่ความรุนแรงน่าจะลดลงจากเดิม ทำให้โอกาสที่จะต้องล็อกดาวน์เต็มรูปแบบลดลง นอกจากนั้นยังต้องติดตามภาคธุรกิจที่มีความเปราะบาง เพราะหลังจากอดทนมายาวนาน สายป่านสั้นลง และหวังว่าช่วงต่อไปจะดีขึ้น แต่หากเศรษฐกิจฟื้นตัวไม่ได้เร็วอย่างที่คิดอาจจะทำให้มีความอึดอัด และไปต่อไม่ไหว”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ