ธปท.ชวนคนไทยปีนให้พ้นปากเหววิกฤติโควิด–19 หลังกิจกรรมเศรษฐกิจ ก.ย.–ต.ค.ฟื้นชัดเจนหลังผ่อนคลายมาตรการ การผลิตภาคบริการผงกหัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน แรงงานชะลอการกลับถิ่นฐาน มองจากนี้เป็นช่วงการฟื้นฟู ซึ่ง ธปท.เตรียมสินเชื่อ–ปรับโครงสร้างหนี้–นโยบายการเงินผ่อนคลายช่วยหนุน ประเมินพิษน้ำท่วมกระทบจีดีพี 0.1%
น.ส.ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา รวมทั้งตัวเลขในไตรมาสที่ 3 ของปี 64 ว่า จากข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจที่เห็นเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 ครั้งล่าสุดนี้ทำให้ดิ่งตัวลงจากไตรมาสที่ 2 มาก แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากการเริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดในการควบคุมการระบาดตั้งแต่ต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้รายได้ครัวเรือน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับดีขึ้น ธปท.เห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจดีขึ้นในทุกด้าน รวมทั้งตัวเลขเร็วๆ ที่ได้ในเดือน ต.ค.ยังแสดงการฟื้นตัวที่สูงขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐยังมีมาตรการภาครัฐยังช่วยพยุงกำลังซื้อต่อเนื่อง
“หากมองจากหลุมรายได้ที่หายไปจำนวนมากในช่วง 2 ปีของโควิด เศรษฐกิจไทยต้องใช้เวลาอีกระยะในการฟื้นตัว แต่อย่างน้อยเราพ้นจากก้นหลุมแล้วในไตรมาสที่ 3 ที่ผ่านมา ต่อจากนี้และปีหน้าจะเป็นช่วงของการฟื้นฟูเพื่อปีนให้ถึงปากหลุม ซึ่งในส่วนของ ธปท.ได้เตรียมสินเชื่อฟื้นฟูและการเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ไว้เพื่อช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจ ซึ่งสิ่งที่ดีคือ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในขณะนี้ดีขึ้นทุกภาค รวมทั้งภาคบริการ ทั้งในเดือน ก.ย. และ ต.ค.ทำให้เริ่มเห็นการชะลอการกลับถิ่นฐานของแรงงาน และการกลับเข้าสู่อุตสาหกรรมมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาพรวมตลาดแรงงานยังคงเปราะบาง เพราะแรงงานที่ตกงานในช่วงก่อนหน้าส่วนใหญ่ยังกลับมาทำงานไม่ได้”
น.ส.ชญาวดี กล่าวต่อว่า ดัชนีการอุปโภคและบริโภคของภาคเอกชนในเดือน ก.ย.ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 3.9% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.5% การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 17.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัว 1.2% จากเดือนก่อนหน้า การนำเข้าขยายตัว 20.4% จากระยะเดียวกันปีก่อน ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 6.6% จากเดือนก่อนหน้า โดยการผลิตในภาคบริการเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากที่ลดลงมาตลอด 7 เดือนที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดือน ก.ย.ลดลงเล็กน้อยจากการขึ้นเป็นประเทศเสี่ยงในการเดินทางของสหรัฐฯ และอังกฤษ แต่ในขณะนี้อังกฤษได้ยกเลิกแล้ว
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับเพิ่มขึ้น ภายหลังมาตรการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาเพื่อบรรเทาค่าครองชีพของภาครัฐสิ้นสุดลง และราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่วนเดือน ต.ค.นั้น การสำรวจกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านโซเชียลมีเดีย พบว่าคนไทยออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น สอดคล้องกับการสำรวจผู้ประกอบการ ซึ่งพบว่าค้าปลีกมียอดขายเพิ่มขึ้นตามการเปิดห้างสรรพสินค้า และธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร การจองโรงแรมที่พักปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งร้านอาหารที่ดีขึ้นเช่นกัน
“สำหรับการเปิดประเทศนั้น ธปท.มองว่าเป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้ว่าจะทำให้ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันบ้าง แต่การฉีดและกระจายวัคซีนหากทำได้ตามเป้าหมายจะช่วยให้ผู้ที่ป่วยหนักมีไม่มาก ทำให้การเปิดประเทศยังทำต่อไปได้ ขณะเดียวกัน ธปท.ยังคงใช้การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจต่อไป โดยมองว่าอัตราเงินเฟ้อของไทยแม้จะสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ค่าเงินบาทอ่อนค่า และยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดแรงส่งให้ฝั่งนโยบายการเงิน ซึ่งสถานการณ์ของไทยอาจจะแตกต่างจากประเทศที่เศรษฐกิจฟื้นตัวที่เริ่มกังวลอัตราเงินเฟ้อสูง”
ส่วนผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ผู้อำนวยการอาวุโส ธปท. กล่าวว่า จากการประเมินการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากโรงงานส่วนใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่ดอนที่น้ำท่วมไม่ถึง รวมทั้งภาคอุตสาหกรรมมีบทเรียนจากเหตุน้ำท่วมปี 2554 และเตรียมมาตรการรองรับไว้แล้ว ขณะที่ภาคเกษตรได้รับผลกระทบบ้าง โดยพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายราว 5.3 ล้านไร่ กระทบผลผลิตข้าวนาปี 9 แสนตัน และมีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 4.6 แสนราย โดย ธปท. ประเมินว่ามูลค่าความเสียหายภาคเกษตรส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลง 0.1%.