นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษ Looking Beyond Covid-19 โจทย์ที่ท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังยุคโควิด-19 ว่า บริบทของโลกที่เปลี่ยนไป หากไทยไม่เร่งยกระดับเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยโตในอัตราที่ชะลอลงเรื่อยๆ เนื่องจากเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจไม่แข็งแรงเหมือนเดิม สะท้อนจากการส่งออกที่พบว่าเวียดนามแซงหน้าไทยไปค่อนข้างมาก ขณะที่สินค้าของไทยยังไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงอาจไม่เป็นที่ต้องการของตลาดที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ขณะที่ด้านการลงทุนโดยตรง 5 ปีที่ผ่านมา เงินลงทุนโดยตรงของเวียดนามสูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่า ผลจากความน่าสนใจของไทยที่น้อยกว่าคู่แข่ง ในด้านต้นทุน คุณภาพแรงงาน โครงสร้างที่เข้าสู่สังคมสูงวัย และสิทธิประโยชน์ทางการค้า
สำหรับภาคการท่องเที่ยว แม้ว่าจะฟื้นตัวบ้าง แต่ต้องใช้เวลานานที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับไปเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 ที่ 40 ล้านคน เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวหลังโควิดจะเน้นเรื่องสุขภาพและสุขอนามัย ทำให้นิยมเที่ยวกลุ่มเล็ก รวมทั้งจะใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้น ดังนั้น การจะหวังพึ่งพารายได้การท่องเที่ยวที่มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่สูงจะเป็นไปได้ยาก
“ปัญหาต่างๆนั้น ทำให้ไทยจะต้องเร่งปรับโครงสร้าง และเร่งยกระดับเครื่องยนต์ โดยเฉพาะประสิทธิภาพของแรงงาน ขณะเดียวกัน ไทยจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต โดยทิศทางของไทยจะต้องเน้นการเติบโตในด้านมีศักยภาพ โดยต่อยอดเอาสิ่งที่เป็นเอกลักษณ์มาเป็นจุดแข็ง ทั้งนี้ ไทยมีความพร้อมด้านทุนวัฒนธรรมที่สะสมอยู่มากและมีความหลากหลายสูง ทั้งอาหาร แหล่งท่องเที่ยว และศิลปหัตถรรม ซึ่งสามารถนำมาต่อยอดเพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจได้”.